xs
xsm
sm
md
lg

NT เปิด ‘ราชบุรี โมเดล’ ผลสำเร็จหลังควบรวม รวบ 2 บรอดแบนด์เป็นบริการหนึ่งเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



NT เดินทัพรวมจุดแข็งบรอดแบนด์ 2 องค์กรเดิม (ทีโอที - กสท โทรคมนาคม) โชว์ศักยภาพหลังควบรวมสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรร่วมกันได้ ชู ‘ราชบุรีโมเดล’ ให้บริการลูกค้ารัฐ-เอกชน ช่วยเพิ่มฐานลูกค้า ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน ด้วยบริการเป็นหนึ่งเดียวตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ พร้อมเร่งขยายแนวคิดบูรณาการไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้เร็วที่สุด

***ชูศักยภาพทรัพยากรไอทีครบวงจร

สิ่งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT คือทรัพยากรโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีมูลค่ามากถึง 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านความถี่ มีปริมาณ 600 MHz 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก รวมถึงมีศูนย์บริการทั่วประเทศกว่า 500 แห่งด้วย

NT จึงกลายเป็นองค์กรที่สามารถให้บริการได้หลากหลายและมีศักยภาพที่เอกชนไม่สามารถมองข้ามได้ หลังการควบรวมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 NT ไม่ได้รอช้าในการนำจุดแข็งของความเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีทรัพยากรด้านโทรคมนาคมมากที่สุดมาบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการลูกค้า เพราะเมื่อทั้ง 2 องค์กรเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วฐานลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทจะกลายเป็นลูกค้าของบริษัทเดียวกัน

โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งข้อมูลเดือน ก.ค.2564 พบว่า NT มีลูกค้าบรอดแบนด์ จำนวน 1,864,924 พอร์ต แบ่งเป็น NT1 คือ กสท โทรคมนาคม เดิม 236,414 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 12.68% และ NT2 คือ ทีโอทีเดิม 1,628,510 พอร์ต คิดเป็นสัดส่วน 87.32%

***‘ราชบุรี โมเดล’ ต้นแบบ 2 เน็ตเวิร์กบริการเดียว


น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ 2 องค์กรรวมกันเป็นหนึ่งเราได้เริ่มสำรวจทรัพย์สินร่วมกันและเริ่มทดลองทดสอบการใช้งานโครงข่ายบรอดแบนด์ร่วมกัน ตลอดจนนำมาทดลองใช้ทดแทนกัน

ดังนั้น เมื่อการควบรวมเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเราเริ่มดำเนินการบูรณาการทรัพย์สินร่วมกันได้ทันที โดยเฉพาะบริการบรอดแบนด์ซึ่งเป็นบริการที่ NT มีความแข็งแกร่งที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายไฟเบอร์ออปติก อุปกรณ์โครงข่าย ทีมช่าง ตลอดจนศูนย์บริการลูกค้า

NT จึงได้นำร่องเปิด ‘ราชบุรี โมเดล’ ในการผสานเน็ตเวิร์กของทั้ง 2 บริษัทเดิมมาให้บริการกับลูกค้าของ NT ในจังหวัดราชบุรี ทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 30 แห่ง เช่น รพ.ราชบุรี ร.ร.ปากท่อพิทยาคม บริษัท ราชาเซรามิค จำกัด และบริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะขยายการทำงานในรูปแบบนี้ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้เร็วที่สุด

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดถึงเลือก จ.ราชบุรี เป็นที่แรก น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เพราะเป็นจังหวัดที่เหมาะสมในการทดสอบการใช้งานอุปกรณ์ร่วมกันของทั้ง 2 บริษัทเดิม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากทั้งที่เป็นของทีโอทีเดิม และ กสท โทรคมนาคมเดิม ขณะที่ในบางพื้นที่ของจังหวัดราชบุรีนั้นโครงข่ายของ กสท โทรคมนาคม ไปไม่ถึง หรือบางพื้นที่สายไฟเบอร์ของทีโอทีหมดอายุจึงเป็นโจทย์ที่เหมาะสมในการยกเป็นโมเดลนำร่องสำหรับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ

ซึ่งในจุดใดที่การให้บริการของ กสท โทรคมนาคม ไปไม่ถึง แต่ทีโอทีมีสายไฟเบอร์ไปถึง สามารถนำไปเสนอบริการให้ลูกค้าเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีอุปกรณ์ หรือสายไฟเบอร์ของทีโอทีในพื้นที่ใดหากหมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพไป เราไม่ต้องลงทุนใหม่แต่ใช้การบูรณาการโดยการนำทรัพย์สินของ กสท โทรคมนาคม มาใช้งานร่วมกันได้เพื่อไม่ให้การใช้งานของลูกค้าสะดุด อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุน ไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน สุดท้ายผลประโยชน์ตกกับลูกค้าที่ได้บริการในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่ง และเราเองมีแต้มต่อที่เหนือกว่าคู่แข่งอีกด้วย

ทั้งนี้ ‘ราชบุรี โมเดล’ อยู่ภายใต้โครงการ ‘Dual Network Solution’ สำหรับลูกค้าเอกชนและราชการ ซึ่งเป็นการทำงานกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องของทีมบรอดแบนด์ของทั้ง 2 องค์กรเดิมที่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการเชื่อมต่อโครงข่ายร่วมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ โดยการทำงานของคณะทำงานบรอดแบนด์นี้ได้ทำงานร่วมกันตั้งแต่ก่อนการควบรวมอย่างเป็นทางการแล้ว

ในการศึกษารูปแบบโครงข่าย และการให้บริการของกันและกัน รวมถึงเรื่องมาตรฐานด้านโครงข่าย อุปกรณ์ ตลอดจนมาตรฐานงานติดตั้งและการแก้ไขเหตุเสียขัดข้องเพื่อให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทีมช่างในพื้นที่จ.ราชบุรี ของทั้ง 2 องค์กรเดิมมีการสื่อสารและทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีทำให้เกิดการออกแบบรูปแบบการทำงานร่วมกันว่าตรงส่วนไหนต้องใช้อุปกรณ์ หรือโครงข่ายของใครในการเชื่อมต่อให้ลูกค้า เพื่อให้เป็นบริการเนื้อเดียวกัน ให้ลูกค้าใช้งานได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุด

ในขณะที่ลูกค้าที่ใช้งานตามบ้าน ตลอดจนลูกค้า SME ทีมงานได้มีการพัฒนาเฟิร์มแวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผ่านโครงการ ‘1 ONU 2 ISP’ ภายใต้แนวคิด ต้องให้บริการด้วยต้นทุนที่ไม่เพิ่มขึ้น หรือเพิ่มได้เล็กน้อยด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ NT จะสามารถมีเหนือกว่าผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายอื่นในตลาดได้ เพราะคู่แข่งแต่ละรายมีโครงข่ายและเกตเวย์เดียว แต่ NT มี 2 โครงข่ายทำให้สามารถใช้งานร่วมกัน หรือสำรองการใช้งานกันและกันได้เมื่ออีกโครงข่ายเกิดปัญหา

ยกตัวอย่างการใช้ทรัพยากรร่วมกันทั้งโครงข่ายและชุมสายใน จ.ราชบุรี ได้แก่ ชุมสายห้วยกระบอกโดย NT1(กสท โทรคมนาคม) ใช้ Core Fiber ของ NT2 (ทีโอที) เพื่อเชื่อมต่อโหนดในโครงการมอเตอร์เวย์ทำให้สามารถลดการลงทุนโครงข่ายใหม่ที่ซ้ำซ้อนลงได้ เคเบิลเส้นทางห้วยผาก ของโรงเรียนรุจิรพัฒน์ (ชายแดน) ถูกไฟไหม้ NT1 มีเคเบิลชนิดกันไฟ จึงให้ NT2 ดำเนินการแขวนและใช้ Core Fiber ร่วมกัน การใช้โครงข่ายร่วมกันในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง และ อ.บ้านคา ในโครงการพัฒนาแนวทางป้องกันการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จ.ราชบุรี

การเช่าสื่อสัญญาณโครงข่ายเพื่อติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV ตามแนวชายแดนพื้นที่ตำรวจภูธร จ.ราชบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564 รวมถึงการย้ายโหนด NT1มาติดตั้งที่ชุมสายจอมบึง NT2 เพื่อลดค่าเช่าพื้นที่ของ NT1 การที่ NT1 ขอใช้พื้นที่ชุมสายบางแพของ NT2 เพื่อติดตั้งโหนด การทำโครงการ 1669 กับ รพ.ราชบุรี ในการเป็นระบบแบ็กอัปให้ รพ. เป็นต้น

‘ราชบุรี โมเดล ทำให้เรามั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของ NT ในพื้นที่ทุกคนทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะเห็นได้จากการทำงานที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากใน จ.ราชบุรี การขยายผลต่อเนื่องเพื่อให้การทำงานของทั้ง 2 องค์กรเป็นเนื้อเดียวกันนั้นต้องขยายไปสู่ศูนย์บริการที่เรามีกว่า 500 แห่งทั่วประเทศด้วยลูกค้าต้องไม่รู้สึกว่าเราเป็นคนละบริษัทกัน เราต้องบริหารจัดการทรัพย์สินโครงข่ายดูแลลูกค้า ที่สำคัญคือ แผนการปฏิบัติการประจำปีต้องเป็นแผนเดียวกันทำงานภายใต้ KPI เดียวกัน มีการนำเสนอขายบริการร่วมกันเพื่อเป็นอาวุธสำคัญในการเป็นที่หนึ่งเหนือคู่แข่งในตลาดให้ได้’ น.อ.สมศักดิ์ กล่าว

***ลูกค้ามั่นใจ 2 เน็ตเวิร์กแต้มต่อเหนือเอกชน


ปัจจุบัน NT มีการให้บริการลูกค้าข้ามโครงข่ายใน จ.ราชบุรี แล้ว 30 ราย แบ่งเป็นการใช้อินเทอร์เน็ต NT1 ร่วมกับโครงข่าย NT2 จำนวน 29 ราย และการใช้อินเทอร์เน็ต NT2 ร่วมกับโครงข่าย NT1 จำนวน 1 ราย นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการตัดถ่าย Wi-net โดยใช้โครงข่าย NT1 จำนวน 3 ราย โดยลูกค้ารายใหญ่และเป็นรายแรกที่ใช้บริการของทีโอทีเดิมตั้งแต่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงคือ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด ยินดีที่ทั้ง 2 องค์กรนำทรัพยากรมารวมกันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ

เภสัชกรศุภชัย สายบัว ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด กล่าวว่า บริษัทตั้งอยู่ใน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง หากย้อนไปเมื่อ 28 ปีที่แล้ว แม้ว่าบริษัทจะอยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองมากนัก แต่ในสมัยนั้นอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึงต้องสื่อสารผ่านโทรศัพท์และพัฒนาการเป็นดาวเทียมไอพี สตาร์ แต่ไม่ตอบสนองการใช้งานเท่าที่ควร ต่อมาเมื่อมีอินเทอร์เน็ตทำให้การทำงานสะดวกขึ้นมาก บริษัทเป็นลูกค้าทีโอทีมานานเพราะเชื่อใจบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ต่างจากเอกชนคือไม่ได้เห็นการทำงานเพื่อหวังกำไรมากมายเพียงอย่างเดียว ด้วยความเป็นรัฐย่อมมีธรรมาภิบาลในการทำงานซึ่งตรงนี้สำคัญ

ดังนั้น เมื่อทีโอทีกลายเป็น NT บริษัทจึงไม่รอช้าและยินดีที่ระบบของทั้ง 2 บริษัทเดิมมาทำงานเสริมร่วมกันเมื่อทำงานร่วมกันแล้วไม่พบปัญหาสามารถทำงานเข้ากันได้ดี และมีความเสถียร โดยสิ่งสำคัญของระบบบริษัท คือ การเชื่อมต่อระบบ ERP ของ จ.ราชบุรี กับกรุงเทพฯ แบบไม่สะดุด รวมถึงบริษัทยังมีแผนเชื่อมต่อระบบไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศในการส่งข้อมูลยอดการสั่งสินค้าเข้ามาในระบบเพื่อง่ายในการบริหารจัดการและความรวดเร็วในการทำงานอีกด้วย

‘อินเทอร์เน็ตคือหัวใจสำคัญของทุกเรื่อง เราสามารถหาข้อมูลวิจัยได้ทุกที่โดยไม่ต้องเดินทาง การส่งข้อมูลถึงกันรวดเร็ว เราสามารถบริหารจัดการออเดอร์ได้ง่าย จากการใช้บริการทีโอทีมากว่า 14 ปี ยอมรับว่ามีปัญหาบ้างแต่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เราจึงมั่นใจ 100% เมื่อทั้ง 2 องค์กรรวมกันว่าจะสามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้น’

‘ราชบุรี โมเดล’ จึงนับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมแรกของ NT หลังจากควบรวมกิจการ และจะขยายโมเดลนี้ไปทั่วประเทศทำให้บรอดแบนด์ของ NT สามารถแข่งกับเอกชนได้ด้วยโครงข่ายที่มากกว่าแต่ต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น