xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : แอปฯ SRT D-Ticket จองตั๋วรถไฟง่ายเพียงปลายนิ้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คนที่ใช้บริการรถไฟเป็นประจำอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบการออกตั๋วโดยสาร เริ่มจากการเปลี่ยนระบบตั๋วจากระบบ STARS-2 ที่จะได้ตั๋วรถไฟกระดาษใบยาวๆ มาเป็นระบบ D-Ticket ที่มีขนาดเล็กคล้ายนามบัตรและมีคิวอาร์โค้ด ตามมาด้วยการติดตั้งเครื่องขายตั๋วรถไฟอัตโนมัติ นำร่อง 10 เครื่องใน 9 สถานี ที่สามารถทำรายการซื้อตั๋วได้ด้วยตัวเอง

ล่าสุดได้พัฒนา แอปพลิเคชัน SRT D-Ticket สำหรับจองตั๋วรถไฟ โดย การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นผู้พัฒนาระบบขึ้นมา ให้ผู้โดยสารสามารถซื้อตั๋วรถไฟได้ทุกที่ ทุกเวลา และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต รองรับทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android เมื่อชำระเสร็จแล้วสามารถใช้แสดงหลักฐานในการขึ้นรถไฟได้เลย


เบื้องต้นสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน เฉพาะขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วแบบระบุที่นั่งเท่านั้น ทุกเส้นทางที่ให้บริการ ทั้งสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ (รถธรรมดา รถท้องถิ่น ไม่สามารถจองตั๋วโดยสารได้) และหากเป็นค่าโดยสารในราคาอัตราพิเศษ ห้ามขายก่อนรถออก 2 ชั่วโมง

ขั้นตอนการดาวน์โหลดและสมัครสมาชิกทำได้ง่ายๆ โดยเข้าไปที่ Register กรอกชื่อ นามสกุล เลขที่บัตรประชาชน เบอร์มือถือ อีเมล ตั้งรหัสผ่าน ติ๊กเครื่องหมายถูกในช่อง I accept the greement แล้วกด Confirm จากนั้นให้รอรับอีเมล "สมัครใช้งานระบบจำหน่ายตั๋วและสำรองที่นั่งบนระบบอินเตอร์เน็ต" กด "ยอมรับและยืนยันอีเมลของคุณ" แล้วเข้าสู่ระบบเป็นอันสำเร็จ




สำหรับหน้าตาแอปพลิเคชัน เมื่อเข้าสู่ระบบโดยใช้อีเมลหรือเบอร์มือถือ และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ หากต้องการเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาไทย ให้เข้าไปที่เครื่องหมายรูปฟันเฟือง แล้วในเมนู Language เลือก "ภาษาไทย" เพื่อความสะดวกในการใช้งานครั้งต่อไป เมนูหลักประกอบด้วย คูปองของฉัน ตั๋วของฉัน คะแนน และเมนูรอง จองตั๋วรถไฟ เปลี่ยนแปลงตั๋ว ยกเลิกตั๋ว

ขั้นตอนการซื้อตั๋วรถไฟ เริ่มจาก เลือกเส้นทาง มีให้เลือกสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ เลือกสถานีต้นทาง สถานีปลายทาง วันเดินทางไป และจำนวนผู้โดยสาร ระบบจะแสดงประเภทและหมายเลขขบวนรถ เวลาออก และเวลาถึง ให้เลือกขบวนรถที่ต้องการ ระบบจะแสดงประเภทตู้โดยสาร รถนั่งหรือรถนอน รถพัดลมหรือรถปรับอากาศ




เมื่อเลือกตู้โดยสารที่ต้องการแล้ว จะแสดงข้อมูลผู้โดยสาร หากเป็นข้อมูลเดียวกับผู้จองให้ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนกด "ถัดไป" จากนั้นระบบจะแสดงที่นั่ง ปัจจุบันตามมาตรการป้องกันโควิด-19 กำหนดให้นั่งแบบเว้นระยะห่างแบบสลับฟันปลา ซึ่งจะระบุคำว่า "อื่นๆ" หากเป็นที่นั่งที่มีผู้จองแล้วจะมีสัญลักษณ์ไอคอนผู้ชาย (สีฟ้า) ผู้หญิง (สีชมพู) พระภิกษุ (สีเหลือง)

ระบบจะระบุส่วนลดผู้โดยสาร เลือกประเภทผู้ใหญ่หรือเด็ก กดถัดไป จะแสดงรายละเอียดการจอง ข้อมูลตู้โดยสาร เส้นทาง วันที่เดินทาง ค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียมการจองที่นั่ง (ถ้ามี) หากถูกต้องกดถัดไป จะเข้าสู่หน้าชำระเงิน เลือกช่องทางการชำระเงิน ปัจจุบันมีเฉพาะ บัตรเครดิต/บัตรเดบิต กดถัดไป แล้วทำรายการผ่านระบบ Payment Gateway เป็นอันสำเร็จ

หากกดเลือก "ชำระเงินช่องทางอื่นๆ" ระบบจะแสดงรหัสการจอง และข้อมูลการจอง ให้กด "ดูรหัสชำระเงิน" จะแสดงบาร์โค้ดเส้นทาง และคิวอาร์โค้ดรหัสชำระเงิน สามารถชำระเงินได้ที่สถานีรถไฟทุกแห่ง หรือสามารถเข้าไปที่ "ประวัติการซื้อ" เพื่อที่จะตรวจสอบรายการจองล่าสุด และดูรหัสชำระเงินได้ โดยรหัสชำระเงินมีอายุ 24 ชั่วโมง หากไม่ชำระจะยกเลิกอัตโนมัติ




ส่วนข้อสงสัยที่ว่าแล้วจะออกตั๋วยังไง จากการสอบถามนายสถานีรถไฟรายหนึ่ง ระบุว่า ที่ผ่านมามีคนที่พิมพ์ตั๋วด้วยกระดาษ A4 มาสอบถาม ยืนยันว่าสามารถใช้เป็นหลักฐานขึ้นรถไฟได้เลยโดยไม่ต้องออกตั๋วตัวจริงที่สถานี แต่เคสซื้อตั๋วผ่านแอปฯ ยังไม่เคยเจอ โดยปกติพนักงานตรวจตั๋วจะมีรายชื่อผู้โดยสารอยู่ในมือแล้ว เห็นว่าสามารถแสดงหลักฐานจากหน้าจอมือถือได้


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถนำคิวอาร์โค้ดไปแสดงเพื่อพิมพ์ตั๋ว ได้ที่เครื่องขายตั๋วรถไฟอัตโนมัติได้เลย ซึ่งที่สถานีกรุงเทพมีให้บริการ 2 เครื่อง นับเป็นช่องทางในการซื้อตั๋วรถไฟที่สะดวก รวดเร็ว จองง่าย ตรวจสอบสะดวก หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย หมายเลข 1690

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น