xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไตรมาสสุดท้ายลุ้นไปต่อ คลายล็อกดาวน์หนุน ศก.ฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หุ้นไทยไตรมาสสุดท้าย หลังภาครัฐทยอยคลายล็อกดาวน์มีโอกาสไปต่อ รับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการเปิดประเทศ แม้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 3 อาจทรุด และ Bond Yield ที่สูงขึ้น กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก เหตุดัชนีรับรู้ข่าวลบไปมากแล้ว

แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีหลักทรัพย์ฯจะเคลื่อนไหวในทิศทางลบเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยรวมนับตั้งแต่ต้นปี Set Index ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะเข้าไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ระดับ 1,640 จุดที่เคยทำไว้เมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อนหน้า จากดัชนีที่ปิดระดับ 1,605.17 จุด สำหรับวันแรกของไตรมาส 4/64

ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุนพบว่า กลุ่มที่ซื้อสะสมตั้งแต่ต้นปีคือนัก ลงทุนทั่วไปในประเทศ ด้วยยอดเงินรวม 1.01 แสนล้านบาท ตามมาด้วยบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศขายสะสมตั้งแต่ต้นปีไปแล้ว 7.40 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มสถาบันขายสะสม 4.02 หมื่นล้านบาท

ส่วนแนวโน้มในสัปดาห์นี้ หลายฝ่ายคาดว่าการปรับตัวขึ้นของดัชนีอาจยังไปไม่สุด เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงการรายงานผลประกอบการของกลุ่มแบงก์งวดไตรมาส 3/64 ซึ่งคาดว่ากำไรคงไม่ได้โดดเด่นและมีโอกาสถอยลงเล็กน้อย ดังนั้นน่าจะทำให้ดัชนีเกิดการสร้างฐาน และแกว่งตัวแบบไซด์เวย์

Bond Yield กดดันหุ้น เป็นจังหวะเข้าสะสม

“อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด แสดงความเห็นว่า ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เมื่อวันที่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งสัญญาณเข้มงวด (Hawkish) ทางการเงินเพิ่มขึ้น โดย FED อาจเริ่มต้นลดการซื้อสินทรัพย์ลง (QE Tapering) ในเร็วๆ นี้ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในอนาคต (Dot Plot) ซึ่งบ่งชี้ว่า FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 จำนวน 3 ครั้ง จากประชุมครั้งก่อนที่คาดว่าจะขึ้น 2 ครั้ง นอกจากนี้ ยังได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2567 และภายหลัง FED มีท่าทีเข้มงวดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10Y US Bond Yield) ตอบสนองด้วยการพุ่งขึ้นทะลุระดับ 1.5% เป็นจุดสูงสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน สะท้อนมุมมองต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และคาดการณ์การปรับตัวขึ้นของภาวะเงินเฟ้อในอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการเพิ่มขึ้นของอัตรา Discount Rate ที่ใช้สำหรับในการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ ด้วย

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจจากนี้ คือการที่ Bond Yield แตะระดับ 1.7-1.8% ขึ้นไป อาจกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยเกิดการปรับฐาน จากระดับการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตึงตัวมาก ซึ่งอิงจาก Earning Yield Gap (EYG) ที่ประมาณ 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตลอดช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา และหากหุ้นไทยเกิดการปรับฐานขึ้นจากประเด็นดังกล่าว มองว่าเป็นจังหวะทยอยเข้าซื้อ เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยบวกคือ (1) การทยอยคลายล็อกดาวน์และแผนการเปิดประเทศในแต่ละระยะ (2) การกลับมากระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 และ “ทัวร์เที่ยวไทย” (3) การขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะขึ้นเป็น 70% ของ GDP แสดงถึงรัฐบาลมีความพร้อมที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ช่วงกลางเดือน ต.ค.ถึงกลางเดือนพ.ย.จะเป็นฤดูกาล ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 โดยคาดว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไม่ได้ออกมาแย่อย่างที่ตลาดกังวล และอาจมีโอกาสเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) เนื่องจากฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมในไตรมาส 3 ของปีที่แล้วยังค่อนข้างต่ำ จากการหดตัวของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกและการปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากผลกระทบจากการระบาดในปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนอาจทรงตัวหรือลดลงเพียงเล็กน้อย เพราะน่าจะมีกำไรจากกลุ่มพลังงานและกลุ่มปิโตรเคมีเข้ามาช่วยสนับสนุนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอานิสงส์จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง (ราคาน้ำมันดิบ Brent ในไตรมาส 3/2564 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +69% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY) และ +6% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ทำให้หุ้นเด่นในเดือน ต.ค. จะเน้นหุ้นที่คาดงบจะออกมาดี และราคาพักฐานลงมาแล้วก่อนหน้านี้ มีโอกาสฟื้นตัวขึ้น แนะนำ BBL, JWD, MTC, SFLEX, SMPC, SPALI, SPRC และ TWPC ด้านแนวรับสำคัญเดือนนี้อยู่ที่ 1,600 จุด และแนวรับต่อไปที่ 1,590 จุด ส่วนแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,640 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,660 จุดตามลำดับ

ตลาดหุ้นไทยซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้ว

“ณัฐชาต เมฆมาสิน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด คาดทิศทางการลงทุนเดือน ต.ค.2564 ว่า SET Index จะแกว่งตัวในกรอบ 1,550-1,650 จุด ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการลงทุนในเดือนนี้มองว่าไฮไลต์จะอยู่ที่พัฒนาการของ Bond yield สหรัฐฯ เป็นสำคัญ

เนื่องด้วย ณ ขณะนี้นักลงทุนในตลาดยังไม่เชื่อ Dot plots ของ Fed ที่ออกมาก่อนหน้านี้มากนัก ดังนั้น หากมีตัวเลขเศรษฐกิจใดก็ตามที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้ระดับ Fed Funds futures ในตลาดยกตัวสูงขึ้นได้ จนส่งผลให้ Bond yield และเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ลดลง 

ส่วนปัจจัยในประเทศคงต้องติดตามพัฒนาการเชิงบวกทางด้านวัคซีนและการคลาย Lockdown ในประเทศที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้นไม่มากก็น้อย ไม่นับรวมกับ Upside risk ที่อาจเกิดขึ้น หากภาครัฐมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในปีงบประมาณใหม่ หลังจากที่ได้มีการปรับเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะมาอยู่ที่ 70% ของจีดีพีไปก่อนหน้านี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ

ดังนั้น ในเชิงกลยุทธ์แนะนำเพียงแค่การถือครองหุ้นในส่วนเดิมที่ได้เข้าสะสมก่อนหน้านี้ที่บริเวณดัชนี 1,600 จุด ส่วนการเพิ่มน้ำหนักใหม่ยังไม่แนะนำจนกว่าดัชนีจะลงมาใกล้เคียงกับระดับแนวรับเดือนนี้ที่ 1,550 จุด และยังคงโฟกัสไปที่กลุ่มหุ้น Domestic play โดยเฉพาะ Domestic consumption ที่อิงไปกับการฟื้นตัวของภาคแรงงานและการบริโภคภายในประเทศ นอกจากนั้น ยังได้ประโยชน์จากภาวะความชัน Yield curve ขาขึ้น และมีลุ้นรับข่าวเชิงบวกจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ

โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้ กลุ่มค้าปลีกที่ได้ประโยชน์จากรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงขึ้น ได้แก่ CPALL, COM7, MAKRO, HMPRO, GLOBAL, DOHOME กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ได้ประโยชน์จากอุปสงค์ต่อการใช้ไฟของภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่มากขึ้น ได้แก่ GULF, GPSC, BGRIM หุ้นกลุ่มผู้ให้บริการสถานีปั๊มน้ำมันจากอุปสงค์การเดินทาง ที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ OR และ PTG กลุ่มธุรกิจ AMC ที่มองไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ SCB แต่ราคากลับปรับตัวลงมาแรง ได้แก่ JMT, CHAYO และ หุ้น 2 บริษัทที่อยู่ในธีม Index rebalancing  ซึ่งจากการคำนวณพบว่าหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี MSCI Thailand Standard Index ในรอบถัดไปจะได้แก่ TTB ส่วนหุ้นที่มีลุ้นถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไปจะได้แก่ AWC

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่  ดัชนีภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังคงอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง จากปรากฏการณ์ Restocking ที่ผ่อนคลายลงและปัญหา Supply-chain disruption มองเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อมายังภาคการส่งออกของไทยในช่วงถัดไป โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ETRON และAUTO

อีกทั้งการประชุมร่วมของสมาชิกกลุ่ม OPEC+ ในวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งเริ่มมีกระแสคาดการณ์ถึงการคืนกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาดในระดับที่สูงขึ้นจากเดิมที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงมองเป็นปัจจัยยับยั้งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันดิบชั่วคราวได้ รวมถึง รายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ต.ค. ซึ่งหากออกมาดีมากจะส่งผลต่อคาดการณ์ดอกเบี้ยในอนาคตให้มีการปรับขึ้น ได้จนส่งผลกดดันต่อตลาดทุน และ การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/64 ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศ ซึ่งมองว่าข่าวร้ายได้อยู่ในราคาไปค่อนข้างมากแล้ว โดยเฉพาะกลุ่ม Domestic demand ที่ได้รับผลกระทบจากการ Lockdown

สภาพคล่อง QE ลดลงกระทบหุ้นไทยจำกัด

“ธีรเศรษฐ์ พรหมพงษ์” นักกลยุทธ์เศรษฐศาสตร์มหภาค บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า บทสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC)เดือน ก.ย. ในวันที่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา แม้ว่านายเจอโรมพาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่ระบุจุดเริ่มต้นการลดขนาดวงเงินซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE Tapering) แต่ในทางกลับกันมีการส่งสัญญาณว่าการลดขนาด QE จะสิ้นสุดลงประมาณกลางปี 2566

ดังนั้น หากพิจารณาจากวงเงินการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีหลักประกัน (MBS) 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการลดขนาดซื้อสินทรัพย์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ลดลง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และ MBS 0.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) นั้นประเมินว่าจุดเริ่มต้น QE Tapering จะเป็นเดือน พ.ย.2564 และเฟดจะประกาศจบโครงการ QE อย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือน มิ.ย.2565

นอกจากนี้ เฟดยังส่งสัญญาณต่อมุมมองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็น (Dot Plot) ซึ่งบ่งชี้โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม (สมาชิกเฟดจำนวน 9 ราย ให้น้ำหนักการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ในปี 2565 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจาก 7 ราย ในการประชุมเดือน มิ.ย.) และหากประเมินลงในรายละเอียดจะพบว่า 3 ใน 9 ราย ให้น้ำหนักการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง นั่นหมายความว่า หากโครงการ QE สิ้นสุดในเดือน มิ.ย.2565 และจากสมมติฐานที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในการประชุม FOMC ครั้งใหญ่ในเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาส เฟดมีโอกาสที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย.2565

“เรื่องดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยน่าจะจำกัด เนื่องจากภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันแตกต่างจากหุ้นไทยในช่วง QE Tapering ปี 2556 อยู่หลายประการ เช่น ตลาดหุ้นไทยอยู่ในกลุ่มที่ไม่โดดเด่น (Underperform) หากเทียบกับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป เมื่อเทียบกับช่วงการส่งสัญญาณ QE Tapering ปี 2556 ที่ตลาดหุ้นไทยโดดเด่น (Outperform) ตลาดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สภาพคล่องที่อาจลดลงคาดจะกระทบตลาดหุ้นไทยจำกัด”

ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ประโยชน์จากสภาพคล่องการทำ QE และโครงการ PEPP สะท้อนจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงถึงระดับ 2.65 แสนล้านบาท ต่างจากในช่วง 2552-2556 ที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสูงถึง 1.96 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงคาดผลกระทบรอบนี้ต่อดัชนีจึงน่าจะจำกัดเช่นกัน

คลายล็อกดาวน์ช่วยกระตุ้น ศก.และหุ้น

ท้ายสุด “วิโรจน์ ตั้งเจริญ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน ธุรกิจเครือข่ายธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM ให้มุมมองตลาดหุ้นไทยปลายปีนี้ว่า ดัชนีหลักทรัพย์น่าจะแตะที่ระดับ 1,650 จุด และในปี 2565 น่าจะได้เห็นที่ระดับ 1,740 จุด

เนื่องจากตลาดหุ้นไทยในจังหวะการคลายล็อกดาวน์ที่ผ่านมาจะเห็นว่าตลาดขานรับขึ้นไปแตะเป้าหมายที่คาดไว้ 1,650 จุด ก่อนปรับตัวลงมา ซึ่งปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1,650 จุด และคาดว่าหากสามารถเปิดประเทศ การบินจะกลับมาเดินหน้าได้ตามปกติ เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยว โดยการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2565 ทำให้ KTAM คาดการณ์ปี 2564 ดัชนีหุ้นไทยน่าจะไปอยู่ที่ 1,650 จุด ประมาณการผลตอบแทนจากราคาหุ้น (Capital Gain) ที่ 13.8% ผลตอบแทน จากเงินปันผลต่อปี (Dividend Yield) 3.7% ผลตอบแทนรวม (Total Return) 17.6%

ส่วนในปี 2565 ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยจะแตะที่ 1,740 จุด ประมาณการผลตอบแทนจากราคาหุ้น (Capital Gain) ที่ 5.5% ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปี (Dividend Yield) 3.2% ผลตอบแทนรวม (Total Return) 8.6% และปี 2566 คาดดัชนีหุ้นไทย 1,845 จุด ประมาณการผลตอบแทนจากราคาหุ้น (Capital Gain) ที่ 6.0% ผลตอบแทนจากเงินปันผลต่อปี (Dividend Yield) 3.2% ผลตอบแทน รวม (Total Return) 9.2% ดังนั้นโดยรวม KTAM มองว่าการลงทุนในหุ้นไทยจังหวะนี้เป็นโอกาสที่ดีในการรับธีมเปิดเมือง รวมถึงตามมาด้วยการเปิดประเทศที่จะสนับสนุนให้การบินและการท่องเที่ยวเติบโต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังต้องจับตาคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเปิดเมือง ซึ่งมองว่าการขยายเพดานหนี้สาธารณะ 70% จะได้รับการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดเป็นหนี้สาธารณะสูงแตะ 100% เหมือนในบางประเทศ แต่ขนาดเศรษฐกิจของไทยยังไม่ได้ใหญ่พอเมื่อเทียบกับประเทศที่หนี้สาธารณะสูงอย่างญี่ปุ่น สหรัฐฯ เป็นต้น ที่แม้หนี้สูงแต่ก็ยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อได้ ดังนั้นเชื่อว่า ภาครัฐจะมีการควบคุมเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น