xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยตลาดชนบทจีนรุ่ง แนะผู้ส่งออกวางแผนลุยขายสินค้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ทูตพาณิชย์ชิงเต่า” แนะผู้ส่งออกไทยจับตาตลาดชนบทของจีน หลังพบยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เหตุรัฐบาลจีนส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคอย่างหนัก ชี้เป็นโอกาสในการวางแผนส่งออกสินค้าไทยเจาะตลาดผู้บริโภคในเขตชนบทของจีน ย้ำต้องเน้นผลิตสินค้าคุณภาพ มาตรฐาน และใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำตลาด

น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามโอกาสทางการค้าของไทยในตลาดจีนตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่าสถานการณ์การค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบทของจีนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนได้เปิดเผยยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบทของจีนเดือน ก.ค. 2564 มีมูลค่า 454,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 2.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% ขณะที่ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตเมืองเพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทเริ่มมีขนาดใหญ่ และเป็นอีกตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อเจาะตลาดดังกล่าว

ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตามอง คือ รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการบริโภคในชนบทมากขึ้นครอบคลุมหลายด้าน เช่น การค้าอีคอมเมิร์ซในชนบท การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ การรับประกันการจ้างงานและรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 21,000 ตำบล ที่มีการบริโภคสินค้าที่สำคัญและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะได้รับการสนับสนุนทางการเงินและการลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่าจะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่ชนบทได้มากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันการบริโภคระดับตำบลและหมู่บ้านครองสัดส่วนการบริโภคโดยรวมของประเทศ 38% และในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดการณ์ว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบทจะรักษาระดับการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 7% และคาดว่าในปี 2023 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในเขตชนบทจะมีมูลค่า 10 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 50 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

น.ส.ชนิดากล่าวว่า พื้นที่เขตชนบทจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการบริโภคขนาดใหญ่ของจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้มีการวางแผนการทำงานและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 ของจีน จะยังคงเร่งสนับสนุนนโยบายการปลดปล่อยศักยภาพการบริโภคในเขตชนบทเพิ่มเติม โดยเน้นการเชื่อมต่อชนบทเข้ากับอีคอมเมิร์ซ และปรับปรุงระบบโลจิสติกส์การขนส่งสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผลผลิตทางการเกษตรเข้าสู่เมือง และกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่ชนบท ส่งเสริมการฟื้นฟูชนบท เพิ่มรายได้เกษตรกร และปลดปล่อยศักยภาพ และอุปสงค์ของผู้บริโภคในชนบทอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจีนยังแสดงความเห็นว่า ประเทศจีนมีทั้งสิ้น 21,000 ตำบล แต่ปัจจุบันการบริโภคในเขตชนบทส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ตำบล ขณะที่รายได้และการบริโภคในเขตชนบทเริ่มมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น การบริโภคที่เติบโตในชนบทที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานของการพัฒนาธุรกิจในชนบทที่จะนำมาซึ่งระบบธุรกิจในชนบทที่ทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลให้รายได้ของประชากรเพิ่มขึ้น ประชากรมีความสุขมากขึ้น และทำให้มีความสามารถที่จะบริโภคในระยะยาวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับโอกาสของไทย พบว่าตลาดชนบทของจีนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะการค้าอีคอมเมิร์ซชนบท เนื่องจากปัจจัยบวกหลายด้าน เช่น แนวโน้มประชากรชาวเน็ตในพื้นที่ชนบทที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2020 จีนมีประชากรชาวเน็ตในพื้นที่ชนบทถึง 309 ล้านราย คิดเป็น 31.3% ของประชากรชาวเน็ตจีน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ชนบทขยายเพิ่มขึ้น 55.9% ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในชนบทดังกล่าวจึงเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาอีคอมเมิร์ซชนบทในอนาคต

ขณะที่ยอดค้าปลีกออนไลน์ในเขตชนบทจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา โดยพบว่าสินค้าที่มียอดค้าปลีกออนไลน์ในเขตชนบทครองสัดส่วนตลาดสูงที่สุด ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย คิดเป็นสัดส่วน 28.4% ของใช้ในชีวิตประจำวัน 17.7% และเฟอร์นิเจอร์ 8.9% ผลิตภัณฑ์อาหารและน้ำมันพืช 7.7% เป็นต้น และผลจากการระบาดของโควิด-19 ยังส่งให้ยอดค้าปลีกผลิตภัณฑ์ยา สุราและบุหรี่ อุปกรณ์สื่อสารและอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยภูมิภาคที่สัดส่วนยอดค้าปลีกออนไลน์ชนบทสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออกคิดเป็นสัดส่วน 77.9% ภาคกลาง 14.1% ภาคตะวันตก 6.4% และภาคอีสาน 1.6% ตามลำดับ

“จะเห็นได้ว่าตลาดชนบทมีขนาดใหญ่ และเป็นอีกตลาดที่ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาให้ความสำคัญเพื่อเจาะตลาดดังกล่าวได้ แต่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญต่อการผลิตและพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนในแต่ละภูมิภาคควบคู่กันไปด้วย พร้อมทั้งกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม รวมถึงประยุกต์ใช้ช่องทางการค้าออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเข้าถึงผู้บริโภคแต่ละพื้นที่และแต่ละกลุ่ม ตลอดจนยังคงต้องแสวงหาร่วมมือกับผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น KOL และ KOC ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการ เพื่อสร้างการรับรู้ และสามารถเจาะตลาดชนบทของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” น.ส.ชนิดากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น