xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ลุยแผนเปลี่ยนรถจักรดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า เซ็นเอ็มโอยู สจล.ร่วมพัฒนาเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.-สจล.ลงนามข้อตกลงร่วมพัฒนาด้านวิศวกรรมในการเปลี่ยนรถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถดีเซลรางให้เป็นระบบไฟฟ้า ครอบคลุมโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศแบบครบวงจร ทั้งรูปแบบจ่ายไฟเหนือหัว, ระบบไฮบริด และระบบไฟฟ้า EV เพื่อรองรับการเดินทางขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า

วันนี้ (15 ก.ย.) นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า” วิธี online ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ตามที่การรถไฟฯ มีแผนการพัฒนาปรับปรุงระบบรถไฟให้เป็นระบบรถไฟฟ้าครอบคลุมโครงข่ายทางรถไฟทั่วประเทศ รองรับการเดินทางขนส่งผู้โดยสารและสินค้าของประเทศ และกระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะผลักดันการใช้เทคโนโลยีระบบรถไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลพิษในด้านต่างๆ รวมถึงผลักดันการใช้พลังงานของประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับทิศทางของเทคโนโลยีประหยัดพลังงานและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ

รฟท.จึงได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการร่วมกันคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้วัสดุในประเทศเพื่อให้มีรูปแบบการบริการใหม่แก่ประชาชน โดยความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1. แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมในการเปลี่ยนรถจักรดีเซลไฟฟ้าและรถดีเซลราง จากการใช้พลังงานน้ำมันดีเซล ไปสู่ระบบรถจักรไฟฟ้า และรถไฟฟ้า จากพลังงานไฟฟ้ารูปแบบต่างๆ เช่น ระบบจ่ายไฟเหนือหัว (Overhead Catenary System) ระบบพลังงานทางเลือกจาก hydrogen fuel cell หรือระบบรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Electric Vehicle หรือ EV) และการใช้แบตเตอรี่ในระบบขับเคลื่อนของรถไฟ 2. แนวทางการพัฒนาด้านวิศวกรรมเกี่ยวกับสถานีจ่ายไฟฟ้า สถานีประจุพลังงานไฟฟ้าของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง

การร่วมมือทางด้านวิชาการในครั้งนี้เพื่อพัฒนาการขนส่งระบบรางของการรถไฟฯ ไปสู่ระบบไฟฟ้าในด้านต่างๆ เช่นหลายๆ ประเทศที่ได้เริ่มมีการพัฒนาระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ และเยอรมนี ซึ่งได้มีการวิจัยในการนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อนรถไฟ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังสอดคล้องกับแผนงานและนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบคมนาคมขนส่งให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศอีกด้วย

ด้าน ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า สจล.มุ่งบูรณาการองค์ความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายมิติ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อให้การดำเนินโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง สจล.มีศักยภาพและมีผลงานวิจัยหลากหลาย และมีความพร้อมทั้งบุคลากรและทรัพยากร และพร้อมที่ให้ความร่วมมือกับการรถไฟฯ ในการพัฒนาและร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางราง ด้านรถจักรล้อเลื่อนเพื่อพัฒนาไปสู่ระบบไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น