xs
xsm
sm
md
lg

กนย.ลุยประกันรายได้ยางปี 3 เคาะงบหมื่นล้านดูแลชาวสวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กนย.อนุมัติเดินหน้าโครงการประกันรายได้ยางพาราปี 3 เงื่อนไขเหมือนเดิม วงเงิน 10,065.68 ล้านบาท เริ่ม ต.ค. 64-มี.ค. 65 “จุรินทร์” เผยจะเป็นหลักประกันให้ชาวสวนยางเกือบ 2 ล้านครัวเรือนที่จะได้รับการดูแล ระบุข้าว มัน ข้าวโพด และยางพารา กำลังรอเข้า ครม. เหลือแค่ปาล์ม จะดำเนินการต่อไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/64 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 หรือประกันรายได้ยางพาราปีที่ 3 โดยมีหลักเกณฑ์เหมือนปีที่ผ่านมา จะเริ่มประกันรายได้ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564-มี.ค. 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ และประกันรายได้ราคายางแผ่นดิบคุณภาพดี 60.00 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ประกันรายได้ราคาน้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาทต่อ กก. ประกันรายได้ราคายางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23.00 บาทต่อ กก. ใช้งบประมาณ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,065.68 ล้านบาท และได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดําเนินการจัดทํารายละเอียดโครงการเพื่อนําเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

“การที่ กนย.ให้ความเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางในวันนี้ถือว่าเป็นการเดินหน้าประกันรายได้ยางปีที่ 3 ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางเกือบ 2 ล้านครัวเรือน และใช้เงินทั้งสิ้น 10,065 ล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีหลักประกันในเรื่องรายได้จากการขายยางตามรายได้ที่ประกันในยามที่ราคายางตกลงมาในบางช่วง” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคายางอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะยางก้อนถ้วย เพราะเมื่อหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรขายยางก้อนถ้วย หรือขี้ยางได้ราคา 10-15 บาทต่อ กก. แต่ว่าวันนี้ราคายางก้อนถ้วยสูงขึ้นไปถึง กก.ละ 22-25 บาทโดยประมาณ ซึ่งถือว่าบางช่วงก็สูงกว่ารายได้ที่ประกัน ซึ่งอยู่ที่ 23 บาท เพราะฉะนั้น ถือว่าราคายางก้อนถ้วยดีขึ้นมากและทรงตัวอยู่นาน เป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางทั้งภาคใต้ ภาคอีสาน และทั่วประเทศ

ส่วนราคาน้ำยางที่ตกลงมาบ้างในช่วงนี้ เป็นเพราะมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำยางรายใหญ่ของไทยประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตถุงมือยางต้องปิดตัวลงไป และการส่งน้ำยางข้ามแดน ติดขัดจากมาตรการล็อกดาวน์ จึงส่งผลให้ราคาน้ำยางตกลงไปบ้าง แต่คาดว่าเมื่อมาเลเซียสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 คลี่คลาย โอกาสที่ราคาน้ำยางจะกระเตื้องขึ้นก็มีมาก นอกจากนั้น โรงงานผลิตถุงมือยางในไทยก็ติดโควิด-19 ทำให้การผลิตไม่สามารถดำเนินการได้เต็มร้อย ความต้องการน้ำยางจึงลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำยาง

สำหรับโครงการประกันรายได้ปี 3 พืชเกษตรอื่นนั้น ขณะนี้ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และรอการพิจารณาอยู่ ทั้งประกันรายได้ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยยางถือเป็นตัวที่ 4 และถัดจากนี้ก็จะได้เสนอในเรื่องของการประกันรายได้ชาวสวนปาล์มต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม กนย.ยังได้เห็นชอบขยายโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพารา จากปี 2558-2564 เป็นปี 2558-2566, ปรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นซื้อไม้ยาง และขยายกำลังการผลิต การปรับเปลี่ยนเครื่องจักร, อนุมัติเพิ่มองค์ประกอบใน กนย. โดยเพิ่มนายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้เป็นกรรมการ และเพิ่มองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี โดยเพิ่มผู้อํานวยการสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ






กำลังโหลดความคิดเห็น