xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชี้ช่องส่งออกสินค้าอาหาร เครื่องดื่มเจาะตลาดสาธารณรัฐเช็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ทูตพาณิชย์ปราก” เผยผลสำรวจพบผู้บริโภคชาวเช็กปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงในช่วงโควิด-19 ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า การพักโรงแรม สันทนาการ แต่เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านอาหาร เครื่องดื่ม และสุขภาพ ชี้เป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกของไทยที่จะขายสินค้าป้อนความต้องการ แนะใช้ช่องทางตลาดออนไลน์นำเสนอสินค้าเพื่อเข้าถึงผู้บริโภค

น.ส.วิภาวี วรรณพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เปิดเผยว่า สำนักงานฯ ได้ติดตามโอกาสทางการค้าของไทยตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยล่าสุดได้ทำการติดตามผลการสำรวจสถานการณ์การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในครัวเรือนในสาธารณรัฐเช็ก พบว่ามีแนวโน้มปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในปี 2563 หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2543 เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น และหันมาบริโภคสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้า ลดลงเกือบ 9% เพราะโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปรับประทานอาหารที่ร้านได้ รวมถึงไม่สามารถเข้าพักโรงแรมหรือเกสต์เฮาส์ได้ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าพักลดลง 21% และค่าใช้จ่ายด้านวัฒนธรรมและสันทนาการก็ลดลง 12% ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ได้แก่ ค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 5% แอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น 7% ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น 9% ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์

น.ส.วิภาวีกล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว พบว่าการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนในสาธารณรัฐเช็กนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง ผู้บริโภคเริ่มออมเงินมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้า Non-Food เช่น เสื้อผ้า รองเท้า แต่ทิศทางการใช้จ่ายสำหรับบางกลุ่มสินค้ากลับเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อาหาร และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านวัฒนธรรมและสันทนาการลดลงในทุกครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนที่มีบุตร หรือไม่มีบุตร รวมถึงกลุ่มผู้รับบำนาญ

“แนวโน้มการจับจ่ายของผู้บริโภคในตลาดเช็กดังกล่าวทำให้เห็นโอกาสทางการตลาดสำหรับสินค้าอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพของไทย ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าอาหารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพควรศึกษาข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค และพัฒนาสินค้าให้เหมาะต่อกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจพิจารณาเลือกกลุ่มเป้าหมายหลัก 2-3 กลุ่ม แยกตามอายุ หรือไลฟ์สไตล์ แล้วผลิตสินค้าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น และใช้ช่องทางการตลาดออนไลน์นำเสนอสินค้าเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ที่สำคัญคือ การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสร้างความโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์และคุณลักษณะพิเศษ จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดได้อย่างต่อเนื่อง” น.ส.วิภาวีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น