xs
xsm
sm
md
lg

คลายล็อกดาวน์-ส่งออกดันจ้างงานทยอยฟื้นหนุนเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-อัดเงินกระตุ้นเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สภาองค์การนายจ้างฯ เผยแนวโน้มตลาดแรงงานไทยพ้นจุดต่ำสุดทยอยฟื้นตัวหลังรัฐคลายล็อกดาวน์ พบ “ส่งออก” พุ่งตัวแปรหนุนจ้างงาน ม.33 เพิ่ม แต่ภาพรวมยังคงเปราะบางเหตุผู้ว่างงานยังมีตัวเลขสูงจากผลกระทบโควิด-19 สะสม โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ยังต้องรอ “ต่างชาติ” กลับมาซึ่งต้องอาศัยเวลา หนุนรัฐเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อัดเงินกระตุ้นการบริโภค เร่งฟื้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นเพิ่มแรงขับเคลื่อน

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดแรงงานไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัวมากขึ้นหลังจากที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการการควบคุมไวรัสโควิด-19 หรือคลายล็อกดาวน์ แต่ยังคงเปราะบางเนื่องจากตลาดแรงงานของไทยส่วนหนึ่งอยู่ในภาคการค้าบริการและการท่องเที่ยวที่มีแรงงานกว่า 18 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังมีเข้ามาจำกัด และอาจต้องใช้เวลาถึงปี 2566 จึงจะกลับไปสู่ภาวะปกติช่วงก่อนการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

“ตลาดแรงงานของไทยได้พ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยขณะนี้แรงงานคนไทยรวมกับต่างด้าว และตัวเลขเสมือนว่างงานที่หายไปนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดปี 2563 อยู่ราวๆ กว่า 4 ล้านคน แต่มีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาขยายตัว 35.4% สูงสุดในช่วง 7 เดือน ทำให้การจ้างงานเริ่มกลับมา และการคลายล็อกดาวน์ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมามากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการบริโภคเพิ่มย้อนผลมายังการผลิตและบริการที่ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นได้แต่ยังคงไม่มากนักเพราะจำกัดอยู่แค่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและค้าปลีกค้าส่งบางส่วน การท่องเที่ยวยังคงหายไปมาก” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลสภาวะแรงงานเดือน ก.ค. 64 ผู้มีงานทำในภาคเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคมรวมกันประมาณ 24.283 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานอยู่ในภาคธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SME ประมาณ 12.71 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและบริการ จำนวนคนว่างงานข้อมูลทางการระบุประมาณ 7.3 แสนคน ตัวเลขที่น่าสนใจคือแรงงานที่ทำงานไม่เกิน 1-24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเรียกว่าผู้เสมือนว่างงานมีจำนวนสูงถึง 3.53 ล้านคน แรงงานเหล่านี้เป็นผู้ว่างงานแฝงอยู่ในตลาดแรงงาน และในจำนวนนี้พบว่า 21% เป็นคนที่ทำงานในหนึ่งสัปดาห์น้อยกว่า 1 ชั่วโมงคือสภาพไม่ต่างจากคนว่างงานนั่นเอง

นายธนิตกล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางการจ้างงานของประเทศซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการจ้างงานจริงยังไม่กลับมา โดยพบว่าแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 เดือนกรกฎาคมมีจำนวน 11.127 ล้านคน เปรียบเทียบในช่วงมกราคมถึงกรกฎาคม 2564 มีการจ้างงานรวมกันเพียง 71,720 คน หรือเฉลี่ยเพียงเดือนละหมื่นเศษ ต่างจากข้อมูลรัฐที่ระบุว่ามีการจ้างงานเป็นหลักแสนหลักล้าน ขณะเดียวกัน ข้อมูลในเดือนดังกล่าวเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้วซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิดระบาดพบว่าแรงงานในระบบประกันสังคมลดลงถึง 607,118 คน หรือหายไปคิดเป็น 5.14%

นายธนิตกล่าวว่า แรงงานที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะกระจุกตัวในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกตามการเติบโตที่สินค้าไทยมีการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่หากเจาะลึกลงไปแล้วกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยที่เป็นการนำเข้ามาแล้วส่งออก (Re-Export) เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ การจ้างงานและเงินหมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจไม่มากเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ ทั้งการค้าบริการการท่องเที่ยว และเกษตร แต่ปี 2564 ส่งออกเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังคงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบเพิ่มขึ้นในช่วงท้ายปีนี้เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่าย และรัฐควรจะยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ต่อขยายระยะเวลาเพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ภาคเศรษฐกิจ

“หากรัฐคลายล็อกดาวน์แล้วค่อยทยอยเปิดประเทศก็จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ ฟื้นแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องอาศัยเวลา จึงจำเป็นต้องอาศัยการกระตุ้นการจับจ่ายภายในประเทศเป็นสำคัญ” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น