xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ดัน 7 นิคมฯ สู่เมืองอุตฯ เชิงนิเวศปีงบ 64 “เอเชีย-หนองแค” คว้าระดับสูงสุด วางเป้า 5 ปีหนุนเกิด 39 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กนอ.เผยปีงบ 64 ผลักดัน 7 นิคมอุตสาหกรรมสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยนิคมฯ เอเชีย-หนองแคคว้าระดับสูงสุด Eco-World Class เร่งขับเคลื่อนเป้าหมาย 5 ปี (ปี 64-68) จะผลักดันให้ได้รวม 39 แห่ง ขณะที่ปัจจุบันสามารถผลักดันนิคมฯ สู่เมืองอุตฯ เชิงนิเวศแล้วรวม 57 แห่ง

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 ปี (ปี 2564-68) ไว้ทั้งสิ้น 39 แห่งเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) หรือเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม โดยปีงบประมาณ 2564 กนอ.ได้ยกระดับนิคมฯ เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 7 แห่ง แบ่งเป็น ระดับ Eco-World Class จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมฯ เอเชีย และนิคมฯ หนองแค ระดับ Eco-Excellence จำนวน 3 แห่ง คือ นิคมฯ บางชัน นิคมฯ ปิ่นทอง (แหลมฉบัง) และนิคมฯ ผาแดง ระดับ Eco-Champion จำนวน 2 แห่ง คือ นิคมฯเอเชีย (สุวรรณภูมิ) และนิคมฯ ทีเอฟดี ส่งผลให้ปัจจุบันมีเมืองอุตฯ เชิงนิเวศรวม 57 แห่ง แบ่งเป็นระดับ Eco-Champion รวม 36 แห่ง ระดับ Eco-Excellence จำนวน 16 แห่ง และระดับ Eco-World Class จำนวน 5 แห่ง

ทั้งนี้ กนอ.ได้กำหนดคุณลักษณะมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ใน 5 มิติ 22 ด้าน แบ่งการยกระดับความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 อีโคแชมเปี้ยน (Eco-Champion) ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับชุมชน บนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม มีเกณฑ์ 5 มิติ และ 31 เกณฑ์เป็นตัวชี้วัด ระดับที่ 2 อีโค-เอ็กซ์เซลเลนซ์ (Eco-Excellence) เป็นนิคมฯ ที่ยกระดับคุณภาพชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่ความยั่งยืน สร้างเครือข่ายทำงานร่วมกัน และระดับ 3 อีโค-เวิลด์คลาส (Eco-World Class) นิคมฯ ที่สามารถเป็น “ผู้นำ” ในการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งหากนิคมฯ เป็น Eco-World Class แล้วต้องรักษาระดับการเป็น Eco-Excellence และ Eco-Champion อย่างต่อเนื่องด้วย

“กนอ.ได้นำแนวคิด “นิเวศอุตสาหกรรม” (Industrial Ecology) มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศตั้งแต่ปี 2553 ภายใต้ข้อกำหนด คุณลักษณะ และเกณฑ์ตัวชี้วัด การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 5 มิติ 22 ด้าน ได้แก่ 1. มิติกายภาพ 2. มิติเศรษฐกิจ 3. มิติสังคม 4. มิติสิ่งแวดล้อม และ 5. มิติการบริหาร แนวคิดหลักคือ การสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนท้องถิ่น” ผู้ว่าฯ กนอ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น