หนุ่มจีนฮิตทำหน้า เชื่อช่วยเพิ่มโอกาสดีๆ ทั้งด้านการงานและชีวิต งานวิจัยพบพนักงานออฟฟิศชายราว 17% เคยรับบริการบำบัดความงามและส่วนใหญ่ทำครั้งแรกก่อนอายุ 30 โดยขณะนี้ตลาดศัลยกรรมความงามจีนมีมูลค่าถึง 30,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2015 อย่างไรก็ตาม กระแสนี้เกิดขึ้นขณะที่ปักกิ่งกำลังเร่งกำจัด “หนุ่มหน้าหวาน” นอกจากนั้นยังมีความกังวลในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย โดยสมาคมผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้กว่า 7,200 กรณี
ด้วยความกังวลว่า รูปลักษณ์ของตัวเองจะเป็นอุปสรรคขัดขวางโอกาสในสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันสูงมาก เซี่ย ซูหรง จึงตัดสินใจไปให้หมอทำจมูก เช่นเดียวกับหนุ่มจีนอีกนับล้านที่กลายเป็นลูกค้าคลินิกศัลยกรรมความงาม
หนุ่มนักวิจัยวัย 27 ปีผู้นี้ ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแปลงโฉมจากวิศวกรเชยเฉิ่มให้ดูดีขึ้นเพราะเขาเชื่อว่า หน้าตาจะเป็นประตูชัยนำไปสู่โอกาสดีๆ ในชีวิต
มาตรฐานความหล่อในจีนกินความตั้งแต่สีผิว รูปทรงตาและจมูก ไปจนถึงหน้าใสละมุนแบบหนุ่มน้อย
เซี่ยบอกว่า ถ้าดูจากอายุ หน้าเขาควรยังใสละมุน แต่ในความจริงกับดูเหมือนลุงวัยกลางคนมากกว่า
ต้นปีนี้เขาจ่ายเงินไป 40,000 หยวน (6,192 ดอลลาร์) เพื่อฉีดฟิลเลอร์ และตอนนี้กำลังเตรียมเข้าผ่าตัดเสริมจมูกที่ปักกิ่ง
เซี่ยเสริมว่า เขาเติบโตมาจากบ้านนอก หน้าตาเนื้อตัวจึงไม่นวลเนียนเหมือนคนเมือง และดูไม่ค่อยมีราศีเท่าไหร่ เขาจึงวางแผนมานานแล้วว่า วันหนึ่งจะต้องทำหน้าให้ได้
ความนิยมขั้นสุดในโซเชียลมีเดียที่ท่วมท้นไปด้วยเทรนด์การทำศัลยกรรมและคำแนะนำวิธีแปลงโฉม กลายเป็นความกดดันสำหรับคนจีนจำนวนมาก
หนุ่มมีการศึกษามากมายในจีนเลือกทำศัลยกรรมเพื่อเพิ่มแต้มต่อในชีวิต
ทั้งนี้ จากข้อมูลของไอรีเสิร์ช พนักงานออฟฟิศชายราว 17% ในจีนเคยรับบริการบำบัดความงาม และส่วนใหญ่ทำครั้งแรกก่อนอายุ 30 ปี
เซี่ย เจิ้งอี้ หมอที่ทำศัลยกรรมให้เซี่ย บอกว่า มีผู้ชายมารับบริการเพิ่มขึ้น และเสริมว่า การทำศัลยกรรมสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้คนๆ นั้นดูดีและน่าคบหามากขึ้น
โรส ฮัน จากกลุ่มการลงทุน โบแคร์ คลินิกส์ ขานรับว่า ข้าราชการชายเลือกทำศัลยกรรมเพราะกังวลว่า หน้าตาที่ดูแก่และอิดโรยอาจทำให้พลาดโอกาสในการได้เลื่อนตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากแอปศัลยกรรม So Young ที่อ้างอิงจากผลสำรวจผู้ใช้ที่มีการใช้งานเป็นประจำเดือนละ 8.9 ล้านคน พบว่า ผู้ชายวัย 20-29 ปี เลือกทำศัลยกรรมจมูกและตามากที่สุด
“การทำศัลยกรรมเป็นคนละเรื่องกับการซื้อกระเป๋ากุชชี่ เพราะหมายถึงโอกาสสำหรับตัวคุณเอง ความมั่นใจจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่การงานและชีวิต” เซี่ยสำทับ
จากข้อมูลของทางการ รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงเฉลี่ยของจีนขณะนี้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่านับจากปี 2010 และการที่ชนชั้นกลางมีฐานะดีขึ้นยิ่งกระตุ้นความสนใจในการทำศัลยกรรม
จาง เสียวหม่า ลาออกจากบริษัทไอทีมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียเต็มเวลา หลังจากแชร์ประสบการณ์การทำศัลยกรรมของตัวเอง
“ถ้าคุณดูดีมีเสน่ห์ มีงานหน้ากล้องให้ทำเยอะมาก”
ส่วนหนึ่งที่จางไปทำมาคือ “หูเอลฟ์” โดยการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเพื่อให้หูแหลมขึ้นและหน้าดูเล็กลง เทรนด์นี้เริ่มต้นหลังจากไอดอลในโซเชียลคนหนึ่งทำสารคดีเรื่องนี้และกลายเป็นไวรัล
ข้อมูลของไอรีเสิร์ชยังระบุว่า อุตสาหกรรมศัลยกรรมความงามของจีนขณะนี้มีมูลค่าถึง 197,000 ล้านหยวน (30,000 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นจาก 64,800 ล้านหยวนเมื่อปี 2015
อย่างไรก็ตาม ดีมานด์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนี้เกิดขึ้นขณะที่ทางการกำลังกังวลกับวิกฤต “หนุ่มหน้าหวาน” และเสนอเพิ่มคลาสพลศึกษาสำหรับเด็กผู้ชายเพื่อส่งเสริมแบบอย่าง “ดั้งเดิม” ของชายชาตรีในสังคม
ต้นเดือนนี้ ปักกิ่งยังสั่งแบน “ความงดงามที่ไม่ปกติ” เช่น หนุ่มสาย Y ไม่ให้ปรากฏตัวบนหน้าจอทีวี
นอกจากนั้นยังมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและคุณภาพ โดยสมาคมผู้บริโภคแห่งชาติเผยว่า ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสริมความงามกว่า 7,200 กรณี
เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อของทางการจีน โกลบัล นิวส์ รายงานว่า เสี่ยวหราน อินฟลูเอนเซอร์วัย 33 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อหลังเข้ารับการดูดไขมัน และคลินิกดังกล่าวถูกสั่งปิดนับแต่นั้น
นักวิจารณ์เชื่อว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบควบคุมอุตสาหกรรมนี้เข้มงวดขึ้น
นายแบบบางคนยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่การทำศัลกรรมความงามจะกลายเป็นการเสพติด
“คุณยอมรับไม่ได้หรอก ถ้าจะต้องหยุดและเห็นหน้าตัวเองอัปลักษณ์ในกระจก”