xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนฟื้นฟูพิษโควิด-19 ลุยดิจิทัล-เศรษฐกิจยั่งยืน-ห้ามจำกัดส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเห็นชอบแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ดันอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มบัญชีอาหารและเกษตรในลิสต์สินค้าจำเป็นห้ามจำกัดส่งออก 107 รายการ เร่งสมาชิกบังคับใช้ RCEP พร้อมไฟเขียวเอกสารสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อาเซียน

นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 53 ในวันที่ 8-9 ก.ย. 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า ได้รับมอบหมายจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ โดยที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน ติดตาม และเร่งรัดการทำงานให้เป็นไปตาม AEC Blueprint 2025 โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้า การลงทุน และการลดอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนการหารือกับภาคเอกชนในการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาเซียนจากโควิด-19 รัฐมนตรีเห็นว่าอาเซียนจะต้องร่วมมือกันผลักดันให้อาเซียนก้าวไปสู่ความเป็นดิจิทัล และจะต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนเพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้อาเซียนฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และยังได้เห็นชอบให้มีการขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็นที่จะไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกันจำนวน 107 รายการ ครอบคลุมสินค้าอาหารและสินค้าเกษตร เพิ่มเติมจากสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนการอำนวยความสะดวกด้านการค้า อาเซียนเห็นว่าจะต้องสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือไม่ให้ติดขัด การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอน รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมทางการค้า โดยการดำเนินการจะช่วยส่งเสริมการค้าและดึงดูดบริษัทสายเรือเข้ามาในภูมิภาค และช่วยให้ค่าระวางเรือในภูมิภาคกลับมาอยู่ในระดับปกติได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูการค้าและการลงทุนของภูมิภาค โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้สมาชิกเดินหน้ากระบวนการภายในประเทศ เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเดือน ม.ค. 2565

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมรับรองและเห็นชอบเอกสารสำคัญ เช่น 1. กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2. แผนงานในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นดิจิทัลของอาเซียน 3. แผนงานในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และ 4. เครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) รวมทั้งได้หารือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นที่เอกชนให้ความสำคัญและการร่วมมือระหว่างอาเซียนกับเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น