xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.จับมือ 3 ธนาคารเตรียมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาทช่วย SMEs ฝ่าวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.จับมือกับ 3 ธนาคารใหญ่ ไทยพาณิชย์, EXIM Bank และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมวงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการ SMEs ในซัปพลายเชนภาคอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Supply Chain Financing โดยจะสามารถช่วยเหลือสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในซัปพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมผ่านบริการด้านการเงินของทั้ง 3 ธนาคารได้มากกว่า 10,000 ราย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ส.อ.ท.ได้มีนโยบายช่วยเหลือสมาชิกในรูปแบบต่างๆ โดยล่าสุดเพื่อให้สมาชิกรวมไปถึงผู้ประกอบการ SMEs ในเครือข่ายเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ผ่านรูปแบบสินเชื่อ Supply Chain Factoring โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัปพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร

“กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิก ส.อ.ท.ล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง และธุรกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดี แม้อยู่ในภาวะวิกฤต ทั้งการส่งออกและตลาดในประเทศ จึงจะรวมพลังสมาชิกเพื่อช่วยเหลือซัปพลายเออร์โดยเฉพาะ SMEs ให้มากที่สุด เพื่อฝ่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุพันธุ์กล่าว

นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่า การผลักดันการให้สินเชื่อในรูปแบบ Supply Chain Financing ในครั้งนี้เป็นอีกรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤตในช่วงนี้ สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยหัวใจสำคัญของ Supply Chain Financing คือธุรกิจที่เป็น Sponsor หรือ Buyer ที่มีความน่าเชื่อถือและแข็งแกร่งทางธุรกิจอยู่แล้ว ซึ่งเอกสาร Invoice ที่เกิดจากการสั่งซื้อของ Sponsor แต่ละรายเป็นเครื่องการันตีแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันที่แต่ละธนาคารเชื่อถือได้ โดยรูปแบบการให้สินเชื่อของทั้ง 3 ธนาคารก็แตกต่างกันไป ซึ่งทั้ง 3 ธนาคารจะดูแลสมาชิก ส.อ.ท. และให้สิทธิประโยชน์แก่สมาชิก ส.อ.ท.เป็นพิเศษ โดยเราคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกและ SMEs ในเครือข่ายให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ร่วมกันพัฒนา PayZave แพลตฟอร์มดิจิทัลแรกของประเทศไทยที่เปิดให้คู่ค้าซัปพลายเชนสามารถดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอมซึ่งปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน โครงการนี้จึงเป็นการต่อยอดเข้าใช้แพลตฟอร์ม PayZave ในโครงการนี้ สามารถใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.payzave.com และส่งอีเมลมาที่ contact@payzave.com”

นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีฯ มีโครงการสินเชื่อ Krungsri Digital Supply Chain Solutions เพื่อ SME ที่เป็นคู่ค้าของบริษัทขนาดใหญ่ โดยสินเชื่อนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในเรื่องวงเงินที่เพียงพอต่อธุรกิจและความสะดวกรวดเร็ว เป็นสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) ที่ให้วงเงินสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการขายสินค้าจริง พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษ (ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย OD ทั่วไป) และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด อีกทั้งสามารถเบิกใช้สะดวกรวดเร็วแบบ Real Time ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Krungsri Digital Supply Chain Financing Platform

นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่า สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจรช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor) โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน ในวงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงนำ Invoice มายื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษซึ่งอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย นอกจากนี้ EXIM BANK พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก ส.อ.ท.ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ฟรี ค่าธรรมเนียม 12 เดือน สำหรับการทำธุรกรรมในโครงการสินเชื่อ SCF และ ฟรี ประกันการส่งออก EXIM for Small Biz คุ้มครองการส่งออกไปยังผู้ซื้อ 1 ราย วงเงินสูงสุด 300,000 บาท อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น