xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อมั่นอุตฯ ส.ค.ต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน “ส.อ.ท.” ย้ำล็อกดาวน์ไม่ใช่คำตอบเท่าฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.ต่ำสุดรอบ 16 เดือนผลจากมาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือน ส.ค.และขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด ชี้การล็อกดาวน์ไม่ได้ช่วยให้การติดเชื้อลดลงแต่พบการฉีดวัคซีนมีนัยสำคัญทำให้ผู้ติดเชื้อ และตายลดลงอย่างชัดเจน หวังจากนี้จะไม่ล็อกดาวน์อีก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.9 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่ำที่สุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกภูมิภาคและทุกขนาดอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ คือ การที่ภาครัฐยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็น 29 จังหวัด และบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ตลอดเดือนสิงหาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศลดลง ขณะที่การแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่คลี่คลายส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตลดลงและการส่งมอบสินค้าล่าช้าโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 90.9 จากระดับ 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าภาครัฐควรเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงเร่งขยายการส่งออกอย่างต่อเนื่อง

“หากพิจารณาการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง ก.ค. และ ส.ค.เมื่อมีการล็อกดาวน์แล้วไม่ได้ต่างกันมากนักแต่ขณะนี้ที่ชัดเจนคือการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมถึงจำนวนผู้ที่หายป่วยก็มีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้รัฐเร่งฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้เราจึงหวังว่าการล็อกดาวน์จะไม่เกิดขึ้นอีก หากทุกฝ่ายมีการดูแลป้องกันโดยรัดกุมควบคู่กับการฉีดวัคซีน” นายสุพันธุ์กล่าว

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1. ขอให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง Factory Quarantine และ Factory Accommodation Isolation ภายในโรงงาน รวมทั้งช่วยจัดหาและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อสุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการทุกๆ 14 วัน ตามมาตรการ Bubble and Seal 2. ขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 รวมทั้งจัดให้มี Mobile Units ฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ณ สถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ เพื่อรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ

3. ขยายมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ให้แก่สถาน ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs 4. ขอให้ภาครัฐเจรจากับประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยในสินค้าส่งออกของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น