xs
xsm
sm
md
lg

โควิดทุบงบปี 65! คมนาคมชะลอโครงการใหม่ ยืดไทม์ไลน์ลงทุน ปักธง ต.ค.ประมูลมอเตอร์เวย์ “บ้านแพ้ว” 2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปีงบประมาณ 2565 ที่จะเริ่มต้นในวันที่ 1 ต.ค. 2564 นี้อาจจะถือได้ว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยตกต่ำ ฝืดเคืองมากที่สุด หลังจากที่เจอปัญหาโควิด-19 ระลอกล่าสุดถาโถม ระบบเศรษฐกิจเกือบทุกเซกเตอร์ต้องหยุดชะงักโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศไทยนั้น...นิ่งสนิท ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นอีกเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในภาวะซบเซา หลายโครงการด้านคมนาคมต้องปรับแผนชะลอการลงทุนออกไปเนื่องจากงบประมาณมีจำกัด 

สำหรับกระทรวงคมนาคมนั้น งบประมาณที่ได้รับในแต่ละปีมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท โดยเมื่อปี 2563 ได้รับจัดสรรงบที่ 208,315 ล้านบาท ปี 2564 ได้รับจัดสรรที่ 227,894 ล้านบาท แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องปี 2564 หลายระลอก ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าทำให้ต้องปรับลดการใช้จ่ายและการลงทุนในปี 2565 ลงไปด้วย        

     @หั่นงบคมนาคมปี 65 เหลือ 2.08 แสนล้านบาท  

กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงินรวม 208,455.2336 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 171,860 ล้านบาท รายจ่ายประจำ วงเงิน 16,283  ล้านบาท และชำระเงินกู้ 20,311 ล้านบาท  

แยกเป็นหน่วยงานทางบก วงเงินรวม 166,796.3559 ล้านบาท (80.02%) โดยมี 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) ได้รับงบประมาณ 113,348.0486 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้รับงบประมาณ 45,851.7526 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้รับงบประมาณ 4,148.1603 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับงบประมาณ 3,437.1034 ล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับงบประมาณ 11.2910 ล้านบาท 

หน่วยงานทางราง วงเงินรวม 31,105.5067 ล้านบาท(14.92%) มี 3 หน่วยงาน ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย  (รฟท.) ได้รับงบประมาณ 18,239.0403 ล้านบาท การรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับงบประมาณ 12,751.0143 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้รับงบประมาณ 115.4521 ล้านบาท  

หน่วยงานทางอากาศ วงเงินรวม 5,194.6791 ล้านบาท (2.48%) มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับงบประมาณ 5,053.2556 ล้านบาท สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) ได้รับงบประมาณ 141.4235 ล้านบาท  

หน่วยงานทางน้ำ มี 1 หน่วยงาน คือ กรมเจ้าท่า (จท.) ได้รับงบประมาณ 4,577.9367 ล้านบาท (2.20%) 

หน่วยงานด้านบริหารจัดการ วงเงินรวม 780.7552 ล้านบาท (0.37%) มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้รับงบประมาณ 518.3472 ล้านบาท และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร  (สนข.) ได้รับงบประมาณ 262.4080 ล้านบาท  

@เปิดงบลงทุนปี 2565 วงเงินรวม 4.84 แสนล้านบาท 

สำหรับงบลงทุนของกระทรวงคมนาคม ในปีงบประมาณ 2565 มีวงเงินรวม 484,328.8464 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนทางระบบรางมากที่สุดวงเงิน 248,728.9755 ล้านบาท (สัดส่วน 51.36%) รองลงมาเป็นการลงทุนด้านคมนาคมทางบก วงเงิน 209,674.9636 ล้านบาท (สัดส่วน 43.29%) ลงทุนทางอากาศวงเงิน 18,613.4306 ล้านบาท (สัดส่วน 3.84%) คมนาคมทางน้ำวงเงิน 6,438.2809 ล้านบาท (สัดส่วน 1.33%) และด้านการบริหาร/จัดการ วงเงิน 873.1958 ล้านบาท (สัดส่วน 0.18%)  

@งบตึงมือ ชะลอลงทุนโครงการใหม่ เน้นซ่อม-สร้าง เปิด PPP ดึงเอกชนร่วมลงทุนโปรเจกต์ใหญ่ 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในปี 2565 หลายโครงการที่ไม่มีความชัดเจน ไม่มีความพร้อม เช่น ยังศึกษาออกแบบไม่เสร็จ ยังไม่ผ่าน EIA ยังไม่มีงบด้านเวนคืน คงต้องชะลอไปโดยปริยาย  ไว้ผลักดันกันในปีต่อไป ยกเว้นโครงการที่มีความคุ้มค่า อาจเร่งเปิดประมูลด้วยวิธีให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) แต่ก็ต้องลุ้นว่าจะมีเอกชนสนใจหรือไม่ เพราะในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้อาจทำให้การคาดการณ์ผลตอบแทนต่างๆ มีความไม่แน่นอน .... เอกชนอาจจะมองว่าเป็นความเสี่ยงในการลงทุน

สำหรับกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) หน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากในแต่ละปีจะมีงานก่อสร้างหลายพันสัญญากระจายทั่วประเทศ พบว่าในปี 2565 ถูกตัดงบถ้วนหน้า โดยงบประมาณส่วนใหญ่ที่ได้รับจะเป็นงานต่อเนื่อง สัญญางานผูกพันจากปีก่อน และงานซ่อมบำรุงถนนทั่วประเทศ และงานก่อสร้างขนาดเล็ก

@โปรเจกต์ไฮไลต์! ประมูลมอเตอร์เวย์ “เอกชัย-บ้านแพ้ว” 1.97 หมื่นล้าน ต.ค.นี้ 

สำหรับโครงการใหม่ที่มีความพร้อม และเตรียมที่จะปักหมุดลงทุนในปี 2565 ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว หรือโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ระยะที่ 2 (เอกชัย-บ้านแพ้ว) เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 16.4 กม. มีวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธารวมทั้งสิ้น 19,700 ล้านบาท 

สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า ภายในเดือน ต.ค. 2564 มีความพร้อมจะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการทางยกระดับพระราม 2 ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ได้แน่นอน โดยกรมทางหลวงมีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโดยใช้เงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง  

สำหรับการติดตั้งงานระบบ ตั้งแต่ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ตลอดทั้งโครงการ ซึ่งจะมีงานระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมการจราจร ระบบโครงข่ายสื่อสารข้อมูล รวมทั้งการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) กรมทางหลวงจะดำเนินการโดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ตามกระบวนการ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำรายงานศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนที่เหมาะสมตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ร่วมลงทุนฯ พ.ศ. 2562 

@กทพ.ชง ครม.ไฟเขียวสร้างทางด่วน N2 เร่งใช้เงิน TFF

ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เตรียมดำเนินการโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และส่วนต่อขยายกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) (E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเพื่อเปิดประมูลต่อไป 

“การก่อสร้างทางด่วน N2 กทพ.จะใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ซึ่งปัจจุบันแผนการใช้เงินมีความล่าช้ากว่าแผน หากเร่งการก่อสร้างได้จะทำให้กทพ.ลดภาระการแบกรับภาระดอกเบี้ยกองทุน TFF ในแต่ละปี”

@ลุ้นเคลียร์ปมฮั้วประมูล-ล็อก TOR รถไฟทางคู่ 2 สายใหม่ วงเงิน 1.28 แสนล้าน

อีก 2 โครงการใหญ่ที่อยู่ในไทม์ไลน์เริ่มดำเนินการปี 2565 คือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท แต่ยังติดหล่มปัญหาถูกร้องเรียนการประมูล TOR เอื้อผู้รับเหมาบางกลุ่ม กีดกันผู้รับเหมารายกลาง รายเล็ก และทำให้รัฐเสียประโยชน์หลังจากที่มีการเปิดเผยผลประมูลว่ามีการเสนอราคาลดลงเฉลี่ย 0.08% จากราคากลางเท่ากันทั้ง 2 โครงการ ซึ่งเป็นข้อพิรุธการฮั้วประมูลและถือเป็นการเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลางน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าก่อสร้างกว่า 1.28 แสนล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการประกวดราคาก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสาน ในประเด็นที่มีการร้องเรียน...ให้เกิดความชัดเจน ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือจะต้องยกเลิกประมูลแล้วถอยกลับไปเริ่มทำ TOR กันใหม่ ...

@ทย.เร่งศึกษาขยายศักยภาพสนามบินภูมิภาค 

ด้านคมนาคมทางอากาศ งบประมาณรวม 5,194.6791 ล้านบาทนั้น ไฮไลต์อยู่ที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รับงบปี 2565 กว่า 5,000  ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบรายการผูกพันจากปี 2564 ประมาณ 3,200 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการพัฒนาท่าอากาศยานต่างๆ ทั้งการขยายอาคารผู้โดยสาร และการขยายความยาวรันเวย์ (ทางวิ่ง) ที่ท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานขอนแก่น, ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช, ท่าอากาศยานตรัง, ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ 

ขณะที่มีโครงการใหม่ เช่น แผนพัฒนาท่าอากาศยานระนอง จ้างที่ปรึกษาออกแบบ รายละเอียดก่อสร้างขยายท่าอากาศยานพร้อมศึกษารายงานการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ขยายท่าอากาศยาน อาคารที่พักผู้โดยสาร และส่วนประกอบอื่นๆ 17.1692 ล้านบาท  

แผนพัฒนาท่าอากาศยานชุมพร จ้างออกแบบขยายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม วงเงิน 48.25 ล้านบาท  

แผนพัฒนาท่าอากาศยานมุกดาหาร จ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บท ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้าง วงเงิน 42.6926 ล้านบาท  

แผนพัฒนาท่าอากาศยานบึงกาฬ จ้างที่ปรึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบินและองค์ประกอบอื่นๆ และศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างวงเงิน 42.6926 ล้านบาท  

@จท.เร่งพัฒนาท่าเรือ ขุดลอกหนุนท่องเที่ยวและโลจิสติกส์  

ขณะที่กรมเจ้าท่าได้รับงบปี 2565 จำนวน 4,577 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ด้านการพัฒนาและบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือ การก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะวงเงิน 1,500 ล้านบาท 2. พัฒนาเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว วงเงิน 260 ล้านบาท 3. การพัฒนาเพื่อสนับสนุนระบบโลจิสติกส์ เช่น การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำ วงเงิน 1,170  ล้านบาท

4. ด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยวงเงิน 213 ล้านบาท 5. ด้านกำกับดูแลความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ วงเงิน 590 ล้านบาท 6. ส่งเสริมการพาณิชยนาวี งานพัฒนาด้านการพาณิชยนาวี ผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล วงเงิน 71 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและด้านบุคลากร วงเงิน 729 ล้านบาท 

@ปั้นแผนลงทุน MR-Map ชง คจร.วางโครงข่ายสร้างรถไฟคู่มอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ

“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ระบุว่า งบประมาณส่วนใหญ่ของกระทรวงคมนาคม วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาทจะนำไปพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ เช่น โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ (ถนนพระราม 2) วงเงิน 4,558 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ (เวนคืนที่ดิน) วงเงิน 13,705 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-นครพนม (เวนคืนจังหวัดร้อยเอ็ด) วงเงิน 9,912 ล้านบาท

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) จำนวน 10 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. เส้นทาง MR1 ตาก (ด่านแม่สอด)-นครพนม (ด่านนครพนม) 2. เส้นทาง MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) 3. เส้นทาง MR3 กาญจนบุรี (ด่านน้ำพุร้อน)-สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) 4. เส้นทาง MR4 ชลบุรี-ตราด (ด่านคลองใหญ่) 5. เส้นทาง MR5 ชุมพร-ระนอง 

6. เส้นทาง MR6 ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี 7. เส้นทาง MR7 เชียงราย (ด่านเชียงของ)-สงขลา (ด่านชายแดนมาเลเซีย) 8. เส้นทาง MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-ชลบุรี (แหลมฉบัง) 9. เส้นทาง MR9 บึงกาฬ  (ด่านบึงกาฬ)-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) และ 10. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 

โดยหลักการของโครงการ MR-Map มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาโครงข่ายระบบคมนาคม ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ลดการเวนคืน ลดผลกระทบต่อประชาชน  

ล่าสุดได้พิจารณา 4 โครงการนำร่องที่มีศักยภาพ ได้แก่ 

1. เส้นทาง MR 5 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 108 กม. โดยการศึกษาจะสอดคล้องกับการศึกษาความเหมาะสมโครงการ Landbridge เพื่อเชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทยด้วยระบบรางมอเตอร์เวย์ และระบบท่อ พร้อมพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาค 

2. เส้นทาง MR 8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กม.  

3. เส้นทาง MR 9 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม.  

4. เส้นทาง MR 10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กม. 

โดยจะมีการนำเสนอแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) จำนวน 10 เส้นทาง ต่อคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้รับทราบในการประชุมช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ 

งบประมาณด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก จากการจ้างแรงงาน สร้างงาน กระจายรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ช่วยกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ...แต่ในภาวะที่งบประมาณมีจำกัด การลงทุนทำได้ไม่เต็มที่ คงต้องคัดเลือก...และจัดลำดับความสำคัญ ตัดโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ไปบ้าง เพราะหากทุ่มลงทุนจนกระทบวินัยการเงินการคลังของประเทศ...จะได้ไม่คุ้มเสีย! 










กำลังโหลดความคิดเห็น