การแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ (New S-Curve) นับเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของความมั่นคงยั่งยืนทางธุรกิจ ซึ่งหลาย ๆ บริษัทก็มีการเดินหน้าค้นหา New Business อยู่เสมอ และสำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ทุกคนย่อมรู้ว่าดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน แต่อีกด้านหนึ่ง ปตท. ก็ไม่หยุดนิ่งในการค้นหาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่เพียงจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร แต่ยังเป็นการมุ่งส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีรายได้ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
โดยหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม ก็คือธุรกิจใหม่ ๆ ภายใต้การบ่มเพาะไอเดียจากทีม ExpresSo (Express Solutions Project) ที่นับได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยเป้าหมายของทีมนี้ก็เพื่อค้นหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และโอกาสทางธุรกิจใหม่ (S-Curve) อีกทั้งการศึกษาลงทุนแบบ Venture Capital (VC) ที่มุ่งเน้นการลงทุนในกองทุนหรือสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรม เทคโนโลยี ซึ่งมีประโยชน์และศักยภาพช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในการแข่งขันขององค์กรและประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนทางการลงทุน
นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อสามารถขยายสู่ตลาดสากลมากขึ้น โดยค้นหาโอกาสผ่านการลงมือทำ ทดสอบแนวคิดทางธุรกิจ หรือจัดทำต้นแบบ เพื่อนำมาสร้างธุรกิจในอนาคตให้กับ ปตท. อีกทั้งยังดำเนินการในลักษณะเป็นพันธมิตรหรือเพื่อนคู่คิดให้กับหน่วยธุรกิจอีกด้วย
หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นเป็นผลงานความสำเร็จจากโครงการ ExpresSo ก็คือ การเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มดิจิทัล ReAcc (Renewable Energy Acceleration Platform) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ที่ต้องการจัดหาพลังงานหมุนเวียนโดยสมัครใจ ทั้งจากจากภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยรองรับการให้บริการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate (REC) ซึ่งนับเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ให้บริการแบบครบวงจร (end-to-end service) ซึ่งเป็นตัวอย่างการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ประโยชน์ในภาคพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการการจัดหาพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างครบวงจร สานต่อพันธกิจด้านความยั่งยืน
เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ บริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด (MekhaTech) ธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนหลาย ๆ องค์กรให้มีความแข็งแกร่งในด้าน IT มากขึ้น โดยเป็นธุรกิจที่ให้บริการด้านจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) รองรับการพัฒนา Application ใหม่ ซึ่งเป็นทิศทางของทุก ๆ อุตสาหกรรมในอนาคต ที่จะมีการใช้ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง มาพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และเสริมสร้างขีดศักยภาพขององค์กรยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มทักษะของบุคลากรของในบริษัทให้เตรียมพร้อมต่อ Digital Transformation ที่กำลังเกิดขึ้น
และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เป็นเด็ดขาดก็คือ การจัดตั้งบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จ เพื่อรองรับรองขยายตัวของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจ Delivery Service ทั้งยังสามารถต่อยอดธุรกิจด้านแบตเตอรี่ของ กลุ่ม ปตท. ถือเป็นกลไกสำคัญที่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นออกแบบให้ใช้งานง่าย สะดวก และทันสมัย โดยใช้งานผ่าน Application Swap&Go ก็สามารถเข้าสู่กระบวนการสลับแบตเตอรี่ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 3 นาที และในปี 2564 จะเปิดให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ จำนวน 22 แห่ง ครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ นอกเหนือไปจากโครงการ ExpresSo แล้ว อีกหนึ่งโครงการในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ของ ปตท. ซึ่งน่าพูดถึงก็คือ Booster ที่มีผลงานมาแล้วมากมาย โดยหลังจากจัดตั้งโครงการไม่นาน ก็เกิดโครงการ Herbal-Based Functional Food การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับภาคการเกษตร โดยมุ่งเน้น “สมุนไพรไทย” ครอบคลุมทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นั่นคือการปลูก การสกัด การแปรรูป ไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ และการนำออกจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ร่วมพัฒนาสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ขณะนี้ได้พัฒนาเทคโนโลยีภายในโรงเรือน Smart Green House ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง ร่วมกับ DENSO และอยู่ในระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสารสกัดของหญ้าหวานและกระชายดำร่วมกับ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น
อีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามอง คือ การพัฒนาประมงไทยให้มีความโดดเด่นอีกครั้ง ด้วยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และระบบการจัดการใหม่ เข้าไปพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงอย่างครบวงจร พร้อม ๆ กับดูแลเรื่องการแปรรูป จัดจำหน่าย และบริหารโลจิสติกส์ เพื่อสร้างระบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในไทยและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรไทย และสร้างโอกาสใหม่เพื่อการเติบโตทางธุรกิจที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ได้คัดเลือกปลาเศรษฐกิจ 2 ชนิดมาเป็นโมเดลต้นแบบ คือ Gourami Model โมเดลปลากุรามิ หรือ ปลาสลิด ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันได้พัฒนาระบบการจัดการการเพาะเลี้ยงปลาสลิดกับกลุ่มเกษตรกรรุ่นแรกแล้วเสร็จ คาดว่าจะมีการเก็บผลผลิตชุดแรกได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2564 และจะนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์คาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ชุดแรกมาทดสอบตลาดได้ในเดือนกันยายน 2564 นี้ และ Sugi Model โมเดลปลาซุกิ โดยปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการทดสอบและพัฒนาระบบการจัดการการเลี้ยงปลาช่อนทะเลในกระชังรูปแบบใหม่เทียบกับการเพาะเลี้ยงแบบเดิม โดยจะมีการทดสอบด้านการจัดการ อาหาร และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการทดสอบตลาดเพื่อคำนวนต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพก่อนที่จะขยายผลไปสู่เกษตรกร ทั้งนี้ทั้งสองโมเดลจะมีการสร้าง mobile application เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรบันทึกข้อมูลทั้งหมดเพื่อช่วยให้การเพาะเลี้ยงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่การเพาะพันธ์ เพาะเลี้ยงไปจนถึงการแปรรูปได้
นอกจากนั้น โครงการ Booster ยังมีผลงานที่โดดเด่นอีกอย่างซึ่งน่าพูดถึงเป็นอย่างมากก็คือ Coffee Chaff ซึ่งต่อยอดจากความสำเร็จของ สถาบันนวัตกรรม ปตท. (InI) ในการนำเยื่อกาแฟที่เหลือจากกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟของโรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน มาพัฒนาให้เป็นวัสดุในหลากหลายรูปแบบ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะที่ไร้ค่าให้มีมูลค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ปัจจุบัน โครงการบูสเตอร์ได้ร่วมกับ InI พัฒนาโอกาสทางธุรกิจ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น วัสดุตกแต่งและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
และที่สำคัญ ยังได้ร่วมมือกับ HOOG บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำของไทย ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการพาณิชย์มากยิ่งขึ้น โดยความสำเร็จเบื้องต้น คือผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์จาก Coffee Chaff ได้มีการนำไปใช้งานจริงแล้วในการตกแต่งร้าน Café Amazon Concept Store
แม้ว่าโครงการ Booster จะยังถือว่าอยู่ในจุดเริ่มต้น แต่ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการนำองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งส่งต่อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการสู่มือผู้บริโภค เพื่อสร้างการเติบโตที่ มั่นคงและยั่งยืนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมา คือการตอกย้ำให้เห็นเด่นชัดถึงวิสัยทัศน์ด้านธุรกิจขององค์กรที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้าและพัฒนาไม่หยุดยั้งเพื่อสร้างความแข็งแกร่งยั่งยืน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น นอกจากดีต่อองค์กรและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมลงทุน แต่ยังเกิดประโยชน์และคุณค่าต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมไปจนถึงสิ่งแวดล้อมที่จะเติบโตและอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างยั่งยืน