xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : My Rabbit แอปฯ ที่ผู้ถือบัตรแรบบิทต้องมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บัตรแรบบิท (Rabbit Card) เป็นบัตรเติมเงิน ใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ซื้อสินค้าและบริการ ผ่านร้านค้าชั้นนำ ให้บริการโดย บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (BSS) ในกลุ่มบริษัทบีทีเอส เริ่มจำหน่ายครั้งแรก 23 เมษายน 2555 หรือเมื่อ 9 ปีก่อน ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทกว่า 14.2 ล้านใบ มีร้านค้ารับบัตรกว่า 500 แบรนด์ รวม 8,000 จุดทั่วประเทศ

เดิมผู้ถือบัตรแรบบิทมักประสบปัญหาเติมเงินยุ่งยาก ต้องไปทำรายการที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือร้านค้า เช่น แมคโดนัลด์ มินิบิ๊กซี ลอว์สัน 108 ศูนย์อาหารในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ฯลฯ แต่นับจากนี้จะเติมเงินหรือเช็กยอด ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ผ่าน แอปพลิเคชัน My Rabbit ที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา


สำหรับแอปฯ My Rabbit มีไว้สำหรับเช็กยอดเงินคงเหลือ เติมเงินบัตรแรบบิท เช็กรายการใช้งานล่าสุด และลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปจุดบริการ หรือสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอีก มือถือที่จะใช้แอปฯ นี้ได้ต้องรองรับฟังก์ชัน NFC ระบบปฏิบัติการ iOS 13 หรือ Android 8 ขึ้นไป โดยดาวน์โหลดผ่าน App Store หรือ Google Play ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการใช้งานแอปฯ My Rabbit ได้แก่ 1. โทรศัพท์มือถือที่รองรับฟังก์ชัน NFC 2. บัตรแรบบิท ที่ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตนแล้ว 3. มีแอปฯ ธนาคารที่ผูกกับบัญชีไว้อยู่ในเครื่องเดียวกัน สำหรับเติมเงินลงในบัตรแรบบิท โดยหักจากบัญชีธนาคาร ปัจจุบันรองรับเฉพาะ Bualuang mBanking ธนาคารกรุงเทพ และ SCB EASY ธนาคารไทยพาณิชย์


วิธีการสมัคร เมื่อดาวน์โหลดแอปฯ เรียบร้อยแล้ว ให้เข้าไปที่ "สร้างบัญชี My Rabbit" กรอกเบอร์มือถือและอีเมล แล้วทำตามขั้นตอนของระบบ แต่สำหรับสมาชิก Rabbit Rewards สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลที่ลงทะเบียนยืนยันแล้วเข้าใช้แอปฯ ได้เลยโดยใช้รหัสผ่านเดียวกัน รอรับ SMS สำหรับยืนยันตัวตน 4 หลัก แล้วตั้งรหัส Passcode 6 หลักเพื่อใช้งาน


อย่างไรก็ตาม ระหว่างการใช้งานจำเป็นต้องมีบัตรแรบบิทไว้ข้างตัว แล้วนำบัตรแรบบิทมาแตะค้างไว้ที่ด้านหลังโทรศัพท์เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบ NFC ขึ้นอยู่กับมือถือแต่ละรุ่นว่า จุดเชื่อมต่อ NFC จะอยู่ตรงไหน ปกติถ้าเป็นโทรศัพท์ไอโฟนจะอยู่ด้านหลังเครื่อง บริเวณจุดกึ่งกลางด้านบนสุด ใกล้กับจุดที่เป็นเสาอากาศของเครื่อง ส่วนมือถือรุ่นอื่นๆ ขึ้นอยู่กับยี่ห้อและรุ่น


วิธีเช็กยอด เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ให้เข้าไปที่เมนู "เช็กยอดเงินคงเหลือในบัตร" แล้วนำบัตรแรบบิทแตะที่จุดรับสัญญาณ NFC ด้านหลังมือถือ ระบบจะแสดงยอดเงินคงเหลือ โดยบัตรแรบบิทที่ผูกกับแอปฯ สามารถดูรายการย้อนหลังได้ 16 รายการ แต่ถ้าบัตรที่ไม่ได้ผูกกับแอปฯ ดูรายการย้อนหลังได้เพียง 1 รายการ แต่สามารถเปลี่ยนบัตรที่ผูกกับแอปฯ ในภายหลังได้


วิธีเติมเงิน เมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ให้เข้าไปที่เมนู "เติมเงิน" แล้วนำบัตรแรบบิทแตะที่จุดรับสัญญาณ NFC ด้านหลังมือถือ จากนั้นให้เลือกจำนวนที่ต้องการเติม ขั้นต่ำ 100 บาท เลือกธนาคาร แล้วกด "ยืนยันการเติมเงิน" ระบบจะเชื่อมต่อกับแอปฯ ธนาคาร แล้วกด "ยืนยัน" ระบบจะกลับไปยังแอปฯ แล้วนำบัตรแรบบิทแตะที่จุดรับสัญญาณ NFC ด้านหลังมือถืออีกครั้งหนึ่ง




จากที่ได้ทดลองใช้งานพบว่าแรกๆ อาจจะขลุกขลักไปบ้าง เนื่องจากมักประสบปัญหาไม่สามารถอ่านบัตรได้ วิธีแก้คือต้องหาจุดเชื่อมต่อ NFC ของมือถือให้เจอ หากใส่เคสมือถือหรือซองใส่บัตรที่หนาเกินไปอาจต้องถอดออกก่อน หรือปัญหาผูกบัตรกับแอปฯ ได้เพียง 1 รายการ แต่บางคนมีบัตรแรบบิทหลายใบ ไปจนถึงการไม่มี Touch ID หรือ Face ID


ถึงกระนั้น แอปฯ My Rabbit ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการทำธุรกรรมผ่านบัตรแรบบิทด้วยตัวเอง เข้ากับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน สะดวก ปลอดภัย เติมเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดการสัมผัสเงินสด ไม่ต้องไปเติมเงินที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือร้านค้าต่างๆ อีกต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมคลิกที่เว็บไซต์ rabbit.co.th/myrabbit หรือ Rabbit Hotline 02-617-8383 เฟซบุ๊ก Rabbit Card

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น