xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์พื้นฐาน Ethereum สู่การเป็นสินทรัพย์แห่งอนาคต / นเรศ เหล่าพรรณราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หากมีการพูดถึงการลงทุนใน Cryptocurrency คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึง Bitcoin ในทันทีจากการที่เป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนกลายมาเป็นที่ยอมรับของนักลงทุนสถาบันและผู้จัดการกองทุนระดับโลกบางส่วน แม้แต่ธนาคารกลางของบางประเทศยังให้การยอมรับ

แต่หากเป็นเหรียญทางเลือกหรือ Altcoin กลับยังไม่เป็นที่นิยมในการลงทุนของนักลงทุนระดับสถาบันมากนัก ทั้งที่บางเหรียญอย่างเช่น Ethereum ก็มีพื้นฐานที่ดีในฐานะผู้นำในสกุลเงินดิจิทัลสาย Smart Contract

อย่างไรก็ตามไม่นานมานี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นกับ Ethereum นั่นคือการ Hard Fork เวอร์ชั่น EIP1559 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปที่จะก้าวเข้าสู่ Ethereum เวอร์ชั่น 2 ซึ่งจะได้รับการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ให้สามารถรองรับการใช้งานของนักพัฒนาได้มากขึ้นรวมถึงจะเป็นการยกระดับ Ethereum ให้มีความเป็นสินทรัพย์การลงทุนชั้นนำไม่ต่างจาก Bitcoin

หากมองว่า Ethereum มีคุณลักษณะเหมือนกับสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) นั่นคือเป็นแหล่งขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ที่ผ่านมา Ethereum มีข้อด้อยที่ Bitcoin เหนือกว่าคือจำนวนซัพพลายที่ไม่จำกัดสามารถผลิตขึ้นมาได้เรื่อยๆ จากการขุด ขณะที่ Bitcoin มีกระบวนการของการ Halving ซึ่งจะลดจำนวนซัพพลายใหม่ลง จึงทำให้เกิดคุณประโยชน์ในแง่ของความหายาก (Scarcity)

แต่การอัพเกรดเวอร์ชั่นล่าสุดของ Ethereum ทำให้เกิดกลไกที่จะช่วยลดซัพพลายของ Ethereum ลงจากเดิมที่นักขุดสามารถขุด Ethereum ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มมีการเผาเหรียญ ETH เกิดขึ้นจากก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกลไกดังกล่าวมาก่อน

ผลที่จะเกิดขึ้นคือซัพพลายของ ETH ในตลาดจะเริ่มลดลงเพื่อไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อรวมถึงปัญหาในการปั่นค่าธรรมเนียมหรือ Gas จะลดลง หากค่าธรรมเนียมลดลงจะเป็นแรงดึงดูดให้นักพัฒนาและผู้ใช้งานหันกลับมาใช้งานเชน Ethereum มากขึ้น หลังช่วงที่ผ่านมาได้มีเชนอื่นที่เกิดใหม่ชูจุดขายของอัตราค่าธรรมเนียมที่ถูกมาชิงส่วนแบ่งไป

ขณะที่ทางฝั่งดีมานด์ ปัจจุบันกระแสของการเงินแบบไร้ตัวกลางหรือ DeFi รวมถึง NFT กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก DeFi Pluse ระบุว่ามูลค่าตลาดหรือเม็ดเงินที่อยู่ในตลาด DeFi เคยขึ้นไปถึงระดับสูงสุด 90,000 ล้านดอลลาร์  ส่วนปัจจุบัน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ลดลงมาอยู่ระดับ 75,000 ล้านดอลลาร์ แต่หากดูอัตราการเติบโตจะเห็นว่ามีการเติบโตที่รวดเร็วอย่างมากตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
 
ขณะที่ NFT เป็นกระแสที่เติบโตรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2021 ที่ผ่านมาโดย The Block รายงานวอลลุ่มการซื้อขาย NFT รายสัปดาห์ ทะลุระดับ 300 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก โดยอยู่ที่ระดับ 339 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% จากกลางเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีวอลลุ่มการซื้อขายรายสัปดาห์ของ NFT ที่ 209.27 ล้านดอลลาร์ 
 
ทั้ง DeFi และ NFT ต่างเป็นเทคโนโลยีที่พึ่งพา Smart Contract ของ Ethereum แต่ช่วงที่ผ่านมาปัญหาการทำงานที่ล่าช้าและค่าธรรมเนียมที่สูง ทำให้นักพัฒนาหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง Binance Smart Chain,Polygon Network,Solana ฯลฯ

หาก Ethereum สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ก็จะทำให้นักพัฒนาทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่ายังคงใช้โครงสร้างพื้นฐานของ Ethereum ในการพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดดีมานด์ของเหรียญขึ้น

ตามหลักเศรษฐศาสตร์เมื่อซัพพลายลดลงแต่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นราคาในกระดานก็มีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ รวมถึงการมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญคือ Ethereum จะเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม มาเป็นวิธีการ Staking แทนที่รูปแบบการขุด ทำให้นักลงทุนที่ต้องการรายได้แบบ Passive Income สามารถนำเหรียญ ETH มาวางไว้ในระบบเพื่อรับรายได้จากส่วนแบ่งของค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้ซัพพลายในตลาดลดหายไปแล้วยังเพิ่มทางเลือกในการลงทุนได้อีกทางหนึ่ง

จากปัจจัยทั้งหมดนี้จะผลักดันให้ Ethereum มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีอนาคตเช่นเดียวกับ Bitcoin ภายใต้คอนเซบท์ของการเป็น World Computer และเป็นโครงสร้างพื้นฐานของแอปพลิเคชั่นยุคใหม่ ซึ่งมีศักยภาพสูงในการสร้างผลตอบแทนการลงทุน

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น