xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : บานาน่า ป๊อบ-อัพ สโตร์ ช้อปของไอทีในยามยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ป๊อบ-อัพ สโตร์ (POP-UP STORE) เป็นโมเดลการเปิดสาขาชั่วคราว สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการทดลองตลาดในพื้นที่ต่างๆ เพื่อศึกษาพฤติกรรมลูกค้าหรือความถี่ในการใช้บริการ ก่อนจะตัดสินใจเปิดสาขาถาวร แต่ในสถานการณ์โควิด-19 ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าปิด ให้บริการเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาเท่านั้น จึงได้เห็นสาขาชั่วคราวตามพื้นที่ต่างๆ

เช่นเดียวกับ ร้านบานาน่า ป๊อบ-อัพ สโตร์ (BaNANA POP-UP STORE) ของ บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดให้บริการในเต็นท์ชั่วคราว อาคารพาณิชย์ ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ หลังร้านบานาน่าทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการต่างๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่อย่างใด


ประเดิมให้บริการแห่งแรก ที่บริษัท คอมเซเว่น สำนักงานใหญ่ ถนนสรรพาวุธ เขตบางนา กรุงเทพฯ ก่อนจะขยายไปยังสาขาต่างๆ ปัจจุบันร้านบานาน่า มีสาขาป๊อบ-อัพ สโตร์ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 16 แห่ง ต่างจังหวัด 11 แห่ง รวม 27 แห่ง ครอบคลุมหัวเมืองหลักในพื้นที่สีแดง 29 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนอีก 48 จังหวัด หน้าร้านยังเปิดให้บริการตามปกติ


ร้านบานาน่า ป๊อบ-อัพ สโตร์ จำหน่ายสินค้าแอปเปิล สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไอที บริการติดฟิล์มกันรอย และบริการรับ-ส่ง ซ่อมสินค้า หรือกรณีสินค้ามีปัญหา เหมือนร้านบานาน่า เพียงแต่ว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ชั่วคราว ในช่วงที่สาขาในห้างและศูนย์การค้าปิดตามคำสั่งของภาครัฐ เวลาเปิดทำการตั้งแต่ 10.00-19.00 น. (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ ปิด 18.00 น.)


รูปแบบการให้บริการ พนักงานสวมหน้ากากอนามัยตลอดการให้บริการ บริการแอลกอฮอลล์ภายในงานและทำความสะอาดทุกจุดสัมผัส พร้อมด้วยมาตรการเว้นรักษาระยะห่างทางสังคม พื้นที่โล่งไม่แออัด อากาศปลอดโปร่ง จำกัดจำนวนลูกค้าเข้าเลือกสินค้า รวมทั้งลดการสัมผัส ชำระผ่าน QR Code แทนเงินสด และบริการ Drive Thru รับสินค้าโดยไม่ต้องลงจากรถ


นอกจากการเปิดป๊อบ-อัพสโตร์แล้ว ร้านบานาน่ายังมีบริการรองรับพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ 1. บริการผู้ช่วยช้อปผ่านไลน์ @bananaassistant 2. บริการ Click & Collect ผ่าน POP-UP Store ที่ให้บริการ และ 3. ชอปออนไลน์ 24 ชั่วโมง ส่งฟรีไม่มีขั้นต่ำที่เว็บไซต์ www.bnn.in.th มุ่งหวังที่จะอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า เนื่องจากสินค้าไอทียังจำเป็นในชีวิตประจำวัน


จากสภาวะเศรษฐกิจซึ่งมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบของโควิด-19 คอมเซเว่นจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อรักษาและคงการเติบโตของรายได้จากหน่วยธุรกิจต่างๆ ในขณะที่หาแนวทางในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อคงกระแสเงินสดและความสามารถในการทำกำไร

คอมเซเว่นยังคงมีแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง และยังคงมองโอกาสเพิ่มช่องทางการขายอื่นๆ เช่น การขยายเปิดร้านป๊อบ-อัพสโตร์ทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการปิดหน้าร้าน, การเปิดร้านแบบสแตนด์อะโลน, การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อเพิ่มยอดขายออนไลน์, การจำหน่ายสินค้าแบบ Click & Collect และ Drive Thru เพื่อกระจายความเสี่ยง


ย้อนกลับไปในช่วงล็อกดาวน์ไตรมาส 2/2563 มีการปิดร้านจำหน่ายสินค้าและศูนย์บริการรับซ่อมสินค้าและบริการ ที่เปิดให้บริการภายในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตีมอลล์ บางร้านเป็นการชั่วคราว แม้ยอดขายลดลงจากการปิดสาขาตามมาตรการของรัฐ แต่ยอดขายก็เพิ่มกลับมาในเดือนที่เปิด เนื่องจากสินค้าไอทีจำเป็นในชีวิตประจำวัน

คอมเซเว่นยังคงมีการปรับตัวเพื่อรองรับการล็อกดาวน์ โดยการตั้งร้านสแตนด์อะโลนตามปั๊มน้ำมันหรือตามสถานที่ต่างๆ ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ เพื่อช่วยให้เข้าถึงสินค้าได้ง่าย ตามการปรับตัวของกลุ่มลูกค้า และนโยบายภาครัฐในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งปรากฎว่าได้รับผลตอบรับอย่างดี เพราะสะดวกในการซื้อ และลูกค้ายังมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าที่หน้าร้าน


ที่น่าสนใจก็คือ ผลประกอบการไตรมาส 2/2564 มีรายได้รวม 11,562.4 ล้านบาท มากกว่าไตรมาส 2/2563 อยู่ที่ 48.7% กำไรขั้นต้น 1,549.7 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 63.9% และกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก่วงเดียวกันของปีก่อน 113.9% โดยพบว่ารายได้หลักมาจากธุรกิจค้าปลีก 92.4% และช่องทางจำหน่ายอื่นๆ 7.6%

ผลจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ทั้งการขยายสาขา เปิดช่องทางจำหน่ายใหม่ ขยายธุรกิจในรูปแบบที่เกี่ยวข้องต่างๆ ประกอบกับการจัดการบริหารร้านค้า การคัดเลือกสินค้า อีกทั้งมาตรการเวิร์คฟอร์มโฮมและเรียนออนไลน์ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับทำงาน เรียน และติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เกิดความต้องการสินค้าไอทีเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว


เมื่อสินค้าไอที ผู้บริโภคต้องการเห็นสินค้าแบบจับต้องได้ และเปรียบเทียบคุณสมบัติก่อนซื้อ ซึ่งการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทำได้เพียงจำกัด น่าสนใจว่า โมเดลร้านบานาน่า ป๊อบ-อัพ สโตร์ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าไอทีได้ง่ายขึ้น แม้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าปิดให้บริการชั่วคราวก็ตามแล้ว นี่อาจเป็นช่องทางสร้างรายได้ทดแทนอีกทางหนึ่งด้วย

หมายเหตุ : คอลัมน์ Ibusiness review ขอหยุดตีพิมพ์ 1 ครั้ง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ (วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) และจะกลับมาพบกับคุณผู้อ่านอีกครั้ง ประมาณวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2564

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น