xs
xsm
sm
md
lg

‘นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์’ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตพิชิตโรคร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

อดีตหมอผ่าตัดหัวใจและผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ปัจจุบัน ในวัย 69 ปี ทำงานหลังเกษียณเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ที่สถาบัน Well ness we care มวกเหล็ก สระบุรี


ในวัย 55 ปี เคยเผชิญวิกฤติเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อีกทั้งมีไขมันในเลือดสูง เป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ มีความดันสูงด้วย แต่คุณหมอเลือกที่จะไม่สวนหัวใจ ไม่ทำบอลลูน ไม่ทำบายพาส ทว่า มุ่งมั่นจริงจังที่จะหายจากโรคร้ายด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ทั้งวิถีการกินอาหารที่ลดเนื้อสัตว์และการใช้น้ำมัน การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมซึ่งย่อมต้องการเวลาพักผ่อน คุณหมอจึงถึงขั้นขอเปลี่ยนแผนกและลาออกจากการเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนที่เพิ่มมากขึ้น การดูแลตัวเองอย่างดี ทำให้คุณหมอเอาชนะโรคร้ายได้ในที่สุด

IBusiness สัมภาษณ์พิเศษ ‘นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์’ อดีตหมอผ่าตัดหัวใจและปัจจุบันเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ให้ความรู้ผู้คนมากมายผ่านงานสอน งานเขียน และบทความที่มีคุณค่า เพื่อถามไถ่ถึงองค์ความรู้ที่คุณหมอมีอยู่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อเอาชนะโรคร้าย

>>> ‘โรคหัวใจขาดเลือด’ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเอาชนะโรค

เมื่อถามว่า ทราบมาว่านายแพทย์สันต์เป็นคุณหมอผ่าตัดหัวใจที่เคยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด มีไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ อีกทั้งมีความดันสูงด้วย แต่คุณหมอเลือกที่จะไม่สวนหัวใจ ไม่ทำบอลลูน ไม่ทำบายพาส แต่ใช้วิธีเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต วิถีการกินอาหาร อยากให้ช่วยแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ว่าเป็นมาอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “จริง ๆ แล้ว พื้นฐานของโรคนี้ เรายังไม่รู้วิธีการรักษา ไม่ว่า ยา การผ่าตัด การทำบอลลูน ไม่ใช่วิธีรักษาให้โรคหาย เป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้การเจ็บหน้าอกมันทุเลาเท่านั้นเอง แต่ว่ามีงานวิจัยอยู่บางชิ้นที่ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรคได้ดี โรคที่จะเป็นก็ไม่เป็น หรือโรคที่เป็นแล้วก็ถอยกลับไปได้ ผมก็นำเอาความรู้ตรงนี้แหละมาใช้กับตัวเอง คือ มุ่งหน้าจัดการปัจจัยเสี่ยงของโรค ซึ่งมันก็มีเรื่องหลักๆ อยู่ 3-4 เรื่อง เรื่องหลักๆ ที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องอาหาร เพราะอาหารมันเป็นตัวกำหนดไขมันในเลือด กำหนดความดันเลือดด้วย

ประการที่สองคือ การออกกำลังกาย เป็นตัวกำหนดสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

ประการที่สามคือเรื่องความเครียด เป็นตัวกำหนดสุขภาพของหลอดเลือดเหมือนกัน เพราะหลอดเลือดนี่ 80% ควบคุมโดยระบบประสาทอัติโนมัติซึ่งสัมพันธ์กับความเครียด ทั้งสามประการนี้เป็นเรื่องหลักๆ

จริง ๆ ผมจัดการสองอันแรก เพราะตอนที่ป่วย ผมยังไม่ได้โฟกัสที่เรื่องความเครียดสักเท่าไหร่ ผมเปลี่ยนเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย มันก็ดีขึ้น แล้วก็มาเพิ่มเรื่องการดูแลเรื่องความเครียดเข้าไปด้วย ซึ่งเมื่อดูแลอย่างนี้แล้ว อย่างจริงจัง ตัวชี้วัดต่าง ๆ ก็ดีขึ้น ตัวชี้วัดก็หมายถึงว่า ความดันเลือดที่เคยสูงถึง 168 ก็ลงมาตอนนี้ต่ำกว่า 120 ส่วนไขมันที่เคยสูง ไขมันรวมสูงถึง 260 กว่า ก็คือพวกคอเลสเตอรอล ผมเอง วัดครั้งล่าสุดเหลือ 150 กว่า ก็ลดน้อยลงมา

ที่เคยลงพุงก็หาย น้ำหนักลดลงมา ความอ้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของกลุ่มโรคหลอดเลือดนะ เพราะฉะนั้นหลักใหญ่ จริงๆ ที่ผมใช้ก็คือ การโฟกัสที่ปัจจัยเสี่ยงของโรคผ่านการกินอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด” นายแพทย์สันต์ระบุ

เมื่อถามถึงรายละเอียดของอาหารที่เคยทานก่อนหน้า แล้วหลังจากเปลี่ยนแปลงอาหารการกินนั้น เปลี่ยนอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า อาหารสมัยก่อน มีไขมันสูงแล้วส่วนใหญ่เป็นไขมันจากเนื้อสัตว์ เพราะว่าพูดง่ายๆ ผมเป็นคนกินเนื้อ สมัยทำงานอยู่เมืองนอกก็กินกันแต่เนื้อ เนื้อมันเยอะ

ประการที่หนึ่ง คือ ผมลดการทานเนื้อสัตว์ลงไปเยอะมาก จนแทบจะไม่มีเลย

ประการที่สอง ลดการใช้น้ำมัน คนไทยชอบใช้น้ำมันในการผัดทอด ผมก็ใช้วิธีใหม่ ใช้น้ำแทน ใช้ลมร้อนแทน

ส่วนประการที่สาม เพิ่มปริมาณผักผลไม้เข้ามาแทน ซึ่งมีแคลอรี่ต่ำ และมีวิตามิน เกลือแร่ ซึ่งลดการอักเสบของหลอดเลือดได้ เป็นอันรู้กันว่าผักผลไม้ลดความดันเลือดได้ ลดการอักเสบในร่างกายได้ ข้อนี้วงการแพทย์ยอมรับ ว่าการกินผักผลไม้ เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกายแน่นอน ทั้งในแง่ลดโรคหลอดเลือด ทั้งในแง่ลดโรคมะเร็งด้วย

“ส่วนต่อมานั้น ปกติผมจะดื่มเครื่องดื่มใส่น้ำตาล เป็นวิถีชีวิตเลย น้ำอัดลม วันหนึ่งๆ ผมดื่มเยอะมาก ไม่ดื่มน้ำเปล่า จะดื่มแต่น้ำอัดลม ซึ่งผมก็เลิกหมด เครื่องดื่มใส่น้ำตาล แม้กระทั่ง กาแฟที่เคยใส่น้ำตาลใส่ครีม ผมก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟดำ น้ำตาลจะมีผลเสียอะไรมาก วงการแพทย์ ก็ยังรู้ไม่ชัด แต่ว่าแคลอรี่ทำให้เกิดผลเสียแน่นอน เพราะน้ำตาลก็เป็นแคลอรี่ที่ไม่มีประโยชน์อื่น ๆ ไม่เหมือนผักผลไม้ ที่มีแคลอรี่และมีเกลือแร่ ไวตามินติดมาด้วย มีของดีติดมาด้วยเยอะ

เพราะฉะนั้น สาระหลักของผมในการเปลี่ยนอาหารคือ ลดเนื้อสัตว์ลงเหลือน้อยมาก สองไม่ใช้น้ำมันในการผัดทอด อาหาร สามใช้ผัก ผลไม้เข้ามาแทน สี่ เลิกเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลทุกชนิด ยกเว้นน้ำปั่นผลไม้ที่มีความหวานตามธรรมชาติ โดยจะไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเข้าไป ถ้ามันเปรี้ยว ก็นำผลไม้ที่มีรสหวานเติมเข้าไปก่อนปั่น” นายแพทย์สันต์ระบุถึงการเปลี่ยนวิถีการกิน



>>> เลิกเป็นผู้บริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ เพิ่มเวลาการพักผ่อน เพื่อการออกกำลังกายที่ดีขึ้น

เมื่อถามถึงเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในการเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง ทำอย่างไรบ้างนั้น

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “การออกกำลังกาย ความยากของมันอยู่ที่การจัดเวลาให้ตัวเอง เพราะวิถีชีวิตเดิม ผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจด้วย เป็นผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไทสองด้วย มันทำงานเยอะเกินไป เมื่อเรามีชั่วโมงทำงานมาก โอกาสที่จะได้นอนหลับก็น้อย เมื่อเรามาออกกำลังกาย ร่างกายมันรับไม่ได้ เพราะมันต้องการการนอนหลับ มันก็ทำไม่สำเร็จ ผมใช้เวลาถึงหกเดือน กว่าจะออกกำลังกายได้สำเร็จ ปัญหาใหญ่ก็คือว่า มันไม่มีเวลาที่จะให้ตัวเองได้นอนพักผ่อน เพราะการออกกำลังกายมันต้องมีการนอนหลับที่เพียงพอ มันลืมตาไม่ขึ้น เราก็รู้สึกว่าเสียงานเสียการ ผมก็เลยไม่ได้ออกกำลังกาย” นายแพทย์สันต์ระบุ

นายแพทย์สันต์กล่าวว่า ถึงที่สุด ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนงาน เลิกเป็นผู้บริหาร เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ แล้วเปลี่ยนมาเป็นหมอป้องกันโรคแทน เพื่อจะให้ตัวเองเปลี่ยนแปลงชีวิตได้สำเร็จ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการออกกำลังกายคือจัดสรรเวลาให้สำเร็จ ที่ผมล้มเหลวอยู่หกเดือนแรก ผมพยายามที่จะใส่การออกกำลังกายเข้าไปในชีวิตเดิมๆ ตื่นแต่เช้า ทำงานถึงสามทุ่มกลับบ้าน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ ถึงจัดเวลาให้ได้ ที่ทำงานจัดเวลาให้ แต่เราทำไม่ได้ เพราะร่างกายได้นอนแค่ห้าชั่วโมง

เพราะฉะนั้น การจะออกกำลังกายให้สำเร็จ ต้องเปลี่ยนตารางชีวิตก่อนเป็นอันดับแรก ต้องมีอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงสำหรับการออกกำลังกาย และมีอีก 2 ชั่วโมง สำหรับการนอนหลับที่มากขึ้น ดังนั้น ต้องมีอย่างน้อย 4 ชั่วโมง คนส่วนใหญ่เขาจะรู้สึกว่าเป็นไปไม่ได้ ชีวิตเขาเหมือนขึงพืดไว้ ไม่มีเวลา ไม่มีทางขยับได้เลย ถ้าตกอยู่ในตาอับแบบนั้นก็จบข่าว ไม่มีทางที่จะโงหัวขึ้นมาได้ มันจะต้องจัดเวลาให้ได้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการออกกำลังกาย ส่วนเมื่อได้เวลามาแล้วจะทำยังไงก็ได้ ออกไปเดินตามหมู่บ้านก็นับว่าดีแล้ว

>>> เมื่อคิดจะเปลี่ยนวิถีชีวิตเอาชนะโรคร้าย ต้องเด็ดขาด

ถามว่าเพราะเหตุใดนายแพทย์สันต์จึงเด็ดขาดถึงขั้นเปลี่ยนแผนกเลย

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “เพราะผมเป็นโรคที่จะตายเมื่อไหร่ก็ได้ เราเป็นหมอรักษาโรคเรารู้ คือเมื่อเราปฏิเสธวิธีรักษามาตรฐานที่ทำกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วเรามาหาเส้นทางใหม่ ถ้าเราไม่จริงจังกับเส้นทางนี้ มันจะไปรอดเหรอ มันไปไม่รอดหรอกถ้าเราไปผูกตัวเองกับหน้าที่การงานเดิมๆ ตารางเวลาชีวิตเดิมๆ มันไม่เวิร์ค”

ถามว่าการออกกำลังกายของคุณหมอทำอย่างไรบ้าง

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “ผมออกกำลังกายเพื่อรักษาโรคหัวใจ ก็ออกกำลังกายแบบที่ว่าเน้นแอโรบิคนะครับ หลักง่าย ๆ ก็คือทำยังไงก็ได้ให้เราเคลื่อนไหวจนเหนื่อย แล้วหลอดเลือดหัวใจทำงานมากขึ้น

นิยามง่ายๆ ว่า เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ได้ ทางการแพทย์ถือว่าหนักพอควร Moderate intensity ถ้าหนักมากนิยามว่าเหนื่อยจนพูดไม่ได้ นั่นก็มากเกินความจำเป็น ถ้าเบาคือยังร้องเพลงได้ เช่น กวาดบ้าน ถูกบ้าน นั้นยังเบา น้อยเกินไป

ถ้าเดินก็ต้องเดินเร็ว ผมทำหลายอย่าง ซื้อจักรยานมาปั่นออกไปข้างนอก ไปล้มอยู่ข้างนอกบ้าน โอ ไม่ไหว เสี่ยง เลิก ก็เปลี่ยนมาวิ่งจ๊อกกิ้งรอบหมู่บ้าน หมาไล่กัด ทะลาะกับหมาอีก คือ ท้ายที่สุดก็เป็นการออกกำลังกายอยู่ในบ้าน ไม่กี่ตารางวา วิ่งอยู่กับที่ กระโดดเชือกบ้าง สลับกับการใช้เครื่องออกกำลังกาย ดัมเบล สายยืดเส้น ไม้กระบองอีกอันหนึ่ง ก็เป็นการออกำลังกายผสมผสานกันระหว่างแอโรบิค กับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำอยู่ในบ้านนั่นแหละ วันหนึ่งสักชั่วโมงหนึ่ง แล้วประเด็นสำคัญก็คือเมื่อย้ายมาทำในบ้านก็เริ่มขี้เกียจ เพราะมันไม่เป็นกิจลักษณะ ผมก็เลยสร้างกฎใหม่ว่า ตื่นขึ้นมาถ้าไม่ออกกำลังกาย ห้ามแปรงฟัง เพราะถ้าเราแปรงฟังแล้ว เราก็มักจะไปทำอะไร ต่ออะไร ก็ไม่ได้มีโอกาสออกกำลังกายแล้ว แต่ถ้าเราไม่แปรงฟัน เราออกนอกบ้านไม่ได้ มันล็อคเราไว้

ดังนั้น ถ้าผมออกกำลังกายไม่เสร็จ ผมไม่แปรงฟัน การออกกำลังกายของผมเริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่ลุกจากเตียง จริงๆ ตั้งแต่ตื่นนอนผมก็ทำกายบริหาร ออกกำลังกายอยู่บนเตียงแล้ว ลงจากเตียงก็ทำ ทำท่ากายบริหาร ออกกำลังกายข้างเตียงก่อนประมาณ 15 นาที ถึงจะไปห้องน้ำ หลังจากนั้น ก็ออกกำลังกายต่อ บังคับตัวเองให้ออกกำลังกายให้เสร็จก่อนจะเริ่มชีวิตของวันใหม่ อันนั้นคือภาคปฏิบัติว่าทำยังไงให้มันเวิร์ค

ผมก็เคยนะ ไปโรงยิมชั้นดี แล้วเค้าก็มาต้อนรับอย่างดีเลย แต่ไม่ได้ใช้หรอก มันไม่เวิร์ค ไม่เหมาะกับวิถีชีวิตในกรุงเทพ เพราะว่าไปโรงยิมก็ต้องขับรถไป พิธีการเยอะต้องมีคนมาต้อนรับ โอ้ย มันไม่ใช่” นายแพทย์สันต์หัวเราะเสียงดัง ก่อนย้ำว่าออกกำลังกายในบ้านนั่นแหละดีที่สุด

>>> ตัวชี้วัดต่างๆ ดีขึ้น ความสำเร็จหลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต

เมื่อถามว่า ทั้งการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายแล้ว ใช้เวลานานไหมกว่าที่โรคหัวใจขาดเลือด และความดัน หรือระดับไขมันต่างๆ ดีขึ้น

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “คือผมจะพูดถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนวิถีชีวิตก่อนนะ ความสำเร็จในการเปลี่ยนอาหาร มันสำเร็จในชั่วข้ามวันเพราะมันง่าย เดิมทีมื้อค่ำ ผมจะเปิดตู้เย็นเอาบัตเตอร์เค้กออกมากิน ภรรยาต้องเตรียมไว้ให้ทุกวัน แต่พอผมเปลี่ยนอาหารผมสั่งห้ามนำเค้กเข้าบ้าน ง่ายเลย เห็นไหม พอไม่มีเค้กผมก็ไม่ต้องกิน ห้ามซื้อน้ำมันเข้ามาในห้องครัว การเปลี่ยนอาหารเป็นอะไรที่ง่ายที่สุด ทำได้แค่ชั่วข้ามวัน มีงานวิจัยนะครับ ว่างดอาหาร เปลี่ยนมาเป็นพืชจะมีผลต่อการลดความดันอย่างมีนัยสำคัญได้ในเวลาแค่สองสัปดาห์ ความดันก็เปลี่ยนแล้วตามหลักการเปลี่ยนอาหาร


ส่วนที่ยากที่สุดคือการออกกำลังกาย เพราะมันไปสัมพันธ์กับตารางการใช้ชีวิต และสัมพันธ์กับวินัยต่อตัวเองด้วยใช่ไหม ซึ่งถ้าเราไม่ได้ฝึกวินัยต่อตัวเองมา ก็ต้องมาเหนื่อยอีกหลายเท่า ต้องมาเข็น ผมใช้เวลาส่วนนี้ถึงหกเดือน แล้วพอออกกำลังกายได้ 6 เดือน ตัวชี้วัดมันเปลี่ยนหมด คือผมหยุดกินยาตั้งแต่เดือนที่ 2 หลังจากป่วย พอเข้าสู่เดือนที่ 6 ตัวชี้วัดกลับมาปกติหมด ทั้งไขมันในเลือด และความดันเลือดที่สำคัญที่สุด

เพราะวงการแพทย์ถือว่าตัวชี้วัดสำคัญที่สุดในการประเมินได้แม่นที่สุดว่าใครจะอายุสั้น ใครจะอายุยืน คือความดันเลือด ใครความดันเลือดสูงเอาปูนหมายหัวได้เลยว่าอายุไม่ยืนแน่นอน ดังนั้น ความดันเลือดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุด

ไขมันในเลือดก็เป็นตัวชี้วัดรองลงมา น้ำหนักตัวก็เป็นตัวชีวัดที่สำคัญ ปัจจัยคือน้ำตาลในเลือด ผมโชคดี น้ำตาลในเลือดไม่สูงมาก แต่ที่สูงคือความดัน ไขมัน น้ำหนัก ในตอนแรก พอหกเดือน เราเริ่มเห็นว่าชีวิตมันดีขึ้น อาจเพราะเราลดการทำงานลงด้วย ได้นอนเต็มที่ และอาการที่เคยเป็นมันหายไป เพราะว่าก่อนที่ป่วยเดินเร็วๆ ไม่ได้ แน่นหน้าอก โมโหใครไม่ได้ แน่นหน้าอก คราวนี้ เรารู้ว่าถ้าเราไม่หยุดเกรี้ยวกราด เราคงจะตาย อาการเหล่านั้นก็หายไป วิ่งจ๊อกกิ้งได้ เดินขึ้นภูกระดึงก็ขึ้นได้ แก่ๆ นี่ ผมก็ขึ้นได้ ทุกวันนี้ ผมก็เดินทุกเช้าครั้งละ 3-4 กิโลเมตร ทั้งหมดใช้เวลา 6 เดือน ตัวชี้วัดเป็นไปในทางที่ดี” นายแพทย์สันต์ระบุ

>>> เรียนรู้การจัดการความเครียดไปพร้อมกับคนไข้

เมื่อถามถึงอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงคือความเครียด ว่าคุณหมอจัดการกับความเครียดอย่างไร

นายแพทย์สันต์ตอบว่า “กรณีของผม ผมไม่ได้ตั้งต้นที่ความเครียด ผมโฟกัสที่อาการและการออกกำลังกาย แล้วก็โรคมันจะดีขึ้นเมื่อออกกำลังกายได้ มันเป็นเพราะว่าผมสังเกตว่า เมื่อออกกำลังกายได้ มันก็ไม่เครียด เพราะการออกกำลังกายมันคลายเครียดในตัวของมันเอง และการออกกำลังกายมันบังคับให้เราต้องนอนหลับ เมื่อเราได้หลับเต็มตามันก็ไม่เครียด

ผมมายุ่งกับความเครียดต่อเมื่อหลังจากผมเปลี่ยนการกินอาหหาร และออกกำลังกายได้ดี ผมก็เลิกเป็นหมอผ่าตัดหัวใจแล้วมาสอนคนไข้ดีกว่า แล้วผมก็เริ่มสอนคนไข้ในแคมป์บ้าง สอนที ครั้งละ 20-30 คน ผมจึงมาเจอว่าปัญหาส่วนใหญ่ของคนไข้มาจากความเครียด ผมก็เลยคิดว่าจะสอนให้เขาจัดการกับความเครียดได้อย่างไร

ความเครียดมาจากความคิดของคนไข้เอง การจะให้เขาวางความคิดได้ ก็ต้องมีเทคนิค ผมก็ต้องไปปฏิบัติธรรม ไม่พูดไม่จา สิบวัน ผมก็ไปเพื่อเรียนรู้ว่าทำอย่างไรกับการปล่อยวางความคิด สุดท้ายก็ต้องทำเอง เพื่อนำเอามาสอนคนไข้

พอทำไป เราก็พอจะจับทางได้ว่า ถ้ามีเทคนิควางความคิดเพื่อคลายเครียด วิธีการที่เขาทำกันคือนั่งสมาธิ ผมจับประเด็นหลักๆ ที่จะทำให้เขาเอามาใช้ง่ายในชีวิตประจำวัน

ข้อหนึ่ง เขาจะต้องดึงความสนใจมาอยู่ที่ลมหายใจ หรือความรู้สึกบนร่างกาย เป็นประจำ

ข้อสอง ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อต่างๆ ให้เป็น เพราะถ้าผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้ ความคิดมันจะแผ่วลงไป นอกจากนั้นคือข้อสาม เขาต้องฝึกรับรู้ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนร่างกาย คือ attention เรา attention กับความรู้สึกบนร่างกาย การจมอยู่กับความคิดก็น้อยลง

เทคนิค 1-3 ข้อนี้ คือสิ่งที่ผมใช้กับคนไข้ ผ่านกิจกรรมนั่งสมาธิ รำมวยจีน ทำโยคะด้วยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ทำกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ ให้ความสนใจอยู่กับลมหายใจ รับรู้ความรู้สึกของร่างกายแล้วก็ผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกาย หลักใหญ่ๆ ก็มีเท่านี้ เขาทำตามแล้วก็ได้ผลดี เพราะหลักใหญ่ๆ ก็ง่ายๆ

ถ้าเขาหงุดหงิด นอนไม่เต็มตา ขี้โมโห นั่นการจัดการความคิดจะยาก

คนที่มาเรียนกับผมมีทั้งคนไข้โรคหัวใจและคนไข้ด้านจิตเวช ผู้กำกับภาพยนต์ คนทำงานด้านครีเอทีฟก็มี

ผมจะติดตามเคสเฉพาะคนไข้โรคหัวใจ ความดัน เบาหวานเรื้อรัง ซึ่งพวกเขาดีขึ้น เพราะงานวิจัยที่ฝรั่งทำไว้นั้นชัดเจน คนไข้บางคนเลิกยาเบาหวานได้ เลิกยาความดันได้ บางคนก็ไม่ต้องผ่าตัดแล้ว เพราะอาการหายไป

การเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต มันเป็นสัจธรรม ฝรั่งศึกษาไว้แล้ว เพียงแต่การเปลี่ยนนั้น คนเราจะเปลี่ยนได้หรือเปล่า ถ้าเปลี่ยนได้นั้น ดีแน่” นายแพทย์สันต์ระบุได้อย่างเห็นภาพวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับทั้งสุขภาพกายและใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น