xs
xsm
sm
md
lg

เยียวยาจิตใจ ด้วยการ ‘แดนซ์’ : ดุจดาว วัฒนปกรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

---ราวต้นหญ้าที่ไหวเอนด้วยแรงลม พลิ้วไหวอย่างไร้ทิศทางและกรอบเกณฑ์ใดๆ มากำหนด บางขณะคล้ายมีเรื่องราวที่ไม่อาจเอื้อนเอ่ยปรากฏขึ้นมาในห้วงลึก ก่อนดำดิ่งสู่ความเคลื่อนไหวอันอิสระเสรี ผ่อนคลาย ปล่อยจังหวะให้เลื่อนไหลไปตามเสียงดนตรีที่คลอเคล้า--- คือการเคลื่อนไหวของ ‘ดุจดาว วัฒนปกรณ์’ Dance Movement Psychotherapist คนแรกของเมืองไทย


เธอจบปริญญาตรี จากคณะวารสารศาสตร์ เอกสาขาวิทยุและโทรทัศน์ จากรั้วแม่โดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่มละคร B-Floor Theatre หลังจากนั้น ประมาณ 2 ปี เริ่มสนใจว่าร่างกายกับจิตใจทำงานร่วมกันอย่างไร จึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Dance Movement Therapy ที่ Goldsmiths University of London ที่อังกฤษ

เคยทำงานเป็นสหวิชาชีพ ที่คลินิกจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่น เป็นอาจารย์ สอนนักศึกษาด้านการละคร อีกทั้งมีบทบาทสอนเรื่อง Empathic Communication ให้บุคลากรทางการแพทย์ ในเครือ BDMS (เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ) กระทั่งเป็นผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce ที่สร้างพื้นที่ในการเข้าใจตัวเองและพัฒนาตัวเองให้กับผู้สนใจผ่านกระบวนการการรับฟังและศิลปะหลากรูปแบบ ทั้งยังคงทำ Empathic Communication Workshopให้องค์กรต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำ Podcast R U OK ที่พูดคุย สร้างการรับรู้ด้านจิตวิทยาได้อย่างน่าสนใจ

Ibusiness สัมภาษณ์พิเศษ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ Dance Movement Psychotherapist คนแรกของเมืองไทย เพื่อเจาะลึกถึงสิ่งที่อยู่ภายใต้การเคลื่อนไหวของเธอและกระบวนการในการทำงานอันหลากหลาย ที่ Dance Movement นำพาเธอไปพบเจอ ขยายต่อไปยังงานภาคส่วนต่างๆ ที่ล้วนสัมพันธ์กับการทำความเข้าใจต่อจิตใจที่เชื่อมโยงกับร่างกายอย่างแยกกันไม่ออก

>>> ณ ห้วงขณะ แห่ง Dance Movement

ถามว่า ดุจดาวรู้สึกอย่างไร รู้สึกอะไรตอนที่ Dance Movement เมื่อครู่นี้

ดุจดาวตอบว่า “รู้สึกยังไงเหรอ ดาวว่าดาวอนุญาตให้ร่างกายเคลื่อนไหว อย่างที่อยากจะเคลื่อน ดาวไม่ได้แพลนหรือหวังว่ามันต้องเป็นยังไง ดาวไม่ได้รู้สึกก่อนเคลื่อนไหว แต่เคลื่อนไหวไปแล้ว ดาวจึงเจอกับความรู้สึกต่างๆ มากมายที่มันอยู่ข้างในซึ่งในชีวิตประจำวันไม่มีพื้นที่ให้มันออกมามากนัก แล้วพอได้เคลื่อนไหว แหมือนได้สำรวจเข้าไปข้างใน ความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่าง มันทำให้เจอความรู้สึกหลายอย่างเหมือนกันเมื่อสักครู่”


ถามว่า ถ้ามีคนที่อยากทำแบบดุจดาวที่บ้าน หรืออยากเรียนศาสตร์แขนงนี้ ต้องเริ่มจากอะไร

ดุจดาวตอบว่า เราจะแยกก่อนว่า ถ้าอยากเรียนเพื่ออยากจะเป็นนักจิตบำบัดต้องไปเรียนสถานเดียว เรียนตามสถาบันการศึกษา แต่ทว่า ถ้าอยากจะแค่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อรู้เท่าทันตัวเอง เข้าใจตัวเองหรือทำงานกับจิตใจตัวเอง แบบนี้ สามารถทำได้เองที่บ้าน เพราะว่าจริงๆ มันเป็นการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ไม่มีแพทเทิร์น

ดุจดาวกล่าวว่า โดยปกติ เมื่อคนพูดถึงแดนซ์ มักต้องมีท่านี้ ท่านั้น ท่าหนึ่ง สอง สาม สี่ ซึ่งการทำแบบนั้นเราจะโฟกัสที่ความถูกต้อง แต่นี่กลับด้านกัน เราจะอนุญาตให้ร่างกายขยับยังไงก็ได้เลย แบบที่เราต้องฟังและเฝ้ามองว่าร่างกายเราขยับแบบไหน

“ร่างกายเราขยับตลอดเวลาอยู่แล้ว เรามีกะพริบตา พยักหน้า หายใจ คือร่างกายเราขยับอยู่แล้ว เราก็แค่หาพื้นที่ หาช่วงเวลาที่เราไม่ต้องกังวลอะไรเลย ไม่ต้องกังวลว่าทำท่านี้ใครจะมาว่า จะมาหัวเราะเยาะยังไง ก็หาพื้นที่ส่วนตัวที่ปลอดภัย หมายถึง ปลอดภัยทางกายและทางใจ

ปลอดภัยทางกายคือไม่ใช่เต้นๆ อยู่ แล้วนิ้วก้อยเท้าไปฟาดขอบเตียง หืม เจ็บ

ปลอดภัยทางใจ ไม่ใช่ว่าเรามูฟไปแล้วมีคนเปิดประตูเข้ามา ทำอะไรน่ะ! เอาที่เซฟค่ะ อาจมีตัวช่วยคือเพลงบรรเลงแบบที่ไม่มีเนื้อร้องช่วยได้ เพลงอะไรก็ได้ที่ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย แล้วเราอนุญาตร่างกายให้เคลื่อนไหวยังไงก็ได้ บางคนถาม เคลื่อนไหวยังไงเหรอ ยืนหายใจอยู่อย่างนั้นก่อนก็ได้ค่ะ แล้วก็ค่อยให้ลมหายใจมันพาไป แล้วค่อยๆ ให้ความรู้สึกมันพาไป สามารถให้ร่างกายปลดปล่อยก่อนแล้วเราก็แค่เฝ้าดู บางคนบอกความรู้สึกบางอย่างมันมาเต็มๆ ก็ Follow ความรู้สึกอันนั้นเลย จับอะไรได้ก่อน Follow อันนั้นเลย ไม่มีกฎ กฎอย่างเดียวคือไม่ทำร้ายตัวเอง” ดุจดาวระบุ

ดุจดาวกล่าวว่า ครั้งแรกๆ อาจรู้สึกสบายใจดีนะ แล้วก็จบ แต่เมื่อเราลองทำไปเรื่อยๆ ระหว่างเคลื่อนไหวลองสังเกตตัวเองไปด้วย หรือสังเกตเรื่องหรือท่าทางในเวลาเราเคลื่อนไหวเรามักมีจินตนาการบางอย่างแว่บเข้ามา เราก็จะค่อยๆ เข้าใจว่าข้างในร่างกายเรามีเรื่องอะไรวนเวียนอยู่ เพราะเมื่อไม่มีโจทย์จากข้างนอก ทุกอย่างที่เราทำ 100% มาจากข้างใน เราจะได้รู้ว่าข้างในเราแบกเรื่องอะไรไว้ แล้วก็อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกโดยไม่ตัดสินตัวเอง



>>> เยียวยาด้วยตนเองได้ที่บ้าน

เมื่อถามว่า มีคำกล่าวขานว่าดุจดาวเป็นคนเดียวในประเทศไทยที่เรียนมาทางด้านการบำบัดจิตด้วยการเคลื่อนไหว เช่นนั้นแล้ว การเรียนมาโดยตรง กับการทดลองทำเองที่บ้าน ต่างกันอย่างไรบ้าง

ดุจดาวตอบว่า ถ้าเราเรียนมาโดยตรงเราสามารถสร้างกระบวนการนี้ให้กับคนอื่นได้ เพราะเราเรียนมาโดยตรง เรียนเป็นนักจิตบำบัด ซึ่งมันคือกระบวนการเยียวยารักษาจิตใจ สามารถรักษาหรือบำบัดได้เลย เป็นหนึ่งในศาสตร์ของการแพทย์ทางเลือก ปกติแล้ว จิตบำบัดแบบคลาสสิก คือการนั่งพูดคุยกันใช่ไหมคะ แต่ต่อมาก็มีการใช้ศิลปะมาเป็นตัวช่วย แบบวาดรูป ปั้น อะไรก็ว่าไป มีการรักษาแบบใช้ศาสตร์การละครมาช่วย คือDramatherapy มีศิลปะทางด้านเสียงเพลง Music therapy มีเรื่องของการเคลื่อนไหว หรือมีการเล่น Play therapy มันมีค่อนข้างเยอะมาก การเยียวยารักษาโดยอิงกับทฤษฎีจิตบำบัด ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใช้ในงานคลินิกได้ ถ้าเรียนมาก็สามารถทำกระบวนการนี้ได้ แต่ว่าการเต้นมันเป็นการเยียวยาในตัวมันเองอยู่แล้ว เราสามารถทำมันได้ที่บ้าน โดยที่เราไม่ต้องคิดว่าต้องเยียวยาอะไร ไม่ต้องเป็นขั้นตอน 1 2 3 4 5

คือตั้งแต่เราเป็นยุคชนเผ่าเราก็เต้นกันแล้วน่ะค่ะ เราอยู่ในยุคปัจจุบันแล้ว เราสามารถที่จะใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย ปลดปล่อยอารมณ์บางอย่าง และเข้าใจตัวเองได้เหมือนกัน

ดังนั้น ถ้าสนใจ ว่าอยากไปเรียนก็สามารถไปเรียนมีการเทรนด์อย่างเข้มข้น และสามารถกลับมาเยียวยาใจผู้อื่น ซึ่ง 10 ปีที่แล้ว ดาวอาจจะเป็นคนเดียว ผ่านมา 5-6 ปีก็อาจจะเป็นคนเดียว แต่ตอนนี้อาจจะไม่ใช่คนเดียวแล้ว นี่คือข้อดีมาก เริ่มมีคนไปเรียน เริ่มมีคนจบมาแล้วค่ะ กำลังจะมีเพิ่ม มีหลายคนที่ดาวมีโอกาสได้เขียนจดหมายรับรองให้เขาไปเรียน แล้วเขาก็จะจบมาทำแบบนี้มากขึ้น

>>> ภาษาของร่างกาย

ถามว่า ในมุมของจิตวิทยา การเต้นในแง่นี้เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาอย่างไรบ้าง

ดุจดาวตอบว่า ในแง่จิตวิทยา มันมีทฤษฎีของจิตบำบัดอยู่แล้ว ให้เราเข้าใจว่าการที่เรามีพฤติกรรมบางอย่าง ตัดสินใจเลือกทำพฤติกรรมบางอย่าง มันมีที่มา แล้วเราก็มีกระบวนการค้นหาว่ามีอะไรในจิตใต้สำนึก มันมีแพทเทิร์นอะไรที่เรามักจะทำ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะใช้ภาษาพูดในการทบทวน แต่ศิลปะและตัวของภาษาร่างกายจะถูกนำเข้ามาเพราะว่าจะมีบางคนที่ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้ คือ ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นึกคำไม่ออก บางทีมันยากเหลือเกินสำหรับเขา ซึ่งงานศิลปะมันมาช่วยตรงนี้ งานศิลปะมันเป็นพื้นที่ที่ขยับออกไปอีก มันมีพื้นที่ให้สี ให้อะไรบางอย่างที่เราข้ามตัวหนังสือ ก้าวข้ามตัวภาษาไปเลยแล้วกัน

“ส่วนแดนซ์ มูฟเมนท์ มีคำว่ามูฟเมนท์ คือ มีภาษาที่เราก็ใช้ทุกวันแต่เราไม่ค่อยสนใจคือ ภาษาร่างกาย อวัจนภาษา ซึ่งสิ่งนี้เป็นภาษาแรกของมนุษย์อีก แต่เราไม่ค่อยฟังมัน มันอยู่กับเราตั้งแต่เราเกิดจนทุกวันนี้ เรานั่งแบบนี้ แบบนั้น แบบนี้ คือมันมีเหตุผลของตัวมันเองตลอดแล้วมันก็จัดการตัวมันเองตลอด ศาสตร์นี้คือ ถ้าเราอยากรู้เรื่องในใจ การเข้าใจผ่านภาษาความคิดบางคำทำได้ แต่ถ้าบางคนเป็นเด็กล่ะ แล้วภาษาเขาไม่แข็งแรง หรือแค่ขี้เกียจ สิ่งที่ตรงกว่าคือ ดูผ่านภาษาร่างกาย แล้วมันก็จะมีทฤษฎีบางอย่างเช่น การใช้ภาษาร่างกายแบบนี้ มัน link กับความมั่นใจ อัตลักษณ์ การใช้ภาษาร่างกายบางอย่างมัน link กับอะไร มันก็จะมีเรื่องของการวิเคราะห์ตรงนี้เพิ่มเข้ามาเพื่อให้เราได้พอส่องเข้าไปใกล้ๆ แล้วได้รู้ว่าลึกๆ ข้างในเราเป็นอย่างไร

และที่ดูภาษาร่างกาย จริงๆ ภาษาร่างกายแทบจะเป็นเพื่อนสนิทที่สุดกับจิตใจเรา มันแยกกันไม่ได้เลย กวนกัน ผสมกันเป็นแยมไปแล้ว การที่เราเคลื่อนไหวร่างกาย ทุกคนลองดูก็ได้ การที่เราเคลื่อนไหวผ่านไปสักพัก เราจะสัมผัสได้ถึงบางอย่างจากข้างในจริงๆ ในช่องท้อง ในกล้ามเนื้อของเรา มันทำให้เราเชื่อมโยงกับจิตใจได้ค่อนข้างมาก แล้วการฟังร่างกายของเรา ทำให้เราได้รู้ว่า อ๋อ เราแบกอะไรอยู่บ้าง” ดุจดาวระบุถึงการทำความเข้าใจเสียงหรือภาษาของร่างกาย


>>> Dance Movement กับการเยียวยาผู้ป่วยจิตเวช

เมื่อถามว่า ดุจดาวเคยทำงานร่วมกับแพทย์ การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการเยียวยาจิตใจนำไปใช้อะไรกับผู้ป่วยบ้าง

ดุจดาวตอบว่า “ตอนนั้นดาวมีคำถามนี้เหมือนกัน ดาวทำงานกับแพทย์ กับผู้ป่วยร่วมกัน ชื่อว่า ‘มีรักคลินิก’ เป็นคลินิกจิตเวชสำหรับเด็กและวัยรุ่น ตอนนั้น ที่นั่นใช้โมเดลที่ว่าผู้ป่วยหนึ่งคนจะเจอสหวิชาชีพที่หลากหลาย ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์ อาจจะรักษาเขาได้ไม่รอบด้าน ดังนั้น ดาวเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพ ที่จะคอยดูแลคนๆ นั้นร่วมกับจิตแพทย์

สิ่งที่แดนซ์ มูฟเมนท์ ช่วยได้ คือการทำความเข้าใจตัวเองผ่านร่างกาย ในเด็กและวัยรุ่น บางทีการให้นั่งคิด ก็ไม่เอื้อต่อเขา สิ่งนี้ก็ช่วยเขาได้ ตอนนั้นก็ทำงานเกี่ยวกับด้านอารมณ์ พัฒนาการด้านอารมณ์ พัฒนาการด้านการเข้าสังคม ควบคู่ไปกับอาการจิตเวชที่เขาพบกับแพทย์ อันนี้คือตอนมีรักคลินิก” ดุจดาวระบุ

ถามว่าการบำบัดผ่านร่างกาย เพื่อให้เขารู้จัก รู้สึกผ่านร่างกายตัวเอง เท่าทันความรู้สึกอย่างนั้นใช่หรือไม่

ดุจดาวตอบว่า “ใช่ค่ะ และเราออกแบบ Exercise ที่เพิ่มศักยภาพให้เขาในการรู้จักอารมณ์ รู้จักตัวเอง รู้จักระบบความคิด การตัดสินใจบางอย่าง แอคชั่น ผ่านมูฟเมนท์ บางทีก็ไม่ได้เต้นอิสระมากอย่างที่ดาวเต้นในคลิปเมื่อครู่ แบบนั้น นั่นคือคนที่สามารถอยู่กับตัวเองได้ ฟังดูเหมือนมันง่าย เต้นอะไรก็ได้ แต่บางทีมันก็ยากเกินไปสำหรับเด็กและวัยรุ่น บางทีเรามีไกด์ไลน์ให้เขา เล่นเป็นเกม ผ่านท่าทาง มันก็ช่วยบอกอะไรเราได้หลายอย่างเหมือนกันค่ะ” ดุจดาวระบุ

>>> เคยเป็นหนึ่งในสมาชิก B-Floor Theatre

ถามว่า ดุจดาวเคยทำงานละครกับกลุ่ม B-Floor Theatre ด้วย

ดุจดาวตอบว่า “ดาวเป็นสมาชิกกลุ่มบีฟลอร์ตั้งแต่ปี 2002 จริงๆ บีฟลอร์ มาก่อนเลย การทำงานกับบีฟลอร์ ทำให้ดาวอยากไปเรียน Dance Movement Psychotherapy นี่แหละค่ะ คือดาวทำละครเวทีตอนมหาวิทยาลัย คือไม่ใช่แค่ท่องบทให้ได้ เล่นให้ดี แต่ต้องรู้จักร่างกายทุกส่วนเพื่อควบคุมมันให้ได้ เมื่อเรียนจบมาก็ไปเข้ากลุ่มละครบีฟลอร์เธียเตอร์ ที่เขาไม่ค่อยใช้ภาษาพูด เขาใช้ภาษาร่างกายในการสื่อสารซึ่งมันตะโกนได้ดังกว่า ดาวก็ทำการฝึกอย่างหนัก อย่างเข้มข้นกับเขา ประมาณสัก 2 ปี แล้วดาวก็สนใจว่าร่างกายกับจิตใจทำงานยังไง เพราะพอมี Exercise ที่อิมโพรไวส์ด้วยร่างกาย มันเจอความรู้สึกหลายๆ อย่าง ที่อยู่ข้างในตัวเอง ก็เลยอยากรู้ว่าร่างกายกับใจ ใจกับร่างกายมันทำงานสลับไปสลับมายังไง ก็เลย ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Dance Movement Therapy ที่ Goldsmiths University of London ที่อังกฤษ” ดุจดาวย้อนความทรงจำให้ฟัง


>>> สิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับ Dance Movement therapy

ถามว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องแดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราพี ที่อังกฤษ

ดุจดาวตอบว่า “สิ่งที่รู้สึกว่าเปิดโลกมากและใกล้ตัวมาก คือ เราอาจคิดว่าต้องชวนให้คนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว จริงๆ เรานั่งอยู่เฉยๆ เราก็หายใจแล้ว มีอวัยวะตั้งหลายอย่างที่เคลื่อนไหวตอนหายใจ ดังนั้น แดนซ์มูฟเมนท์ เธอราพี ทำได้กับทุกคนแม้กระทั่งคนที่เป็นอัมพาต ถ้าเขายังหายใจอยู่ คือ มันขยายขอบเขตของคำว่าแดนซ์ สำหรับดาวไปแบบเยอะมาก

“การที่เราเดินทางจากบ้านไปรถใต้ดิน ไปเรียน ตลอดทางเราเต้นตลอด เดินๆๆ หลบซ้าย หลบขวาไปอีกทาง มันคือแดนซ์ ทุกคนเต้นอยู่ แล้วแดนซ์ที่เห็นอยู่บนเวทีนั่นก็เหมือนเป็นบทกวี ส่วนมูฟเมนท์ประจำวันเรามาต่อกัน มันไม่ได้ทำให้คนกลัวเต้น เต้นไม่ได้ เต้นไม่เก่ง เป็นมายาคติคนไทยมาก ต้องประดิดประดอย ต้องสวยงามถูกต้อง จริงๆ แดนซ์ คืออะไรก็ได้ แค่คุณขยับร่างกาย

“แล้วบางทีใน Session ของ แดนซ์ มูฟเมนท์ เธอราพี บางคนอาจรู้สึก ฉันไม่เห็นได้ลุกขึ้นมาเต้นแบบคุณดุจดาวเลย ฉันไม่เห็นได้แดนซ์ในเธอราพีเลย เค้าลืมไปว่า แค่เค้านั่งคุยกับดาวแบบนี้ เค้าพยักหน้าอยู่ กับวิธีการนั่งของดาว บางทีมันเหมือนเราเต้นด้วยกัน เค้าขยับ ดาวขยับ ดาวขยับ เค้าขยับ เราใช้ภาษาร่างกายคุยด้วยกันตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ดาวเรียนรู้และค้นพบว่า ทฤษฎีจิตบำบัดมันพาเราไปพบความเข้าใจบางอย่างอยู่แล้ว สิ่งที่เคยเกิดกับเราในอดีต มันส่งผลต่อการตัดสินใจ การรับรู้และการมองเห็นอย่างไรในปัจจุบัน

“การจะปรับความคิดในปัจจุบัน อาจจะต้องยูเทิร์นถอยไปดูนิดนึงว่าอะไรส่งผลมา ก็สนุกดี ทำให้รู้ว่า ไม่มีหลักคำสอน ความเชื่ออะไร อันหนึ่งอันเดียวที่ ก็ทำให้รู้ว่าถ้าคนๆ นี้ อยากทำอะไรสักอย่างกับตัวเอง คำตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับเธอราพิสท์ เธอราพิสท์เพียงช่วยประคับประคองค้นหาไปด้วยกัน ไม่ให้เคว้ง ไม่ให้หล่น แล้วก็ช่วยกันเฝ้าดูจนกว่าจะพบว่าเขาจะจัดการกับตัวเองยังไง” ดุจดาวระบุได้อย่างเห็นภาพของการทำงานเพื่อเยียวยาจิตใจผู้อื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น