xs
xsm
sm
md
lg

อีซีบีคลอดโครงการนำร่อง“ยูโรดิจิตอล” ญี่ปุ่นเสริมทีมคุมคริปโต-สเตเบิลคอยน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


อีซีบีเริ่มโครงการนำร่อง “ยูโรดิจิตอล” เพื่อตอบรับกระแสความนิยมในการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์และคริปโต
อีซีบีเริ่มโครงการนำร่องพัฒนา “ยูโรดิจิตอล” อย่างเป็นทางการเพื่อตอบรับกระแสความนิยมในการจ่ายเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์และคริปโต ขณะที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเล็งว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเพื่อพัฒนากฎที่เข้มงวดขึ้นสำหรับเงินดิจิตอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตเบิลคอยน์ ท่ามกลางคำเตือนของหน่วยงานกำกับดูแลทรงอิทธิพลทั่วโลก เช่น แบงก์ชาติจีนที่ระบุว่า สเตเบิลคอยน์เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบการเงินโลก

คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) แถลงเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า เป้าหมายของโครงการนำร่องคือ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีช่องทางเข้าถึงเงินในรูปแบบที่ปลอดภัยที่สุดในยุคดิจิตอลขณะนี้

ขั้นตอนการตรวจสอบเบื้องต้นจะกินเวลา 2 ปี โดยโฟกัสที่การออกแบบและตัวเลือกในการกระจายยูโรดิจิตอลก่อนตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่า จะเดินหน้าต่อหรือไม่

ก่อนหน้านี้อีซีบีเคยส่งสัญญาณว่า อาจใช้เวลา 5 ปีกว่าที่ยูโรดิจิตอลจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ ซึ่งหมายความว่า คงไม่มีการเปิดตัวก่อนปี 2026 ทั้งยังย้ำว่า ยูโรดิจิตอลไม่ได้มาแทนที่เงินสด แต่จะเป็นเวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเหรียญและแบงก์ โดยจัดเก็บในกระเป๋าสตางค์ดิจิตอล ซึ่งเป็นไปได้ว่า จะทำให้พลเมืองในยูโรโซนมีบัญชีกับอีซีบีโดยตรงเป็นครั้งแรก

ความท้าทายสำคัญจะอยู่ที่การรักษาสมดุลความต้องการความเป็นส่วนตัวกับกฎระเบียบป้องกันการฟอกเงิน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ยูโรโซนคงไม่สามารถใช้รูปแบบการไม่ต้องเปิดเผยตัวตนแบบเงินสดได้

นอกจากนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับแบงก์พาณิชย์ ฟาบิโอ พาเน็ตตา สมาชิกคณะกรรมการบริหารอีซีบี เผยว่า จะมีการจำกัดจำนวนอี-ยูโรในกระเป๋าเงินดิจิตอล เช่น จำกัดไว้ที่ 3,000 ยูโร

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นขณะที่ผู้วางนโยบายทั่วโลกกำลังสำรวจลู่ทางสำหรับสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี) เพื่อเป็นทางเลือกที่มีเสถียรภาพและปลอดความเสี่ยงแทนสินทรัพย์คริปโตอย่างบิตคอยน์

ธนาคารกลางหลายแห่งยังต้องการรับมือความต้องการตัวเลือกการชำระเงินระบบดิจิตอลขณะที่การใช้เงินสดลดลงต่อเนื่อง ซึ่งถูกกระตุ้นจากวิกฤตโรคระบาดที่ทำให้คนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัส

แบงก์ชาติจีนนั้นลุยทดลองใช้เงินหยวนดิจิตอลในหลายเมือง ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษตั้งทีมเฉพาะกิจศึกษาความเป็นไปได้ของ “บริตคอยน์”

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังคร่ำเคร่งวิจัยเกี่ยวกับเงินดิจิตอล

ล่าสุดมีรายงานว่า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นกำลังพิจารณาว่าจ้างบุคลากรเพิ่มเพื่อพัฒนากฎที่เข้มงวดขึ้นสำหรับเงินดิจิตอลในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตเบิลคอยน์ที่ผูกกับเงินจริง

หน่วยงานกำกับดูแลของญี่ปุ่นกังวลมากขึ้นกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของตลาดคริปโต และพร้อมมีส่วนร่วมกับหน่วยงานการเงินทั่วโลกเพื่อพัฒนากฎที่เข้มงวดขึ้นสำหรับสกุลเงินดิจิตอลของเอกชน สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของจี7 และจี20 ที่ต้องการให้มีกฎระเบียบควบคุมสเตเบิลคอยน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น ต้นเดือนนี้สำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น (เอฟเอสเอ) ยังจัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อกำกับดูแลกฎระเบียบสำหรับเงินดิจิตอล

หน่วยงานใหม่นี้จะติดตามตรวจสอบตลาดคริปโตอย่างครอบคลุมมากขึ้น โดยโฟกัสที่ระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง (decentralized finance) ที่อิงกับบล็อกเชน

ข่าวนี้ออกมาขณะที่อุตสาหกรรมคริปโตกำลังตกเป็นเป้าความสนใจของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสเตเบิลคอยน์ และธนาคารกลางทั่วโลกกำลังผลักดันโครงการซีบีดีซีเพื่อรักษาอำนาจของตนเองในการควบคุมระบบการเงิน

กลางสัปดาห์ที่แล้ว เจอโรม พาวเวลล์ ประธานผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า ซีบีดีซีของอเมริกาจะขจัดความจำเป็นสำหรับตัวเลือกจากภาคเอกชน เช่น บิตคอยน์และสเตเบิลคอยน์

สัปดาห์ที่แล้วเช่นเดียวกัน ฟาน อี้เฟย รองผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน ย้ำว่า พัฒนาการอย่างรวดเร็วของระบบการชำระเงินของเอกชนเป็นสัญญาณเตือนภัย และสำทับว่า สเตเบิลคอยน์เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อระบบการเงินและการชำระเงินของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น