xs
xsm
sm
md
lg

GPSC คิกออฟ รง.แบตฯ SemiSolid รายแรกอาเซียน ตั้งเป้า 10 ปีอัดเงิน 3 หมื่นล้านขยายเพิ่มเป็น 10 GWh

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



GPSC เดินเครื่องโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสนองนโยบายรัฐการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำและหนุนไทยเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน พร้อมวางเป้าหมายขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่เป็น 1 GWh ใน 2 ปีนี้ และเพิ่มเป็น 10 GWh ใน 10 ปีข้างหน้า ใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท

วันนี้ (19 กรกฎาคม) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และผู้บริหารของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมพิธี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า โรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับประเทศไทยในการเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่จะตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่จะมุ่งหน้าเข้าสู่การนำพาประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ในอนาคต และเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน

“สิ่งที่ดำเนินการในครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อปัจจุบันและในอนาคต รัฐบาล และภาคเอกชนจะต้องไม่หยุดยั้งในการทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะกำลังเผชิญกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ประเทศไทยยังต้องเดินหน้าไปในหลายกิจกรรมด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้ที่เพียงพอ มีรายได้สูง ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยนวัตกรรม สิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย และยินดีที่โรงงานแบตเตอรี่แห่งนี้จะเป็นโรงงานแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียฯ ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากเรื่องนี้ไทยเป็นผู้นำได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะตามมาอีก”


นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) กล่าวว่า บริษัทพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและการลดช่องว่างของระบบพลังงานทดแทนด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย

บริษัทฯ จะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือลิเทียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมต่อแอปพลิเคชันที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยกำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี และอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะตั้งโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาด 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี คาดว่าจะสรุปการจัดหาพื้นที่ตั้งใกล้โรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในปี 2565 คาดว่าจะผลิตได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายการขยายกำลังการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid เพิ่มเป็น 5 GWh ใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 10 GWh ใน 10 ปีข้างหน้า คาดว่าใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและการกู้ยืม โดยไม่ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทแต่อย่างใด


“แผนการดำเนินงานครั้งนี้จะเสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้แก่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle ) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ฯลฯ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชันเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศ” นายวรวัฒน์กล่าว

สำหรับนโยบายรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นฐานผลิตอีวีในภูมิภาคนี้ โดยวางเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 นั้น บริษัทได้มีการร่วมลงทุนกับบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่มีการผลิตแบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) เพื่อป้อนให้รถยนต์อีวีแบรนด์ Chery โดยเบื้องต้นจะนำเข้าแบตเตอรี่ชนิดดังกล่าวจาก AXXIVA เข้ามาจำหน่ายให้ลูกค้าในไทย หลังจากนั้นมีแผนนำเทคโนโลยีนี้มาผลิตในประเทศไทยด้วย


สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงานแห่งนี้มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ 1. G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell 2. ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application - Light Duty and Heavy Duty) เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)

3. กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply หรือ UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


“ลูกค้าเราจะเน้นทั้งในกลุ่ม ปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของ G-Cell แบบ LFP ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรจีนในการผลิตแบตเตอรี่ กำลังผลิต 1 GWh ป้อนรถยนต์อีวีในจีน” นายวรวัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ แบตเตอรี่ G-Cell ที่ผลิตโดย GPSC ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการคิดค้นและถูกพัฒนา โดย 24M เป็นแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเหตุไฟฟ้าลัดวงจรจากภายในเซลล์แบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ด้วยโครงสร้างที่มีชั้นฟิล์มพิเศษห่อหุ้มภายใน Unit Cell และด้วยสูตรการผลิตแบบ SemiSolid ส่งผลให้ G-Cell มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ GPSC เมื่อนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ G-Pack และ G-Box จำหน่ายให้แก่ลูกค้าแล้วคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานของลูกค้าได้อย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น