xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.แนะเร่งฉีดวัคซีน-อัดเงิน1ล้านลบ.ฝ่าด่านโควิด-19ยาวถึงสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.แนะรัฐบาลผ่าทางตันรับมือโควิด-19 ทั้งการเร่งระดมการฉีดวัคซีนและการคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง Antigen Test kit โดยเร็วควบคู่กับอัดมาตรการที่เปรียบเสมือนเป็นวัคซีนสำหรับศก.เพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้าน ประเมินล็อกดาวน์ 13 จังหวัดฉุดศก.เสียหายเดือนละ 2-3แสนล้านบาท


นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงเฉลี่ย 10,000 คนและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นขณะที่แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาลตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสก็ต้องใช้เวลาถึงสิ้นปีจึงเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแผนงานด้านสาธารณสุขทั้งการฉีดวัคซีน-19ที่มีคุณภาพควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองหรือ Antigen Test kit เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างให้เร็ว พร้อมกับดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ไม่ใช่เพียงมาตรการเยียวยาแต่จำเป็นต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูธุรกิจโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี) ให้เข้าถึงแหล่งทุนได้ ซึ่งคาดว่าจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มอีกราว 1 ล้านล้านบาทเพื่อให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้จนถึงสิ้นปี

“ มาตรการเยียวยาล่าสุดที่ออกมานั้นเป็นมาตรการที่ดีแต่ช่วยแค่ระยะสั้นๆแค่พอทำให้อยู่ได้ แต่ยังไม่อยู่รอดเพราะเวลานี้ ประชาชนขาดรายได้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ได้ใช้ทุนที่มีอยู่จนหมดหน้าตักแล้วตั้งแต่รอบ 1-2 เพราะหวังว่าอะไรจะดีเรียกว่าตอนนี้เหลือแค่ปืนไม่มีกระสุน รัฐต้องเติมเงินให้เพิ่มให้เขาประคองอยู่รอด รักษาแรงงานเหมือนการฉีดวัคซีนให้เศรษฐกิจที่ต้องฉีดเพิ่ม แต่หากถามว่าจะกู้เพิ่มได้หรือเพราะอาจชนเพดานหนี้เงินกู้เป็นหน้าที่รัฐต้องไปพิจารณาเพราะประเทศต่างๆทั่วโลกเขาก็ใช้เหตุผลภายใต้สภานการณ์ฉุกเฉินกันทั้งนั้นแม้แต่องค์การอนามัยโลก(WHO)ก็ยังให้วัคซีนเป็นวัคซีนฉุกเฉินได้ หากเราไปช่วยตอนที่ธุรกิจเจ๊งไปแล้วก็จะไม่มีประโยชน์อะไร”นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้จากเป้าหมายรัฐที่จะฉีดวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสในสิ้นปีแต่เมื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนภาพรวมมีเพียง 13-14% เท่านั้นจึงมองว่าโควิด-19จะอยู่กับเราไปอย่างน้อยถึงสิ้นปีภายใต้การไม่มีสายพันธุ์ใหม่ๆเข้ามาอีก อย่างไรก็ตามล่าสุดมาตรการล็อกดาวน์ที่เพิ่มเป็น 13 จังหวัดและขยายระยะเวลาจนถึงสิงหาคมเป็นมาตรการจำเป็นต้องทำ แต่ก็จะส่งผลกระทบถึงหลายๆ ส่วน เช่น เศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจที่จะเพิ่มตามไปด้วยโดยคาดว่าเศรษฐกิจจะเสียหาย 200,000-300,000 ล้านบาทต่อเดือน เพราะจังหวัดที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ส่วนใหญ่คือจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจสูง เช่น กทม. และปริมณฑล
กำลังโหลดความคิดเห็น