xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : รู้จัก ‘รถไฟฟ้าสายสีแดง’ 2 สิงหาฯ เตรียมเปิดหวูด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน จะเปิดทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรี นับเป็นระบบขนส่งมวลชนรายล่าสุดที่ให้บริการ ช่วยให้การเดินทางจากย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ได้แก่ ย่านรังสิต ฝั่งกรุงเทพเหนือ และย่านตลิ่งชัน ฝั่งกรุงเทพตะวันตก เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น แบ่งเบาภาระการจราจรติดขัด

โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงที่จะเปิดให้บริการ แบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง โดยมีจุดเชื่อมต่อที่สถานีกลางบางซื่อ ที่มีอุโมงค์ไปยังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร มี 10 สถานี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร มีทั้งหมด 3 สถานี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที

สำหรับผู้ประกอบการเดินรถ คือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 12 บาท เก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว จากบางซื่อ-รังสิต ค่าโดยสาร 12-38 บาท จากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ค่าโดยสาร 12-27 บาท แต่หากเดินทางจากรังสิตไปตลิ่งชัน โดยเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีกลางบางซื่อ คิดค่าโดยสารสูงสุด 42 บาท ซึ่งจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้


สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกที่รถไฟฟ้าสายสีแดงนำมาให้บริการ ได้แก่ ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ที่จอดรถ ป้ายบอกทาง ที่นั่งพัก ห้องน้ำ ราวกันตก พื้นผิวสัมผัสสำหรับคนตาบอด ทางลาดสำหรับผู้นั่งรถเข็น ที่จอดรถสำหรับคนพิการ และมีทางเดินเชื่อมต่อไปยังชุมชนต่างๆ โดยรอบสถานี


สำหรับสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต เริ่มจาก สถานีกลางบางซื่อ ใกล้ทางขึ้นทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก มีทางเดินใต้ดินเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีบางซื่อ รองรับคนที่มาจากทางโซนบางแค ท่าพระ จรัญสนิทวงศ์ เตาปูน จตุจักร ลาดพร้าว รัชดาภิเษก มีลานจอดรถแท็กซี่ขนาด 300 คัน อาคารจอดรถใต้ดินขนาด 1,600 คัน


สถานีจตุจักร ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 สามารถต่อรถประจำทางสาย 3 ไปสวนจตุจักร สาย 49 ไปวงศ์สว่าง สะพานพระราม 7 และข้ามถนนไปยังสถานีเดินรถนครชัยแอร์ได้, สถานีวัดเสมียนนารี มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 42 และ 44 อีกฝั่งหนึ่งไปยังโรงเรียนวัดเสมียนนารี วัดเสมียนนารี พระอารามหลวง ถนนเทศบาลสงเคราะห์


สถานีบางเขน มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต สามารถเดินเท้าไปยังโรงพยาบาลวิภาวดี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประตูวิภาวดีรังสิตได้ อีกฝั่งหนึ่งไปยังถนนงามวงศ์วาน สามารถเดินเท้าไปยังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้, สถานีทุ่งสองห้อง มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต อีกฝั่งหนึ่งไปยังโรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) สำนักงาน ป.ป.ส.ทุ่งสองห้อง


สถานีหลักสี่ มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต ไปยังถนนรามอินทรา สถานีรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) อีกฝั่งหนึ่งไปยังถนนแจ้งวัฒนะ อาคารไอทีสแควร์ หลักสี่ วัดหลักสี่, สถานีการเคหะ มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณร้านเจ้เล้ง ถนนเทวฤทธิ์พันลึก อีกฝั่งคือการเคหะแห่งชาติ ทุ่งสองห้อง บริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ ถนนเชิดวุฒากาศ


สถานีดอนเมือง มีสะพานลอยเชื่อมต่อถนนวิภาวดีรังสิต เชื่อมอาคารจอดรถท่าอากาศยานดอนเมือง ไปยังอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2) อีกฝั่งหนึ่งไปตลาดดอนเมือง สำนักงานเขตดอนเมือง โรงแรมอมารีดอนเมืองแอร์พอร์ต วัดดอนเมือง พระอารามหลวง ถนนสรงประภา วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง มุ่งหน้าไปยังถนนศรีสมาน แยกสวนสมเด็จฯ มีรถสองแถวให้บริการ



ภาพ : Airport Rail Link
สถานีหลักหก เชื่อมต่อโรงเรียนวัดรังสิต วัดรังสิต ชุมชนหมู่บ้านหลักหก และต่อรถรับจ้างไปมหาวิทยาลัยรังสิตได้ และ สถานีรังสิต ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง ใกล้หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี สามารถต่อรถรับจ้างไปยังตลาดรังสิต ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต หรือต่อรถแท็กซี่ไปยังตัวเมืองปทุมธานี หรือฝั่งธัญบุรีได้ และสามารถต่อรถไฟทางไกลสายเหนือ และสายอีสานได้ที่สถานีนี้


ส่วนสถานีสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน เริ่มจาก สถานีบางซ่อน ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางซ่อน ใกล้ถนนประชาชื่น แยกวงศ์สว่าง และถนนรัชดาภิเษก, สถานีบางบำหรุ ใกล้ทางด่วนศรีรัช ห้างตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี ใกล้ถนนสิรินธร ถนนเทอดพระเกียรติ ถนนบางกรวย-ไทรน้อย รองรับชุมชนย่านบางพลัด ปิ่นเกล้า และบางกรวย

และ สถานีตลิ่งชัน ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง ใกล้ถนนบรมราชชนนี ถนนราชพฤกษ์ ถนนสวนผัก ถนนฉิมพลี ถนนทุ่งมังกร ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ศาลจังหวัดตลิ่งชัน และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ตลิ่งชัน) โดยสามารถเข้าถึงสถานีได้ทางถนนเลียบทางรถไฟ ด้านถนนราชพฤกษ์ หรือถนนฉิมพลี เข้าจากถนนบรมราชชนนี สามารถต่อรถไฟทางไกลสายใต้ได้ที่สถานีนี้

ภาพ : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
สำหรับความพร้อมในการให้บริการ พบว่าได้ติดตั้งป้ายบอกทางไปยังสถานีต่างๆ 5 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ตลิ่งชัน บางบำหรุ บางซ่อน และรังสิต ปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง ปรับปรุงป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง ส่วนสถานีรังสิตได้ก่อสร้างถนนด้านทิศตะวันตก และปรับปรุงสถานีเชื่อมต่อผู้โดยสารสายตะวันตกในสถานีบางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน

ขณะเดียวกัน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ยังดำเนินการจัดทำระบบเสียงประชาสัมพันธ์ในขบวนรถไฟฟ้า โดยได้รับเกียรติจาก แอน-นันทนา บุญหลง นักร้อง นักพากษ์ระดับแถวหน้าของประเทศ และ นงอร มาสมบูรณ์ อดีตแอร์โฮสเตสมากประสบการณ์ มาให้เสียงประชาสัมพันธ์ข้อมูล ในการใช้บริการและข้อกำหนดต่างๆ แก่ผู้โดยสาร

รถไฟฟ้าสายสีแดงจะให้บริการด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถไฟออกจากชานชาลาทุกๆ 5-7 นาที สามารถรองรับผู้โดยสายได้มากกว่า 3,600 คนต่อขบวน ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลัก อาทิ ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนบรมราชชนนี ลดการใช้รถส่วนตัว ประหยัดเวลาในการเดินทาง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น