xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ถก กรอ.พาณิชย์โชว์แก้ตู้ส่งออกขาดจบ ช่วย SMEs เข้าถึงเงินทุน ย้ำเร่งเปิดด่านเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” ประชุม กรอ.พาณิชย์ติดตามผลงานแก้ปัญหาส่งออก เผยการขาดตู้คอนเทนเนอร์ยุติแล้ว มีเพียงพอใช้ มอบปลัดพาณิชย์ถกต่อ หามาตรการจูงใจให้เรือใหญ่เข้ามาอีก และหาทางลดค่าใช้จ่ายค่าระวาง หนุน SMEs ส่งออก รวมตัวทำสัญญาลดค่าระวางและให้มีตู้ใช้แน่นอน รับถก EXIM Bank ผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้ เร่งเจรจาเปิดด่านเพิ่ม เป้า 11 แห่ง แย้ม FTA ใหม่ไทย-อียู และเอฟตา เข้า ครม.ไตรมาส 3 พร้อมเร่งแก้ปัญหาแรงงาน มาตรฐานไม้ยางพารา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้ติดตามผลการแก้ไขปัญหาการส่งออกในประเด็นต่างๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน โดยในเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ได้เข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว มีตัวเลขการนำเข้าตู้ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 2.2 ล้านทีอียู (ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) และส่งออก 2 ล้านทีอียู ยังเหลือตู้ประมาณ 2 แสนทีอียูที่สามารถใช้ได้ แต่ในทางปฏิบัติต้องรอสินค้าออก ทำให้ตู้ไม่ว่าง อาจมีตู้ขาดในบางช่วงเวลา โดยในระยะยาวเห็นควรเพิ่มมาตรการจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังมากขึ้น เช่น เปิดโอกาสให้ถ่ายลำระหว่างทางไปยังประเทศอื่นได้ ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน หารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการ ส่วนค่าระวางเรือ ภาคเอกชนยอมรับว่าราคาเป็นไปตามกลไกตลาด แต่อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนต่อไปว่ามีส่วนใดสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้

สำหรับการสนับสนุน SMEs ส่งออก ซึ่งมีอยู่ 30,000 รายทั่วประเทศ ขอให้บางส่วนรวมตัวกันเพื่อทำสัญญาล่วงหน้ากับสายการเดินเรือเพื่อมีหลักประกันในเรื่องค่าระวางที่จะไม่แพง และจะได้มีตู้สินค้าให้ส่งออกแน่นอน ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงื่อนไขพิเศษ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จัดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก เริ่ม 7 ก.ค.-7 ก.ย. 2564 มีวงเงิน 2,500 ล้านบาท ซึ่งภาคเอกชนขอให้เพิ่มเงื่อนไข ใช้สต๊อกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และขยายวงเงินสำหรับผู้ใช้วงเงินเต็มแล้ว โดยเอาสัญญาสั่งซื้อมาค้ำประกัน ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศรับไปเจรจากับ EXIM Bank แล้ว

นายจุรินทร์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้เร่งรัดการเปิดด่านเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน โดยปัจจุบันมีด่านรอบประเทศทั้งหมด 97 ด่าน เปิดให้ส่งสินค้าเข้าออกได้ 46 ด่าน ภาคเอกชนอยากเห็นการเปิดเพิ่มอีก 11 ด่าน โดยล่าสุดด่านปากแซง อ.นาตาล หลังจากที่ได้ไปประชุมเร่งรัดด้วยตนเองแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ประชุมร่วมกับเจ้าแขวงสะหวันนะเขตลงนาม MOU ร่วมกันว่าจะทำการเปิดด่านโดยเร็ว อนุญาตเฉพาะสินค้าข้ามแดน และเร่งกำหนดรายการสินค้าและปริมาณสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างชายแดน จากนั้นจะนำสู่ภาคปฏิบัติต่อไป ส่วนด่านที่เหลือได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อเร่งรัดการเปิดด่านต่อไป

ส่วนการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่ กับสหภาพยุโรป (อียู) และสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้แจ้งไว้ ส่วน FTA อาเซียน-แคนาดา จะทำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.ในช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564

ทางด้านปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนสำหรับภาคการผลิต ทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ได้รับไปรายงานให้ ครม.รับทราบปัญหา และดำเนินการแก้ไขต่อไป รวมทั้งการใช้แรงงานข้ามเขตในบางกรณี เช่น ช่วยเก็บผลไม้หรือตามความจำเป็น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุมัติในแต่ละจังหวัดอยู่แล้ว และเรื่องอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายของการยางแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนให้มีการโค่นยางให้ได้ตามเป้า 4 แสนไร่ต่อปีเพื่อปลูกแทน โดยปี 2563 สามารถทำได้ 3.4 แสนไร่ ส่วนปี 2564 จะเร่งรัดดำเนินการต่อไป ซึ่งตัวเลขยังไม่มากเพราะขาดแคลนแรงงานในการดำเนินการ ส่วนการรับรองมาตรฐานไม้ยางพาราเพื่อการส่งออกมี 2 มาตรฐาน มาตรฐานสากลทั่วไปที่รู้จัก คือ FSC กับของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่กลายเป็นมาตรฐานสากลแล้ว คือ TFCC โดย FSC ต้องให้ตัวแทนจากต่างประเทศมาให้การรับรองแต่ละกรณี แต่ต่อไปนี้เห็นชอบด้วยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ให้มาตั้งสำนักงานในไทย ส.อ.ท.กับ กยท.รับเรื่องไปประสานงาน เพื่อให้เกิดความสะดวกในการส่งไม้ยางส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว

ทั้งนี้ ต่อไปจะมีการจัดประชุม กรอ.พาณิชย์เป็นระยะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสถานการณ์เศษฐกิจไทย-โลกที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยให้ได้เร็วที่สุด เพื่อทำตัวเลขส่งออกไปต่างประเทศให้ได้มากที่สุด และได้เห็นตรงกันว่าการส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งล่าสุดเดือน พ.ค.การส่งออกขยายตัวถึง 41.59% และคาดว่าเดือน มิ.ย. 2564 จะยังขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักระหว่างกระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น