xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เผยล่าสุดขนย้ายสารสไตรีนฯ หมิงตี้ไปกำจัดแล้ว 650 ตัน จะแล้วเสร็จทั้งหมด 1,000 ตัน 17 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” เผยการขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ดำเนินการไปแล้วกว่า 650 ตัน คาดสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 กรอ.ยอมรับตัวเลขสารสไตรีนฯ ตกค้างล่าสุดเป็น 1,000 ตัน เด้งรับนโยบาย “สุริยะ” เตรียมปูพรมตรวจ รง.เสี่ยงอันตรายต่อชุมชน 50 แห่งใน กทม. และปริมลฑลภายใน ก.ค.นี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการขนย้ายสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่ตกค้างในพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ ว่า ล่าสุดได้มีการขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ไปแล้ว 650 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 64) โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้ กรอ.เร่งตรวจสอบโรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก โดยเน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรกอย่างเร่งด่วน เพื่อหามาตรการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรณีสารสไตรีนที่คงค้างอยู่ภายใน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ข้อมูลเบื้องต้นเป็นการคาดการณ์ปริมาณสารที่ยังคงเหลืออยู่จากทีมปฏิบัติการฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทสารเคมีที่เข้าไปตรวจสอบว่ามีประมาณ 600 ตัน เนื่องจากบริเวณที่วางถังบรรจุสไตรีนยังมีความเสี่ยงและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยหลังจากทีมปฏิบัติงานได้เข้าควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการทำปฏิกิริยาต่อเนื่องของสารเคมีจนปลอดภัยต่อการขนย้ายได้แล้ว จึงได้ตรวจวัดปริมาณสารอีกครั้ง พบว่ามีสารสไตรีนอยู่ประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งสารสไตรีนทั้งหมดจะดำเนินการขนส่งไปกำจัดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564

“เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ (สอจ.) มีคำสั่งมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมด และให้จัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามกฎหมาย และให้จัดการสารเคมีที่ตกค้างในภาชนะบรรจุให้มีสภาพปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งจากการประสานกับผู้แทนโรงงานได้รับคำยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเพลิงไหม้ทั้งหมด ทางบริษัท หมิงตี้เคมีคอลฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงฯ กำลังดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 3 แห่ง” อธิบดี กรอ.กล่าว

ขณะเดียวกัน กรอ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานฯ ตามนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก จำนวน 92 โรงงาน และโรงงานประกอบกิจการทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย จำนวน 460 โรงงาน เน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรก โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มอบหมายให้นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน และกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย เข้าร่วมตรวจสอบโรงงาน บริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นที่แรก โดย กรอ.มีแผนที่จะตรวจสอบโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ประมาณ 50 โรงงาน ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น