xs
xsm
sm
md
lg

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้นำพา ‘Bitkub’ สู่ Potential Unicorn แห่งวงการสตาร์ทอัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

เขาคือผู้ก่อตั้ง Bitkub สตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้ 327 ล้านบาท ผ่านมา 3 ปี 5 เดือน บิทคัพมี 4 บริษัทในเครือ มีพนักงาน 1,478 คน ปีนี้คาดว่าจะทำเงินได้ 3-4,000 ล้านบาท นับเป็นหนึ่งใน Potential Unicorn ที่น่าจับตามอง ซึ่งปลายปี 2564 ก็น่าจะเป็นยูนิคอร์น ด้วยมูลค่า 30,000 ล้านบาท ถ้าทำกำไรได้ 3000 ล้านบาท


ดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง คณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผู้เชื่อมั่นในบิทคอยน์ เชื่อในสกุลเงินดิจิทัล เชื่อมั่นในดิจิทัล เคอเรนซี่
I Business สัมภาษณ์พิเศษ ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคัพ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูก Platform Business ในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล บิทคอยน์ คริปโตเคอเรนซี่ Digital currency และการเทรด การลงทุนที่หลากหลาย วิสัยทัศน์ของชายผู้นี้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

>>> ความเป็นมา กระทั่งเติบโต 1,000%

เมื่อถามว่า การที่บริษัทเติบโตถึง 1,000% อยากให้เล่าถึงวิสัยทัศน์ในการทำงาน รวมถึงเล่าย้อนความเป็นมาว่ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับบิทคอยน์ และสกุลเงินดิจิทัลได้อย่างไร

จิรายุสตอบว่า “จริง ๆ แล้ว Bitkub ที่โต 1,000% เป็นบริษัทที่ 2 ที่ผมเปิดขึ้นมา ส่วนตัวแล้วผมอยู่ในวงการ Digital Currency มาแปดปีแล้ว เป็นคนไทยคนแรก ๆ ที่ผลักดันดิจิทัล บิทคอยน์ ให้ทุกคนรู้จักและถูกต้องตามกฎหมาย”

จิรายุสกล่าวว่า หากถามว่าเริ่มได้อย่างไร คงต้องย้อนกลับไปนับแต่จบปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษ ค้นหาตัวเอง ไปทดลองงาน เป็น Investment banking ที่จีน ทำได้ประมาณ 2 เดือนกว่า ก็ไปเห็นดิจิทัลบิทคอยน์บนอินเทอร์เน็ต ราคาตอนนั้น พุ่งจาก 11 ดอลลาร์ ไปถึง 1,000กว่าดอลลาร์ ก็เลยเกิดสนใจ ศึกษาเพิ่ม แล้วก็ไปอ่านเจอบล็อคของมาร์ค แอนเดอร์สัน เขาเขียนถึงมุมที่ว่าบิทคอยน์จะเปลี่ยนแปลงโลกยังไง จะทำให้โทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ตกลายเป็นบัญชีธนาคารยังไง เป็นไมโครเพย์เมนท์ให้เราโอนเงินข้ามประเทศ 5 บาท 10 บาทได้ยังไง โดยที่ธนาคารไม่สามารถทำได้ ก็เลยสนใจ และเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เรียกว่าบิทคอยน์นี้ ในแปดปีที่แล้ว



จิรายุสเล่าว่า จากนั้นเขาก็เริ่มค้นหาตัวเอง “ทำงานที่แรกในระยะเวลาสองเดือนรู้สึกว่าไม่ชอบ จึงไปทำอีกที่หนึ่งที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ทำด้าน Consulting ก็รู้ว่าไม่น่าจะเหมาะกับตนเอง แต่คิดว่าในเมื่อมาถึงซานฟรานซิสโกแล้ว ก็เลยลองสอบถามเพื่อนๆ ดูว่ามีใครรู้จักใครบ้างไหมที่ทำงานใน Silicon Valley ที่อยู่ในซานฟรานซิสโก ช่วยนัดเจอให้หน่อย มีเพื่อนบอกว่ารู้จักกับผู้บริหาร PayPal ชื่อแดน แชท อยากเจอไหม ก็เลยนัดเจอ คุยกันที่ร้านแพนเค้กในวันเสาร์ ผมก็ถามเขาว่า แดน คุณคิดยังไงกับบิทคอยน์”

“เขาบอกว่า บิทคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก เขาต้องการสร้างดิจิทัล ดอลลาร์ แต่ตอนนั้น เทคโนโลยีไม่พร้อม คลาวด์ยังไม่มี บล็อกเชนก็ยังไม่มา วันนี้ คนรุ่นใหม่ คุณเป็นรุ่นที่โชคดีมาก คลาวด์ก็มีแล้ว บล็อกเชนก็มี โทรศัพท์มือถือก็มี บรอดแบนด์มีหมด อินเทอร์เน็ตมีหมดแล้ว บิทคอยน์จะมาเปลี่ยนแปลงโลก มันก็เลยย้ำความเชื่อมั่นใน Cryptocurrency จากนั้นไม่ถึงเดือนผมก็บินกลับมาเมืองไทย และเปิดบริษัทแรกเลยชื่อ Coins.co.th ซึ่งตอนนั้นปี 2013-2014 ก็เปิดจากร้านขายเสื้อผ้าของคุณพ่อคุณแม่”

“คุณพ่อคุณแม่ผมขายเสื้อผ้า มีร้านที่ประตูน้ำ ผมไม่อยากใช้เงินคุณพ่อคุณแม่ เขาส่งเราเรียนมาสิบปีแล้ว ก็เลยเปิดอยู่ที่ชั้นลอย กับเครื่องคอมพิวเตอร์โตชิบาเครื่องหนึ่ง ทำมาสิบเดือนไม่ได้ใช้เงินสักบาท เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อที่จะขยายทีม เพื่อจ้างพนักงานมาทำงาน” จิรายุสเล่าถึงความเป็นมาในการก่อตั้งบริษัทแห่งแรกที่ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำ

>>> เผชิญบททดสอบ แบงค์ชาติ-ปปง.สรรพากร ตรวจสอบหนัก หวั่นบิทคอยน์เป็นแชร์ลูกโซ่

จิรายุสเล่าว่าในปี 2014 แบงค์ชาติหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งหนังสือถึงธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เตือนว่าบิทคอยน์จะเป็นแชร์ลูกโซ่ มูลค่าจะเหลือศูนย์ อย่าได้เข้าไปยุ่ง ทำให้จิรายุสทะเลาะกับครอบครัว เพราะครอบครัวอยากให้เลิกธุรกิจที่ทำอยู่เพราะกลัวเป็นแชร์ลูกโซ่

“เพราะครอบครัวก็ฟังคำเตือนของแบงค์ชาติอยู่แล้ว ไม่ฟังลูกชายเพิ่งจบใหม่หรอก ก็ทะเลาะกัน แต่เราก็ไม่หยุด จากนั้นก็โดน ปปง.(สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) เรียกตัวไป โดนสรรพากรเรียกตัวไป ในทุก ๆ ปี ก็จะมีปัญหากับ Regulator ในสิ่งที่ทำสิ่งใหม่ ในสิ่งที่คนไทยไม่เข้าใจสุดท้ายก็มีบริษัทหนึ่งมาขอซื้อไป ก็มาเปิดบริษัทที่สอง ชื่อว่า Bitkub ซึ่งในเมื่อเรามีประสบการณ์จากบริษัทแรกแล้ว บริษัทที่สองเราก็ระดมทุนในรอบ Seed Round ได้ 525 ล้านบาท ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในรอบ Seed Round ในสตาร์ทอัพเมืองไทยในตอนนั้น

“แล้วสุดท้าย มี Series A อีก 327 ล้าน แล้วก็ตอนนี้ก็ผ่านมา 3 ปี 5 เดือน บิทคัพมี 4 บริษัทในเครือ มีพนักงาน 1,478 คน แล้วก็ปีนี้จะทำเงินได้ 3-4 พันล้านบาท ก็น่าจะเป็นหนึ่งใน Potential Unicorn เป็นยูนิคอร์น 30,000 ล้าน ปลายปีก็น่าจะเป็นยูนิคอร์น เรา Run ธุรกิจบนกำไร ไม่ได้ Run ธุรกินบนความขาดทุน นี่คือ เรื่องราวคร่าวๆ ครับ” จิรายุสบอกเล่าถึงธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง” จิรายุสระบุ


>>> Bitkub เปรียบเสมือน Platform Business

เมื่อถามว่าบิทคัพหรือบริษัทในเครือของจิรายุสทำหน้าที่อะไร หรือเป็นตัวกลางอย่างไรระหว่างดิจิทัลแอสเส็ท หรือคริปโตเคอเรนซี่

จิรายุสตอบว่า ในเมื่อเรามีความเชื่อว่ามูลค่าทุกชนิดจะเป็นดิจิทัลแล้ว เหมือนกับเพลงที่เป็นดิจิทัลไปแล้ว จะเป็นบล็อคบัสเตอร์ หรือเป็นเทปไม่ได้แล้ว เป็นซีดี เอ็มพีสามเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องเป็นยูทูป เป็นไลน์ทีวีเพิ่มมากขึ้น

เหล่านี้คือแพลตฟอร์มบิสเนส ซึ่งเรามองว่าเราได้สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมา แพลตฟอร์มบิสเนส คือสะพานที่แข็งแรงมาก ยกตัวอย่าง Facebook เป็นแพลตฟอร์มบิสเนสของวงการสื่อ เขาเป็นแพลตฟอร์ม เป็นสื่อที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีบรรณาธิการเป็นของตัวเอง ไม่มีคอนเทนต์เป็นของตัวเอง แต่เขาเป็นสะพานที่ใหญ่มาก Uber Grab เป็นอู่รถที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีแท็กซี่เป็นของตัวเอง

Lazada Shopee Amezon เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่มีคลังสินค้าอะไรเป็นของตัวเอง Airbnb เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ไม่มีโรงแรมเป็นของตัวเอง

“เหล่านี้ คือ แพลตฟอร์ม บิสเนส มันหมายความว่าอะไร มันหมายความว่า สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือสถาบันการเงินที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง ซึ่งบิทคัพคือสถาบันการเงินที่โตเร็วมาก ที่ไม่มีเงินเป็นของตนเอง คือการทำธุรกิจสำหรับโลกอนาคต เป็นแพลตฟอร์ม บิสเนส อันแรกที่เป็นของคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ อันอื่นที่พูดมาเป็นของชาวต่างชาติทั้งหมด ไม่ว่าเป็นไลน์ อินสตาแกรม ลาซาด้า เฟซบุ๊ค โชปี้ วีแชท อโกด้า ทราเวลโลก้า เป็นของชาวต่างชาติทั้งหมด ที่เป็นแพลตฟอร์ม บิสเนส บริษัทส่วนใหญ่ในไทยหากไม่ให้บริการก็ให้ผลิตภัณฑ์ที่ตัดกันที่ราคา แต่ถ้าเราพูดถึงแพล็ตฟอร์ม บิสเนส หรือ อีโค ซิสเต็ม พวกนี้ Profit margin เยอะมาก เช่น แอปเปิล เฟซบุ๊ค เป็นธุรกิจของโลกอนาคต ซึ่งบิทคัพพยายามที่จะเป็นธุรกิจของโลกอนาคตที่เป็นของคนไทย 100% ซึ่งกลุ่มของเรา มี 4 บริษัท” จิรายุส ระบุ


>>> วิสัยทัศน์ในการทำงาน พลังแห่งความเชื่อมั่น

เมื่อถามว่า นับแต่ช่วงสิบเดือนแรกกับเครื่องคอมพิวเตอร์โตชิบา กระทั่งกำลังจะกลายเป็นยูนิคอร์นแห่งวงการสตาร์ทอัพ วิสัยทัศน์แบบใดทำให้เติบโตได้ขนาดนี้ ใช้หลักอะไรในการบริหารงาน

จิรายุสตอบว่า มีอยู่สามอย่างที่อยากจะแชร์เป็นประสบการณ์กับผู้ประกอบการ

ข้อแรก การที่คุณจะประสบความสำเร็จได้ คุณต้องเป็นคนส่วนน้อย ที่เห็นอะไรบางอย่าง ที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นแล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจผิด

การที่เราจะประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ยได้ เราต้องเป็นคนส่วนน้อย ที่เห็นมัน แล้วคนส่วนใหญ่เข้าใจมันผิด

“สังเกตนะครับ ในอดีต คนที่ประสบความสำเร็จเกินค่าเฉลี่ย เขาจะเป็นคนที่ถูกต้องกับอะไรบางอย่างที่คนส่วนใหญ่ผิดมาก ๆ เช่น บิลเกตส์, สตีฟ จ็อบส์ เขาเป็นคนที่สร้าง Operating system ขึ้นมา ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองข้าม หรือ Jeff Bezos ขายหนังสือออนไลน์ ก็ถูกมองว่าเป็น Crazy Idea คนส่วนใหญ่มองข้ามอินเทอร์เน็ต แต่พวกเค้าเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต

“หรือถ้าสิบปีที่แล้ว มีคนบอกว่าจะแชร์บ้านกับคนแปลกหน้า คนส่วนใหญ่ก็บอกว่าเครซี่ไอเดีย แต่ Airbnb ก็ถูกมาก ๆ หรือสิบปีที่แล้ว มีคนบอกว่าจะแชร์รถกับคนแปลกหน้า ก็จะบอกว่า Stupid Idea ใครจะมาแชร์รถกับคนแปลกหน้า แต่แกร็บกับอูเบอร์ก็เป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่ผิดมาก ๆ

“ซึ่งผมก็ไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดมาก ๆ หรือฉลาดกว่าเพื่อนที่จบรุ่นเดียวกันเลย แต่ผมเป็นคนส่วนน้อยที่ถูกมาก ๆ เกี่ยวกับบิทคอยน์ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ผิดมาก ๆ คิดว่ามันเป็นแชร์ลูกโซ่ ฟอกเงินซื้อขายตลาดมืด เงินของเล่น ซึ่งถ้าธนาคารหรือตลาดหลักทรัพย์เข้าใจเหมือนที่ผมเห็น มันคงไม่มีวันเกิดขึ้นที่เด็กคนหนึ่ง กับเครื่องคอมพิวเตอร์โตชิบา ในร้านขายเสื้อผ้า ไม่มีทางมาถึงจุดนี้หรอก เพราะธนาคารก็มีคอนเนคชั่น มีพาวเวอร์มากกว่าอยู่แล้ว แต่เขาเป็นคนส่วนมากไม่ใช่คนส่วนน้อย



“ทิปข้อแรกเลย เราต้องเป็นคนส่วนน้อยที่เกินค่าเฉลี่ย เราต้องมองเห็นอะไรที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น แล้วเราต้องถูกมาก ๆ แล้วคนส่วนใหญ่ต้องผิดมาก ๆ ถ้าทุกคนคิดจะขายชานมไข่มุก มันก็แชร์มาเก็ตแชร์กับคนอื่น แต่ถ้าไม่คิดเหมือนเราเลย เราจะเป็น Monopoly เราจะเป็นคนเดียวที่ทำมัน แล้วถ้าลมมันเปลี่ยนทิศเมื่อไหร่คุณจะโตเร็วมาก” จิรายุสระบุถึงวิสัยทัศน์ข้อแรก

“ข้อสอง Stick to vision อย่าให้คนอื่นมาเปลี่ยนความคิด หรือล้มเลิกความเชื่อมั่นของคุณ เพราะว่าทุกคนที่เราเจอ หนังสือที่เราอ่าน กลุ่มเพื่อนที่คบ สิ่งที่หล่อหลอมเราให้เราแตกต่างจากอีก 7 พันล้านคนทั่วโลก แม้แต่พี่น้องยังเห็นไม่เหมือนกันเลย เพราะว่ามันคือประสบการณ์ที่แตกต่างกัน เราต้อง Stick to vision ของเรา อย่าให้คนอื่นมาเปลี่ยนมัน

“ซึ่งผมเห็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จทุกคน จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ Conviction เขาจะมี Conviction กับอะไรบางอย่างที่ Strong แข็งแรงมาก ๆ มากกว่าคนอื่น ลองไปดู อีลอนมัสก์ ที่เขาให้สัมภาษณ์ เขาเชื่อมั่นมาก ๆ ว่าเขาจะไปดาวอังคารได้ ด้วยจรวดของเขา คนส่วนอื่นว่าเขา Crazy แต่เขาพูดอย่างมี Conviction ว่ามันเป็นไปได้ เขาเชื่อในวิชชั่นนี้แล้วเขาก็ทำมันทุกวัน จนมันเป็นความจริง เขาไม่ล้มเลิกง่าย ๆ” จิรายุส ระบุ

ข้อสาม การจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีคุณต้องยอมรับความเจ็บปวดให้ได้เยอะ มันไม่ใช่อาชีพ มันไม่ใช่เข้างานเก้าโมงเช้า เลิกงาน ห้าโมงเย็น การเป็นผู้ประกอบการ คือคุณต้องทำมัน 7วัน ตลอด 24 ชั่วโมง

“คุณต้องฝันถึงมัน พูดถึงเกี่ยวกับมัน ไปเจอใครคุณก็พูดถึงมัน ไปเจอเพื่อนคุณก็ต้องพูดเกี่ยวกับธุรกิจของคุณอย่างมี Passion มาก ๆ มันคือชีวิตไปแล้ว มันไม่ใช่งาน ไลฟ์ กับ เวิร์ค มันเหมือนกัน แล้วต้องทำในระยะยาวด้วย

“ดังนั้น คุณต้องรับความเจ็บปวดให้ได้ดี เวลาออกสื่อ มักจะออกแค่ด้านดี ด้านไม่ดีจะไม่ออกสื่อ ไม่มีใครรู้หรอกว่าผมโดนแบงค์ชาติเรียกตัว โดน ปปง. โดน สรรพากรเรียกตัว โดน กลต.(สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์) เรียกตัว แทบจะทุก Regulator ในเมืองไทยแล้วตอนนี้ ซึ่งคุณต้องรับความเจ็บปวดได้มากกว่าค่าเฉลี่ย ถ้าคุณทำได้ คุณจะประสบความสำเร็จมาก เพราะทุกธุรกิจยากหมด ถ้าง่าย ทุกคนคงประสบความสำเร็จกันหมด

“คนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่อดทนได้นาน อดทนได้มากกว่าคนอื่น อดทนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยของคนอื่น คนอื่นจะล้มเลิกก่อน เขาไม่สามารถรับความเจ็บปวดได้ เช่น เกือบจะประสบความสำเร็จอยู่แล้วก็ล้มเลิก เพราะฉะนั้น อีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการที่ดีมีเหมือนกันก็คือ รับความเจ็บปวดได้ดี มีเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจไหนก็ตาม” จิรายุส กล่าวทิ้งท้ายถึงวิสัยทัศน์ที่นำพาให้เขาก้าวมาถึงวันนี้ และพร้อมก้าวต่อไปกับธุรกิจแห่งโลกอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น