xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนรวมฟื้นสวนโควิด-19 ชี้เป้า 3 กองเด่นของมันต้องมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดโผ 3 กองทุนที่ควรมีไว้ในพอร์ตเพื่อการลงทุนระยะยาวและโอกาสการสร้างผลตอบเพิ่มขึ้นในอนาคต “กองทุน REIT/Property Fund-กองทุนรวม Healthcare-กองทุนรวมกลุ่ม ESG” หลังพบเงินไหลเข้ากองทุน ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก หรือ 5.4%

ภาพรวมการลงทุนในกองทุนรวมของประเทศไทยไตรมาส 2 ของปี 2564 ตามการเปิดเผยของบริษัทมอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่ามี มูลค่าทรัพย์สินรวม 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก หรือ 5.4% จากธันวาคม 2020 (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) ซึ่งเป็นมูลค่าทรัพย์สินเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือต่างกันราว 1 แสนล้านบาท

ช่วงครี่งปีแรกของปีนี้มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิในกองทุนรวมประมาณ 9.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าเดือนธันวาคม 2020 ราว 20% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารทุน 2.9 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท

ด้านกองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ในไตรมาสแรกเป็นเงินไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ในรอบครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท

การลงทุนในตราสารหนี้จากเดิมที่เคยมีสัดส่วนสูงกว่าตราสารทุนในอดีต แต่ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในหุ้นทำให้ส่วนต่างมีมูลค่าใกล้เคียงกันหรือมีส่วนต่างราว 6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งการลดลงของกองทุนตราสารหนี้มาจากปัญหาสภาพคล่องที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของฝั่งตราสารทุนโดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศนับเป็นตัวทดที่ทำให้ส่วนต่างลดลงเร็วด้วยเช่นกัน

ในช่วงที่ผ่านมา เข้าใจว่ามีนักลงทุนไทยสามารถประเมินตนเองและเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความรู้ในการกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่มาพร้อมกับการลงทุนในต่างประเทศทำให้เริ่มมีสัดส่วนการลงทุนประเภทอื่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ลำดับต่อจากนี้สิ่งที่นักลงทุนจะให้ความสำคัญมากขึ้นคงเป็นการจัดพอร์ตการลงทุนซึ่งเหมาะกับภาวะการปัจจุบันที่ความผันผวนเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต

ทางเลือกการจัดพอร์ตการลงทุนมีอยู่มากหน้าหลายกอง เพราะทุกบริษัทพยายามหาผลิตภัณฑ์มารองรับให้แก่นักลงทุนได้มีตัวเลือกมากขึ้นเพียบ และที่ผ่านมา มีหลายกองทุนน่าสนใจจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุน ทั้งกองหุ้นจีน หุ้นเทคโนโลยี หรือแม่แต่กองทุนตรสารหนี้ทั่วโลก และหุ้นไทย

แต่มี 3 กองทุนนอกเหนือจากที่กล่าวไปข้างต้นเริ่มมีความโดเด่นและได้รับการยกย่องมากขึ้นว่าเป็นกองทุนที่ต้องมีติดพอร์ตเอาไว้เป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนระยะยาวและโอกาสการสร้างผลตอบเพิ่มขึ้นในอนาคต

กองทุน REIT/Property Fund

ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ให้ความเห็นที่น่าสนใจเอาไว้ว่า ในปี 2564 นี้เป็นจังหวะที่ดีในการศึกษาข้อมูลและเลือกลงทุนในหน่วยลงทุน PF & REIT Sector หรือ Infrastructure Fund ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานและทำเลที่ตั้งดี ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดไม่มาก โดยหน่วยลงทุน/ทรัสต์เหล่านี้จะได้รับการตอบรับดีเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย

อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดที่ปรับตัวลดลงในอัตราที่สูงกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นจังหวะการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการจัดพอร์ตลงทุนโดยที่ไม่ต้องใช้เงินทุนก้อนใหญ่ก็สามารถเลือกลงทุนในทำเลทองต่างๆ ได้ ทั้งยังช่วยกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นในจังหวะนี้ได้อย่างดี

สิ่งสำคัญที่การลงทุนในกองทุนประเภทนี้ควรมีติดพอร์ตเอาไว้ส่วนหนึ่ง เพราะอสังหาริมทรัพย์นั้ถือเป็นสินทรัพย์พิเศษที่ในภาวะปกติสามารถสร้างดอกออกผลให้แก่ผู้ลงทุนได้ระยะยาว หรือที่เรียกว่า Passive Income แล้ว ยังสามารถขายทำกำไรและได้มูลค่าเพิ่มจากส่วนต่างของราคาขายกับต้นทุนอีกด้วย

กองทุนรวม Healthcare

ธนัฐ ศิริวรางกูร หมอนัท คลินิกกองทุน ให้ความเห็นเกี่ยวกับกองทุนนี้เอาไว้ “สังคมผู้สูงอายุ” กับแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นตัวแปรหลักสนับสนุนการลงทุนในกองทุนนี้ โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2050 จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของโลก แถมยังมีโควิด-19 มาเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะการใช้เทคโนโลยีเข้ามาร่วมด้วย (Health Tech) ทำให้อุตสอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าเพิ่มได้อีกในอนาคต

จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราจึงควรที่จะลงทุนในกองทุนรวม Global Healthcare หรือจะเป็นกลุ่ม Health Tech ก็น่าสนใจ และถ้าดูผลตอบแทนย้อนหลังยาวๆ กองทุนรวมกลุ่มสุขภาพเหล่านี้ก็สร้างผลตอบแทนได้ดีเสมอมา แถมเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้ขึ้นลง หรือหวือหวามากนัก ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีในการลงทุนได้อย่างสบายใจ

นอกจากนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ชี้ว่า ช่วงครึ่งหลังของปี นักลงทุนในตลาดหุ้นจะมุ่งความสนใจไปยังประเด็นการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่ลดลง อีกทั้งนโยบายการเงินของ Fed ที่เข้มงวดส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงกระทบต่อหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่เคยสร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นมาตั้งแต่ปลายปีก่อน

ขณะที่หุ้นกลุ่มปลอดภัยหรือหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensives) เช่น กลุ่มเทคโนโลยี (Tech) และเฮลธ์แคร์ (Healthcare) ดูมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณามูลค่า (Valuation) ที่ค่อนข้างถูก เช่น อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้นล่วงหน้า (Forward P/E) ของกลุ่ม Healthcare ที่เทรดต่ำกว่าดัชนี S&P500 อยู่ถึง 20%

กองทุนรวมกลุ่ม ESG

มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช ประเทศไทย รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มูลค่าการลงทุนอย่างยั่งยืนทั่วโลกสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ยุโรปราว 1.6 ล้านล้านดอลลาร์หรือเกือบ 82% ของทั่วโลก ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ด้วยมูลค่ารวม 2.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 13% ของทั่วโลก ด้านญี่ปุ่นถือเป็นผู้นำด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนฝั่งเอเชียจากมูลค่าการลงทุนรวม 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1% ของทั่วโลก

หากมองในภาพระยะยาวจะพบว่ากองทุนยั่งยืนมีมูลค่าทรัพย์สินไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเคยอยู่ที่ระดับ 6 แสนล้านดอลลาร์เมื่อปี 2018 มาอยู่ที่เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากในระยะ 3 ปี ซึ่งมาจากการเติบโตในยุโรปเป็นหลัก สะท้อนว่าภูมิภาคอื่นทั่วโลก็ยังมีศักยภาพการเติบโตได้อีกมาก

ส่วนในประเทศไทยไตรมาสแรกของปีนี้การลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตอย่างชัดเจน โดยมูลค่าทรัพย์สินรวม 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 81% จากสิ้นปี 2020 โดยในปีนี้มีกองทุนเปิดใหม่ 15 กองทุน รวมมูลค่าเกือบ 8 พันล้านบาท

ภาพรวมกองทุน master fund หลายกองทุนมีผลตอบแทนที่สูงมาก เช่น BNP Paribas Energy Transition, iShares Global Clean Energy ETF, BGF Sustainable Energy ซึ่งมีผลตอบแทน 1 ปีมากกว่า 90% หรือผลตอบแทนมากกว่า 20% ต่อปีในรอบ 3 ปี

นอกจากนี้ การลงทุนยั่งยืนในสหรัฐฯ ช่วงไตรมาสล่าสุดสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าการลงทุนทั่วไป โดยดัขนี Morningstar U.S. Sustainability Index ให้ผลตอบแทน 8.8% สูงกว่า Morningstar U.S. Large-Mid Cap Index ที่ 8.5%

ทั้งหมดเป็นความเห็นและข้อมูลส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งทั้ง 3 กองถือเป็นกองทุนที่น่าสนใจใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนระยะยาวที่เหมาะกับภาวะการลงทุนต่อจากจากนี้ แต่ใครจะให้น้ำหนักเท่าไรถือเป็นความชอบส่วนตัว แต่เชื่อเถอะว่า นอกจากโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทนแล้วทั้ง 3 กองถือเป็นตัวช่วยอย่างดีในการกระจายการลงทุนที่ควรมีติดพอร์ตไว้ อย่าว่าของมันต้องมี!






กำลังโหลดความคิดเห็น