xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารกลางยอมรับคริปโตมีข้อดี 11%มองเป็นทางเลือกแทนทองคำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางของบางประเทศเชื่อว่า คริปโตอาจเป็นตัวเลือกแทนทองคำ
ผลสำรวจของยูบีเอสพบธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เล็งเห็นประโยชน์จากการลงทุนในคริปโต โดย 11% มองสกุลเงินดิจิตอลเป็นตัวเลือกแทนทองคำ นอกจากนั้นผู้ตอบแบบสำรวจเกือบครึ่งคาดว่า จะมีการออกซีบีดีซีภายใน 3 ปี แต่ไม่เชื่อว่า สกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติจะลดทอนบทบาทของดอลลาร์ และกว่า 50% ยังไม่รู้ว่า เงินหยวนดิจิตอลจะส่งผลอย่างไรต่อสถานะของสกุลเงินจีนในระบบการเงินโลก

การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการทุนสำรองประจำปีครั้งที่ 27 ของยูบีเอสครั้งนี้ต้องการสำรวจแนวโน้มคริปโตในฐานะเครื่องมือการลงทุนสำหรับธนาคารกลาง โดยจัดทำขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน ด้วยการสอบถามเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติเกือบ 30 ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งยูบีเอสบอกว่า ทำให้เห็นภาพกิจกรรมการจัดการทุนสำรองของทางการชัดเจนอย่างมาก

ในแบบสำรวจจะมีคำถามว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้แบงก์ชาติลงทุนในคริปโต เช่น บิตคอยน์ ซึ่งคำตอบยอดนิยมคือ การเรียนรู้/การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการลงทุนในคริปโตและการจัดการการลงทุน

ธนาคารใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้แจงว่า 83% ของผู้เข้าร่วมเชื่อว่า กระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดการสินทรัพย์ใหม่นี้มีค่าสำหรับธนาคารกลาง

คำตอบยอดนิยมอันดับ 2 สำหรับคำถามเกี่ยวกับแรงจูงใจในการลงทุนในคริปโตคือ การที่คริปโตเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีความสัมพันธ์กัน อันดับ 3 เป็นสัญญาณความคืบหน้าด้านเทคนิคของธนาคารกลาง ขณะที่ผู้เข้าร่วม 11% มองว่า คริปโตอาจเป็นตัวเลือกแทนทองคำและเป็นอิสระจากระบบการเงินตะวันตก

อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจ 84% ไม่คิดว่า คริปโตจะแทนที่ทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และอีก 16% บอกว่า ไม่รู้

นอกจากนั้นยังมีคำถามเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (ซีบีดีซี) ซึ่ง 46% ระบุว่า ซีบีดีซีและคริปโตจะคงอยู่ร่วมกัน โดยที่บิตคอยน์และคริปโตสกุลอื่นๆ จะไม่ถูกซีบีดีซีแทนที่ ขณะที่ 33% เชื่อว่า ซีบีดีซีจะแทนที่คริปโต, 21% ไม่มีความเห็น

ผู้ตอบแบบสำรวจ 14% มองว่า ซีบีดีซีจะกดดันให้ธนาคารกลางต้องลงทุนในคริปโต, 40% คาดว่า จะมีการออกซีบีดีซีภายใน 3 ปี, 46% ยืนยันว่า ธนาคารกลางพร้อมมีส่วนร่วมในโครงการนำร่องทดสอบสกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติหรือคาดว่า จะมีส่วนร่วมภายใน 1-3 ปีข้างหน้า

ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่บอกว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะมีการนำทุนสำรองไปลงทุนในซีบีดีซีของประเทศอื่นในอนาคตอันใกล้หรือไม่ โดย 57% ไม่คิดว่า จะมีผลกระทบมากนักกับการจัดการทุนสำรองของธนาคารกลาง และ 24% ระบุว่า อาจมีผลกับการทำงานของส่วนงานสนับสนุน

ลุค ซัลลี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของเลดเจอร์เมติก ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการคลัง มองว่า แบงก์ชาติคงไม่สามารถสนับสนุนบิตคอยน์ในฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกนอกหน้าได้ เนื่องจากคริปโตสกุลนี้ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของประเทศใด อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่า บิตคอยน์และทองคำสามารถเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อและอิทธิพลของภาครัฐ

ผลสำรวจยังพบว่า ผู้เข้าร่วมกว่า 60% ไม่เชื่อว่า การออกซีบีดีซีจะลดทอนบทบาทของดอลลาร์ และกว่า 50% ยังไม่รู้ว่า เงินหยวนดิจิตอลจะส่งผลอย่างไรต่อสถานะของสกุลเงินจีนในระบบการเงินโลก

อีแดน ยาโก ผู้สนับสนุน Sovryn โปรโตคอลการเงินแบบกระจายอำนาจ (DeFi) ที่ใช้บิตคอยน์ ทิ้งท้ายว่า จากข้อเท็จจริงที่ว่า บิตคอยน์เริ่มต้นจากศูนย์และกลายเป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายอย่างเป็นทางการในเวลาแค่ 12 ปี ขณะที่จำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นสองเท่าทุกปี และอัตราการยอมรับเทียบเท่าการยอมรับอินเทอร์เน็ตในปี 1997 ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจคือ วิวัฒนาการของธนาคารกลางล้าหลังบิตคอยน์หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น