xs
xsm
sm
md
lg

LINE SHOPPING ชน e-marketplace เปิดเกมกระตุ้นยอดขายรอบใหม่ปลายปีนี้-ต้นปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย
ไลน์ (LINE) ประกาศกลยุทธ์ “ไลน์ช็อปปิ้ง" (LINE SHOPPING) ปี 64 ลุย 4 เรื่องหลัก หนึ่งในนั้นคือ “ไลน์โซเชียลกราฟ” (LINE Social Graph) ซึ่งแม้ยังไม่ถึงคิวเปิดตัวแต่ยืนยันว่ากำลังทดลองจริงจังเพื่อปั้นให้เป็นบริการที่ร้านค้าจะสามารถเพิ่มยอดขายจากฐานผู้ใช้ไลน์ได้มากขึ้นก้าวกระโดด โชว์สถิติล่าสุดผู้ชอปบนไลน์เติบโตขึ้น 200% บนยอดสมัครเปิดร้านที่เพิ่มขึ้น 7 เท่าตัว สร้างยอดขายรวมเติบโตเบาๆ 272% ตัวเลขรายได้เฉลี่ยต่อร้านค้าเดือนละ 150,000-500,000 บาท ท่ามกลางยอดขายสินค้าสุขภาพและความงามที่พุ่งแรงเกิน 35% ในช่วงโควิด-19 ระลอกใหม่

นายเลอทัด ศุภดิลก หัวหน้าฝ่ายธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ LINE ประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางดำเนินธุรกิจของ LINE SHOPPING ในปีนี้ ว่าจะเน้นกลยุทธ์เดิมที่เคยทำมาก่อนคือการยกระดับประสบการณ์ใน 2 ด้าน ได้แก่ ด้านบริการชำระเงินและขนส่งที่รวดเร็ว ตรวจสอบได้ และลดต้นทุน รวมถึงด้านพันธมิตรและซัปพลายเออร์ธุรกิจให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงผู้ค้ารายย่อยได้ดีขึ้น คู่ไปกับกลุยทธ์ใหม่ 2 ด้านที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่บนแพลตฟอร์ม ได้แก่ ด้านการใช้อีโคซิสเต็มของไลน์และโซเชียลคอมเมิร์ซ รวมถึงด้าน LINE Social Graph ที่จะยังไม่เปิดตัวภายในไตรมาส 3 ปี 64

“ปีที่แล้วเรามี LINE MyShop ปีนี้เรามี LiNE SHOPPING เราจะขยายช่องทางให้การซื้อขายไร้รอยต่อ สิ่งที่เราจะทำในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าคือสร้างประสบการณ์ซื้อขายแบบใหม่ให้เกิดการเชื่อมต่อผู้ค้ากับลูกค้ามากขึ้น เช่น LINE & Social Commerce ในแนวทางใหม่ และ LINE Social Graph ที่จะใช้ประโยชน์จากการที่ผู้คนใช้ไลน์อยู่แล้ว”

กลยุทธ์ LINE SHOPPING ปี 64 ลุย 4 เรื่องหลัก
เลอทัด ระบุว่า LINE Social Graph เป็นประสบการณ์ใหม่ที่จะมีได้เฉพาะในไลน์เท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ ไลน์เน้นกระตุ้นยอดขายด้วยการทำไลฟ์สดใน LiNE SHOPPING ซึ่งแม้จะมีผู้ชมจำนวนมากและมีการส่งต่ออย่างรวดเร็ว แต่ไลน์กำลังทดลองบริการรูปแบบใหม่ คาดว่าจะสามารถเพิ่มยอดขายได้ในอัตราก้าวกระโดด

ที่ผ่านมา ไลน์เน้นกลยุทธ์พัฒนาประสบการณ์การชอปปิ้งออนไลน์ให้ผู้ซื้อและผู้ขาย มีการจัดหมวดหมู่สินค้าอย่างเป็นระบบระเบียบ มีการเพิ่มช่องทางเข้าถึงร้านค้าด้วยฟีเจอร์ Search และนอกเหนือจากการแอด LINE OA ของร้านค้า ไลน์ยังทำแคมเปญสนับสนุนผู้ค้าเพื่อกระตุ้นการซื้อขายด้วยธีมรายเดือนด้วย ร่วมกับการสมนาคุณผู้ซื้อด้วยคะแนน LINE POINTS ขณะที่การไลฟ์สดขายของ หรือ LIVE Commerce นั้น ไลน์มีการนำดาราและเซเลบริตีที่มีชื่อเสียงมาดำเนินรายการ เช่น ป้าตือ-สมบัษร, อั๋น-ภูวนาท และบุ๋ม-ปนัดดา มาเรียกกระแสได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

LINE SHOPPING สามารถเพิ่มอัตราการกลับมาซื้อซ้ำถึง 12% โดยช่วงเวลาที่คนนิยมซื้อของมากที่สุด อยู่ในช่วงเวลา 12.00 น. และ 20.00 น.
การประกาศกลยุทธ์ของ LiNE SHOPPING ปี 64 ถือว่ามีนัยสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเริ่มออกฤทธิ์มาตั้งแต่ช่วงปี 2563 จนถึงในปัจจุบัน ผลคือผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตพร้อมกับหลายธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ หลายคนมองหาโอกาสเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ ซึ่ง LINE SHOPPING ระบุว่า ยังคงยึดมั่นในพันธกิจที่ต้องการทำให้การซื้อขายบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

ความพิเศษคือผู้ขายบน LINE SHOPPING ส่วนใหญ่ล้วนเป็นธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย (Micro Business) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวด้วยเป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นจากความชอบ (Passion) มีความคิดสร้างสรรค์ คล่องตัวสูง และมีเงินทุนที่จำกัด LINE SHOPPING ย้ำว่าเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญของธุรกิจรายย่อย ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย และมีส่วนสร้าง GDP ให้ประเทศถึง 34.7% จึงวางกลยุทธ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการขนาดย่อย หรือ Micro Business โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกลยุทธ์ปีนี้

LINE SHOPPING สามารถสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีจำนวนร้านค้าหลั่งไหลเข้าสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น 7 เท่า หรือ 64% ปัจจุบันมีจำนวนร้านค้าถึง 200,000 ร้านค้า มีจำนวนลูกค้า (Buyer) สูงถึง 7 ล้านราย โดย 5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้แก่ แฟชั่น สุขภาพและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และไอทีแกดเจ็ต

5 กลุ่มสินค้าที่ขายดีที่สุด ได้แก่ แฟชั่น สุขภาพและความงาม อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน และไอทีแกดเจ็ต
ไลน์ย้ำว่า ด้วยรูปแบบ Social Commerce ที่คนไทยคุ้นชิน สามารถให้ผู้ขายและผู้ซื้อพูดคุย (Chat) สอบถามรายละเอียดแบบเรียลไทม์ ไลน์จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญที่เป็นโอกาสทางธุรกิจในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุด ซึ่งนอกจากเป็นการช่วยให้ร้านค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ไลน์ย้ำว่าสามารถเพิ่มปริมาณการซื้อหรือ Basket Size ได้ถึง 50%

ในภาพรวม LINE SHOPPING สามารถเพิ่มอัตราการกลับมาซื้อซ้ำถึง 12% โดยช่วงเวลาที่คนนิยมซื้อของมากที่สุด อยู่ในช่วงเวลา 12.00 น. และ 20.00 น. และนักชอป 80% ชำระเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร ขณะที่ 20% ชำระผ่านเครดิตการ์ดและ Rabbit LINE Pay

ปัจจุบัน มูลค่าตลาด Social Commerce ถูกประเมินว่ามีสัดส่วนราว 60% ของตลาดรวมอีคอมเมิร์ซไทย 270,000 ล้านบาท คาดว่าจะเติบโต 25-30% ในปีนี้ ถือเป็นการเติบโตพร้อมกับตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไลน์มั่นใจว่า Social Commerce จะเติบโตคู่ไปกับอีมาร์เกตเพลสในระดับเดียวกันตลอดครึ่งหลังของปี 64 บนกำลังซื้อที่ยังไม่เห็นสัญญาณหดตัวในขณะนี้

ยอดขายรวม LiNE SHOPPING เติบโตเบาๆ 272%
กำลังโหลดความคิดเห็น