xs
xsm
sm
md
lg

เป็นไปได้?? หยวนดิจิตอลเขมือบเงินท้องถิ่นเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


– CBDC ของจีนดูเหมือนก้าวหน้ากว่าใคร แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบไม่พึงประสงค์บางอย่างและการท้าทายอธิปไตยทางการเงินของชาติอื่น
ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังปลุกปั้นเงินดิจิตอลแห่งชาติเพื่อปรับปรุงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ กลับเกิดข้อกังวลขึ้นมาว่า CBDC ของต่างชาติ โดยเฉพาะหยวนดิจิตอลที่ดูมีความคืบหน้ากว่าใคร จะเข้าไปแทนที่สกุลเงินท้องถิ่นหรือไม่ โดย BIS ระบุว่า ความเสี่ยงดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดขึ้นในประเทศที่มีประวัติอัตราเงินเฟ้อสูงและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ ตัวอย่างเช่น อาร์เจนตินาที่ใช้บิตคอยน์อย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นทางเลือกแทนสกุลเงินท้องถิ่นท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อพุ่งรุนแรง

กลางสัปดาห์ที่แล้ว BIS Innovation Hub เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า สกุลเงินดิจิตอลที่ออกโดยธนาคารกลาง (CBDC) มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเปิดตัวเข้าสู่ธุรกรรมประจำวัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบไม่พึงประสงค์ในตลาดการเงินภายในประเทศและท้าทายอธิปไตยทางการเงิน

เซาธ์ ไชน่า มอร์นิง โพสต์รายงานว่า ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ (BIS) ร่วมกับธนาคารกลางของจีน ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จัดทำโครงการ Multi-central Bank Digital Currency Bridge Project เพื่อจัดการความซับซ้อนของกฎระเบียบและปัญหาความโปร่งใสเกี่ยวกับการชำระเงินข้ามพรมแดน

เบนัวต์ กูเร ประธาน BIS Innovation Hub เผยว่า การหารือมุ่งที่คำถามว่า CBDC จะละเมิดอธิปไตยทางการเงินของประเทศต่างๆ หรือไม่ เนื่องจากเหล่าพันธมิตรไม่ต้องการให้สกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติเป็นเป้าหมายของสงครามเทคโนโลยี

เงินหยวนดิจิตอลของจีนเป็นหนึ่งในแผนการริเริ่ม CBDC ที่คืบหน้าที่สุดในโลก โดยมีการทดสอบขนาดใหญ่ไปแล้ว 13 รอบใน 8 เมือง และยังมีแผนทดลองใช้ระหว่างการเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งถือเป็นโอกาสทองที่จีนจะได้โชว์ให้โลกเห็นพัฒนาการของโครงการ CBDC ของตนเอง

นอกจากนั้นในเดือนมิถุนายน ธนาคารของรัฐบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 2 แห่งยังประกาศเตรียมติดตั้ง ATM กว่า 3,000 ตู้เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมเงินหยวนดิจิตอลในกรุงปักกิ่ง และคลายความกังวลหรือข้อสงสัยของประชาชน โดยเฉพาะกับคำถามว่า หยวนดิจิตอลใช้ได้จริงหรือไม่ หรือรัฐบาลกำลังแอบสอดแนมตนอยู่หรือเปล่า

ข้อตกลง m-CBDC หรือกลุ่มความร่วมมือระหว่าง CBDC ของประเทศต่างๆ อาจส่งผลดีอย่างมาก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม G20 ประกาศภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการชำระเงินข้ามพรมแดน และจากการสำรวจความคิดเห็นธนาคารกลาง 50 แห่งทั่วโลก พบว่า 28% กำลังศึกษาวิธีทำให้สกุลเงินของตนเองทำงานร่วมกับระบบชำระเงินระหว่างประเทศได้

ขณะเดียวกัน เครือข่ายนวัตกรรมการเงินแห่งอาเซียนที่ก่อตั้งโดยธนาคารกลางสิงคโปร์ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) และสมาคมนายธนาคารแห่งอาเซียน เปิดเผยเมื่อกลางเดือนมิถุนายนว่า เตรียมเปิดตัว digital currency sandbox เพื่อให้ธนาคารและบริษัทฟินเทคได้ทดสอบใช้ CBDC สำหรับระบบการชำระเงินแบบหลายสกุล

ทั้งนี้ เมื่อเงินหยวนดิจิตอลสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบและประเทศต่างๆ มี CBDC ของตนเอง คาดว่าการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าการโอนเงินผ่านธนาคาร

อย่างไรก็ตาม โอกาสที่ CBDC แดนมังกรจะแพร่หลายในวงกว้างยังขึ้นอยู่กับว่า ธนาคารกลางในเอเชียและแบงก์ชาติจีนยอมรับการใช้เงินหยวนดิจิตอลข้ามพรมแดนหรือไม่

จอห์น เคห์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของเจเนซิส บล็อก ศูนย์เทรดสินทรัพย์ดิจิตอลในฮ่องกง บอกว่า ถ้าใช้เงินหยวนดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบาย เช่น 7-11 และธุรกิจอื่นๆ ในไทยยอมรับ เขาคงไม่พกเงินบาท และสำทับว่า วิธีที่เป็นไปได้ในการป้องกันไม่ให้เงินหยวนดิจิตอลเข้ามายึดหัวหาดในไทยคือ แบงก์ชาติต้องจำกัดการเข้าถึงการทำธุรกรรมบางประเภท

BIS ระบุว่า ความเสี่ยงที่ CBDC จะเข้าไปแทนที่สกุลเงินของชาติอื่นมีแนวโน้มเกิดขึ้นในประเทศที่มีประวัติอัตราเงินเฟ้อสูงและประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเงินของประเทศ

ตัวอย่างเช่น อาร์เจนตินาที่ใช้บิตคอยน์อย่างแพร่หลายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นทางเลือกแทนสกุลเงินของประเทศท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อพุ่งรุนแรง

เอ็ดวิน ไหล ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮ่องกง มองว่า จีนต้องการให้คนจำนวนมากขึ้นใช้เงินหยวนเพื่อลดการพึ่งพิงระบบการเงินโลกที่รวมศูนย์อยู่ที่ดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องการส่งเสริมอิทธิพลทางการเมืองของตนเองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เก็บรักษามูลค่า และสกุลเงินสำรอง

อย่างไรก็ดี ไหลตั้งข้อสังเกตว่า การใช้เงินหยวนระหว่างประเทศจะถูกจำกัดเนื่องจากปักกิ่งเองยังลังเลที่จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด รวมทั้งไม่ต้องการให้ระบบการเงินของตนผนึกรวมเข้ากับระบบการเงินของตะวันตกในเร็วๆ นี้

ปัจจุบัน เงินหยวนยังมีความสำคัญน้อยมากในระบบการเงินระหว่างประเทศคือเพียงแค่ 1-2% ของปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดปริวรรตเงินตรา การชำระเงินทั่วโลก และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 44%, 46% และ 62% ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น