xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เปิด สนง. PTTT USA เชื่อมโยงเครือข่ายการค้าทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.เปิดสำนักงาน PTTT USA พร้อมทำการค้า ขยายเครือข่ายทั่วโลก ประเดิมส่งสินค้ากลุ่มปิโตรเคมีเที่ยวแรก 6 พันตัน

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.เดินหน้าเปิดสำนักงาน PTT International Trading USA Inc. หรือ PTTT USA ณ เมืองฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา รับผิดชอบการค้าในทวีปอเมริกา เร่งเครื่องธุรกิจมุ่งทำการค้าปิโตรเลียมและปิโตรเคมี พร้อมส่งสินค้ากลุ่มปิโตรเคมีเที่ยวแรกกว่า 6,000 ตัน มูลค่าประมาณ 5.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 180 ล้านบาท ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเชื่อมโยงเครือข่ายการค้าของ ปตท.ให้ครอบคลุมทั่วโลก

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในฐานะประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น การเปิดสำนักงาน PTTT USA มีบทบาทสำคัญที่ส่งเสริมให้ ปตท.สามารถขยายฐานการค้าครบทุกหัวเมืองสำคัญของโลก ตอบโจทย์ภารกิจการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ อีกทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการติดตามสถานการณ์และความผันผวนของตลาดโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มโอกาสในการทำการค้าข้ามภูมิภาคในภาวะที่ตลาดเกิดความไม่สมดุลทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน

ปัจจุบันหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.ได้จัดตั้งสำนักงานในต่างประเทศแล้วจำนวน 5 แห่ง นอกจาก PTTT USA ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.เป็นผู้ถือหุ้น 100% ยังมีสำนักงานอยู่ในประเทศที่เป็นศูนย์กลางการค้าและการกำหนดราคาน้ำมันในภูมิภาคนั้นๆ ได้แก่ สำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์รับผิดชอบภูมิภาคตะวันออกไกล สำนักงานที่นครเซี่ยงไฮ้รับผิดชอบตลาดจีน สำนักงานที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร รับผิดชอบภูมิภาคยุโรปและแอฟริกา และสำนักงานที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบการค้าในภูมิภาคตะวันออกกลางและตลาดซื้อขายอนุพันธ์ล่วงหน้าของอาบูดาบี (ICE Futures Abu Dhabi : IFAD) ซึ่ง ปตท.เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง

นายดิษทัตกล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และความท้าทายในปัจจุบัน การสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน และการรับข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงของกลุ่ม ปตท. หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก สร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการขยายเครือข่ายครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าในทุกภูมิภาคของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น