xs
xsm
sm
md
lg

RCL แล่นฉิวรับค่าระวางพุ่ง กูรูคาดเติบโตเนื่องถึงปี65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



โควิด-19 ยังพ่นพิษการขนส่งสินค้าทางทะเล กดดันค่าระวางเรือพุ่ง แต่หนุน “อาร์ ซี แอล”ได้รับอานิสงส์อัตราค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เดินหน้าทำสถิติไม่หยุด ดันผลประกอบการโตกระโดด และต่อเนื่องถึงปีหน้า คาดปัญหาความแออัดท่าเรือคลี่คลายปลายเดือนหน้า ส่วนค่าระวางยังต้องรอถึงสิงหาคม

ยังเป็นหุ้นที่พุ่งแรงฉุดไม่อยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา สำหรับหุ้นเรือตู้คอนเทนเนอร์ ในนาม บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) แม้เมื่อเร็ว ๆนี้ ราคาหุ้นจะปรับตัวลงเล็กน้อย แต่หลายฝ่ายยังเชื่อว่าท้ายที่สุด RCL ยังพร้อมจะขึ้นไปทดสอบ และสร้างสถิติใหม่ในแง่ของราคาหุ้นอีกครั้ง

สำหรับ RCL ผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่ม “ตันธุวนิตย์” ที่เชี่ยวด้านการขนส่งสินค้าทางเรือมาตั้งแต่ผู้บริหารรุ่นแรก และถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในแวดวงธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือของไทย โดยเฉพาะในนาม “โหงวฮก” ที่ปัจจุบันดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งและโลว์จิสติกส์แบบครบวงจร รวมถึงการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน RCL ด้วยสัดส่วนกว่า 28% ขณะที่ “สุเมธ ตันธุวนิตย์”ถือหุ้น RCL ในนามตนเอง 7.36%

ขณะที่ผลดำเนินงานที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทเติบโตต่อเนื่องจาก 1.05 หมื่นล้านบาทในปี 2559 เพิ่้มเป็น 1.23 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จากนั้น 1.67 หมื่นล้านบบาทในปี 2562 และ 1.75 หมื่นล้านบาทในปี 2563

ส่วนกำไรสุทธิ พบว่า ปี 2559 บริษัทขาดทุน 1.37 พันล้านบาท จากนั้นพลิกกลับมาเป็นกำไรในปี2560 ที่ระดับ 533.26 ล้านบาท และกลับไปขาดทุนต่อเนื่อง 357 ล้านบาท และ 491 ล้านบาทในปี 2561 - 2562 โดยปีที่ผ่านมา RCL เพิ่งพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 1.744 พันล้านบาท และเติบโตก้าวกระโดดเป็น 2.94 พันล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้

ด้านอัตราส่วนทางการเงิน พบว่า ROA และ ROE ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 24.90% และ 45.58% จากปี 2563 ที่ระดับ 11.56% และ 21.19% ตามลำดับ ทั้งที่ปี2562 ติดลบ 0.89% และ 6.22% ขณะที่ P/E และ P/BV ณ วันที่ 22มิ.ย.64 อยู่ที่ 9.66 เท่า และ 3.61 เท่า จากสิ้นปี 2563 ที่ระดับ 37.29 เท่า และ 1.43 เท่า

โดยเหตุผลที่ทำให้ผลประกอบการของ RCL เติบโตแบบฉุดไม่อยู่ หลายฝ่ายยังคงให้น้ำหนักไปที่การรับอานิสงส์จากดัชนีค่าระวางเรือขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์เดินหน้าทำนิวไฮ จนทำให้ RCL เป็นหนึ่งในตัวเต็งเข้า SET100 รอบใหม่ ที่กำลังจะประกาศเร็วๆ นี้อีกด้วย

เห็นได้จาก บทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า แนะนำ"เก็งกำไรช่วงสั้น"กลุ่มเรือเทกอง อาทิ บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA), บมจ. พรีเชียส ชิพปิ้ง(PSL) โดยมีแรงหนุนจาก ล่าสุด ดัชนี Baltic DryIndex (BDI) หรือ ดัชนีค่าระวางเรือ ปรับเพิ่มขึ้นแรง 2.75% และนับตั้งแต่ต้นเดือน-ปัจจุบันขึ้นแรงราว 13.4% ล่าสุดอยู่ที่ 3025 จุด

ขณะที่หุ้นเรือตู้คอนเทนเนอร์ อาทิ บมจ.อาร์ ซี แอล (RCL) ยังมีแรงหนุนบวกจากค่าขนส่ง (Freight) ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ ล่าสุด 11 มิ.ย. ค่าขนส่ง (Freight) ของตู้สินค้าขนาด 40 ฟุต จากเซี่ยงไฮ้ของจีนไปยังรอตเตอร์ดัมในยุโรป ที่ ทำ New High อยู่ที่ 10,522 ดอลลาร์ และฝ่ายวิจัยรอตัวเลขปลายสัปดาห์ โดยคาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น จากปัญหา Supply ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลนยังยืดเยื้อ โดยเฉพาะในจีน มีแนวโน้มที่ท่าเรือในจีน มณฑลกวางตุ้งที่มีการใช้ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์มากที่สุดอันดับ 3 ของจีน และอันดับ 5 ของโลก จะยังปิดต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. และต่อเนื่องเพราะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกวางตุ้ง หลังจากเพิ่มขึ้นยังทรงตัวสูง และเมื่อวานนี้ 15 มิ.ย. มีข่าวกัมมันภาพรังสีรั่วไหล โรงงานนิวเคลียร์ไท่ซาน ในมณฑลกวางตุ้ง เป็นปัจจัยหนุนค่า Freight ขึ้นต่อ โดยรวม อย่างไรก็ดี RCL แนะนำระมัดระวังในการลงทุน เพราะราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นมาร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี มีความผันผวน

สำหรับสาเหตุหลักที่ หนุนให้อัตราค่าขนส่งทางเรือ (อัตราค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์) ทำสถิติสูงสุดอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญที่กดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของCOVID-19 ในมณฑลเซินเจิ้น ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือหยานเถียนที่มีขนาดใหญ่อันดับ 4 ในโลก มีปริมาณงานต่อปีมากกว่า 13 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ (TEU)

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ รัฐบาลควบคุมกิจกรรมการ เคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์อย่าง เข้มงวด ส่งผลให้อัตราการขนส่งลดลง เหลือเพียง 30% เมื่อเทียบกับการดำเนินงานปกติ จึงมีปริมาณ ตู้คอนเทนเนอร์คงค้างสูงถึง 357,000 คอนเทนเนอร์ ส่งผลกระทบไปยังท่าเรือใกล้เคียงที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ของจีน อาทิ ท่าเรือเสอโข่ว หนุนดันดัชนี ค่าระวางเรือ "เซี่ยงไฮ้คอนเทนเนอร์อินเด็กซ์" เร่งตัวขึ้นแตะ 3,613 จุดเพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา, และเร่งตัวขึ้นสูงถึง 300% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

นำไปสู่การปรับเพิ่มประมาณค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งปี 2564 ขึ้น 9% เป็น 445 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ TEU และ ปี 2565 ที่ 363 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาต่อ TEU เพิ่มขึ้น 20% หนุนศักยภาพการทำกำไรของผู้ประกอบการเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง 2 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งสั่งต่อเรือขนส่ง ตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับปริมาณกองเรือทั่วโลก โดยเรือใหม่เหล่านี้จะทยอยเข้าสู่ตลาด ในระยะ 2 ปีข้างหน้า (2566) ซึ่งจะเริ่มเห็นบรรยากาศการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ส่วนดัชนีค่าระวางเรือเทกอง นั้น มีแนวโน้มเร่งตัวตามอัตรา ค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โดย จะเริ่มเห็นได้ในช่วงไตรมาส 3/2564 ซึ่งเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตร ขณะที่คำสั่งต่อเรือเทกองใหม่มีเพียง 6-7% เมื่อเทียบกับปริมาณกองเรือ ทั่วโลก เป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนีค่าระวางเรือเทกองมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงได้นานกว่าอัตราค่าระวางเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์

และนั่นทำให้ RCL ถูกปรับเพิ่มประมาณการรายได้ทั้งปี 2564 ขึ้น 24% ต่อเนื่องไปปี 2565 อีก 98% หนุนจากอัตราค่าระวางตู้คอนเทนเนอร์ที่มีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐต่อ TEU ในช่วงที่เหลือของปี อีกทั้งยังมีโอกาสเร่งตัวขึ้นต่อ ตามความต้องการใช้ในแต่ละช่วงเวลา จนราคาเหมาะสมขยับเพิ่มเป็น 60.00 บาทต่อหุ้น

ต้องยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานมามากกว่าหนึ่งปีครึ่ง เป็นปัจจัยกดทับให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางเรือเผชิญกับความโกลาหล หลังจากที่การหมุนเวียนของตู้คอนเทนเนอร์เปล่าอยู่ในภาวะขาดแคลน ท่ามกลางความต้องการของผู้ผลิตสินค้าที่หวังจะส่งออกสินค้าไปยังตลาดและผู้บริโภคมากขึ้น จนทำให้ค่าขนส่งสินค้าทางเรือในหลายเส้นทางปรับตัวสูงขึ้น และทำสถิติใหม่ในรอบปีไปโดยปริยาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกรวมถึงผู้ผลิตสินค้าอย่างมาก

มีรายงานว่า ผู้ส่งออกสินค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัจจัยดังกล่าว หลังจากที่ราคาค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือหลายเส้นทางได้ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี โดยสาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนในหลายท่าเรือที่มีการสัญจรหนาแน่น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวยังลามไปถึงห่วงโซ่ การผลิตในหลายประเทศ และอาจกระทบกับภาพรวมของเศรษฐกิจโลกได้

ก่อนหน้านี้ การสำรวจภาพรวมของค่าส่งสินค้าทางเรือในช่วงที่ผ่านมา พบว่าราคาของค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ในเส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้ ของจีนถึงรอตเตอร์ดัมในยุโรป ปรับตัวขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่อยู่ที่ 8,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 ตู้ จากราคาปกติซึ่งอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้-ลอสแองเจลิส ได้ทำราคาสูงสุดใหม่เช่นกัน โดยปรับตัว ไปอยู่ที่ประมาณ 4,200 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาปกติอยู่ที่เพียงไม่เกิน 2,700 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

หากแต่สถานการณ์ล่าสุดดูจะหนักหน่วงขึ้นไปอีก เมื่อราคาค่าขนส่งของ ตู้สินค้าขนาด 40 ฟุตจากเซี่ยงไฮ้ไปยังรอตเตอร์ดัมปรับตัวมีราคาสูงถึง 10,522 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 ตู้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาถึง ร้อยละ 547 โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ Drewry Shipping ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยข้อมูลทางทะเลระดับโลก ขณะที่สินค้ากว่าร้อยละ 80 จากทั้งหมดที่ขนส่ง ทางทะเลนับตั้งแต่ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กาแฟ น้ำตาล และผลิตภัณฑ์อาหารจากทะเลต่างพุ่งขึ้นสูงตามไปด้วย

ค่าขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลกที่พุ่งทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลใจทางด้านเงินเฟ้อที่อาจติดตามมาและเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงไปทั่วโลกอีกด้วย โดยล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์จะเลวร้ายลงไปอีก เนื่องจากรายงานใหม่ที่ปรากฏออกมาแสดงให้เห็นว่าราคาค่าขนส่งทางเรือยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วสู่ระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในวงกว้าง ไล่เรียงตั้งแต่ราคากาแฟที่หลายคนต้องดื่มในทุกเช้าไปจนถึง ของเล่นที่พ่อแม่ต้องการจะซื้อให้ลูกเล่น และเป็นไปได้อย่างมากที่ทุกอย่างนี้อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่จะมีใครคาดคิด

ปัจจุบัน มีรายงานว่ายังมีสินค้าที่มีความต้องการสูงอย่างสินค้าไอที สินค้าทางการแพทย์ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในบ้าน รวมถึงความต้องการสต๊อกสินค้าจากธุรกิจค้าปลีกทั่วโลก ทำให้ความต้องการส่งตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นยังมาจากตู้คอนเทนเนอร์ที่อยู่ในประเทศจีนขาดแคลนอย่างหนัก จากความต้องการของผู้ผลิตในจีนที่ต้องการส่งออกสินค้า สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตของจีนที่ฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน ตู้คอนเทนเนอร์เปล่าที่อยู่ตามท่าเรือใหญ่ๆ ทั่วโลกก็ไม่เพียงพอกับความต้องการในขณะนี้ โดยดัชนี Shanghai Containerized Freight Index ล่าสุดอยู่ที่ 2870.34 จุด ทำลายสถิติใหม่เช่นเดียวกัน ซึ่งดัชนีชี้วัดดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือยังอยู่ในระดับสูง โดยได้วัดจากราคาค่าขนส่งทางเรือจากหลายเส้นทางทั่วโลก และหลายฝ่ายประเมินว่าราคาค่าขนส่ง ทางเรือในขณะนี้ยังไม่ใช่จุดสูงสุดเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ อาจทำให้ราคาขนส่งทางเรือที่จะทำจุดสูงสุดใหม่สามารถยืดระยะออกไปได้อีก

ความต้องการสินค้าประเภทต่างๆ จากทั่วโลกทำให้อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือเผชิญหน้ากับปีที่เปราะบาง ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยเรือขนสินค้าจำนวนมาก ที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์หนักถึง 190,000 ตันต้องส่งสินค้าตามท่าเรือต่างๆ ให้เป็นไปตามกำหนดเวลาแต่เมื่อเจอปัญหาการจราจรบริเวณท่าเรือคับคั่ง การนำสินค้าลงเพื่อขนส่งต่อไปยังจุดหมายต่อไปไม่เป็นไปตามกำหนด จึงเกิดปัญหาล่าช้า เรือขนส่งสินค้าจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนเส้นทาง ขณะที่บรรดาผู้ประกอบการพยายามหาพื้นที่ว่างเพื่อให้สินค้าของตนได้รับการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ยังดำเนินอยู่

การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือเผชิญกับความยากลำบากทั้งในมิติของราคาค่าระวางที่ปรับตัวสูงขึ้น และผลจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และสิ่งที่ผู้บริโภคปลายทางกำลังต้องเผชิญนับจากนี้ คือภาระ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและราคาสินค้าจำนวนมากที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาค่าระวางขนส่งที่จะถูก

เมื่อเร็วๆนี้  “ทวินโชค ตันธุวนิตย์” ผู้อำนวยการอาวุโส (หัวหน้างานภูมิภาค ปฏิบัติการและธุรกิจ) บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) หรือ RCL แสดงความเห็นถึงแผนธุรกิจของบริษัทว่า ในปี 2564 RCL ยังคงศึกษาการลงทุนซื้อเรือในทุกประเภท ทั้งเรือมือสองและเรือใหม่ โดยจะดูจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม หลังจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทลงนามซื้อเรือมือสองไปแล้ว จำนวน 6 ลำ คาดว่าจะได้รับเรือในช่วงปลายไตรมาส 3/2564 และจะสามารถเริ่มออกให้บริการได้ในไตรมาส 4/2564 ซึ่งเรือมือสองดังกล่าวคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ประมาณ 10 ปี และจะทำให้ต้นทุนการให้บริการของบริษัทถูกลงกว่าการเช่าเรือในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือให้บริการรวม 14 ลำ

ขณะที่ปัจจุบัน การลงทุนซื้อเรือใหม่ราคาสูงมาก เนื่องจากมีความต้องการใช้เรือขนส่งสูงมาก ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้ม (เทรนด์) การซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีความนิยมมากขึ้น ทำให้ต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้าจำนวนมากขึ้น รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ส่งผลให้มีความต้องการซื้อสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการ Work from Home มากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปัจจุบัน อัตราค่าเช่าเรือเพิ่มขึ้นประมาณ 200% อยู่ที่ประมาณ 135,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาเรือขาดตลาด ส่งผลให้ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/2564 ของ RCL ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้รวม 7,147.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าระวางเรือในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 13,795 บาทต่อตู้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีค่าระวางเฉลี่ยอยู่ที่ 8,588 บาทต่อตู้ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,941.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 12.7 ล้านบาท

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบที่ทำให้เรือขาดตลาดและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564 มาจากเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Ever Given เกยขวางคลองสุเอซในประเทศอียิปต์, เรือค้างท่าในประเทศจีน, เรือสินค้าชนเครนที่ประเทศไต้หวัน และเรือสินค้าไฟไหม้ จมทะเลที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดภาวะ “เรือช็อกระบบ” ในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือ

และมุมมองของผู้บริหาร RCL ช่วยแสดงให้เห็นว่า ห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัวตอนใต้ของจีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาความล่าช้า ท่าเรือแออัด และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ว่าง โดยการดำเนินงานลดลงมาอยู่ที่ 30% ของระดับปกติ เพราะหน่วยงานควบคุมกิจกรรมเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ขณะที่คาดว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ตึงตัวจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าค่าระวางเรือของ RCL จะยังอยู่ในระดับสูงที่ 450 ดอลลาร์สหรัฐ/TEU ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

นอกจากนี้ ธุรกิจของ RCL ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจาก ความต้องการสินค้าจากการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะหนุนอัตราค่าระวางคอนเทนเนอร์ในไตรมาส3/64

อย่างไรก็ตามปัญหาความแออัดในท่าเรือคาดว่าจะเริ่มดีขึ้นในปลายเดือนกรฎาคม โดยท่าเรือ Yiantian ได้เพิ่มจำนวนคนงานในท่าเรือเป็น 40% เทียบกับ 20% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าอาจใช้เวลามากกว่าหนึ่งเดือนก่อนทีการดำเนินงานของท่าเรือ Yiantian จะกลับสู่ระดับปกติ ขณะที่หลายรัฐในสหรัฐฯเตรียมยุติโครงการช่วยเหลือการว่างงานจากโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และคาดว่าอัตราค่าระวางคอนเทนเนอร์อาจอ่อนตัวลงในสิงหาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น