xs
xsm
sm
md
lg

เปิดมุมมอง “ชลเดช” นายกสมาคมฟินเทคฯ คนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยคนใหม่หมาด ๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งด้วยมติเป็นเอกฉันท์ สวมหมวกอีกใบเป็น Group CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Robowealth Group บริษัทชั้นนำที่พัฒนาแอพพลิเคชันด้านการลงทุน ก่อนหน้านั้นได้เก็บเกี่ยวประสบการการณ์ด้านการเงินมานาน ผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้งกับสถาบันการเงินชั้นนำ ขณะเดียวกันก็สามารถรับมือ และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับในทั้งวงการฟินเทคและแวดวงตลาดทุน


I Business สัมภาษณ์พิเศษ ชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย ถึงความมุ่งหวัง และทิศทางที่จะผลักดันสมาคมฯ ให้ก้าวไป นับจากนี้

>>> นิยามความหมาย ฟินเทค (Fintech)

เมื่อถามนิยามความหมายของ ฟินเทค (Fintech)
ชลเดชตอบว่า “มาจากสองคำต่อกัน คือ Finance กับ Technology คำนิยามสั้น ๆ ซึ่งผมพยายามหาจากหลายแหล่งมาสังเคราะห์เข้าด้วยกันคือ ‘การนำเอาเทคโนโลยีมาทำให้ระบบการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น’ กิจกรรมทางการเงินอะไรก็ตาม ถ้ามีการใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ มาทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว มันก็คือฟินเทค ประสิทธิภาพอาจหมายถึงการเข้าถึงคนได้มากขึ้น ต้นทุนการให้บริการต่ำลง หรือมีคุณภาพของการบริการในระดับที่ดีขึ้น ทุกอย่างเป็นฟินเทคหมดเลย ดังนั้น รอบตัวเราก็มีหลายอย่างที่เป็นฟินเทค เช่น บัตรเครดิต, Mobile Banking, E-wallet, E-commerce, แม้แต่ Grab ก็เป็นบริษัทด้านฟินเทค”

ในช่วงหลัง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีล้วนขยับมาทำธุรกิจด้านฟินเทคทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Apple, Microsoft, Google, Amazon หรือรวมเรียกว่า FAMGA ถ้าเอาตัวอักษรทั้งห้าตัวแรกมาเรียงกัน

“Facebook ริเริ่มโครงการ Libra ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็น Diem เพื่อพัฒนา Stable Coin และระบบชำระเงินบนเทคโนโลยี Blockchain ส่วน Apple ก็ร่วมมือกับ Goldman Sachs ทำธุรกิจด้านบัตรเครดิตด้วยกันเป็นครั้งแรกของทั้งคู่ Amazon ก็ทำ Crowdfunding ภายใต้ชื่อ Build It” ชลเดชยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

เมื่อถามเกี่ยวกับกระแสฟินเทคในประเทศไทย ชลเดชตอบว่า “ผู้บริโภคให้การตอบรับบริการด้านฟินเทคเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เราต้องปรับตัวให้เข้ากับ New Normal ภายใต้สถานการณ์โควิด จึงทำให้ผู้ประกอบการเร่งนำเสนอบริการฟินเทคออกมาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งตัวผู้บริโภคเองและทุกภาคส่วนที่อยู่ในวงการฟินเทค”



>>> โปร่งใส-เปิดกว้าง-รวมพลัง ผลักดันสมาคมในทิศทางที่มุ่งหวัง

เมื่อถามว่าในฐานะนายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย อยากผลักดัน สมาคมฯ ไปในทิศทางใด

ชลเดชตอบว่า โดยส่วนตัวแล้วช่วงนี้นับเป็นเวลาที่เหมาะพอดี เนื่องจากการทำงานในบริษัทตัวเองเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว จึงสามารถบริหารเวลาเพื่อมาทำงานให้สมาคมได้ และอยากพัฒนาวงการฟินเทคของไทยให้เทียบเคียงกับเพื่อบ้านอย่างสิงคโปร์ได้สักที ทั้งที่สองประเทศนี้ได้เริ่มก่อตั้งสมาคมฟินเทคมาพร้อม ๆ กัน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่ต้องยอมรับตามตรงว่าของสิงคโปร์ไปไกลกว่าเรามาก

ชลเดชเล่าถึงทีมบอร์ดบริหารว่า อมฤต ฟรานเซน รุ่นน้องคนสนิทในวงการฟินเทค เป็นคนแรกที่ชักชวนให้ตนเองลงสมัครตำแหน่งนายกสมาคมฯ จากนั้นชลเดชจึงได้ขอคำปรึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการเงินของประเทศ และตัดสินใจจัดตั้งทีมงานร่วมอุดมการณ์ โดยได้ทาบทามอีก 3 ผู้สมัครเป็นบอร์ดบริหารเพิ่มเติม ได้แก่ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา, ภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย, เอกสิทธิ์ เดี่ยววณิชย์ ชลเดชเสริมว่าทั้ง 5 คน ต่างมาจากคนละธุรกิจ แต่ทุกคนต้องใช้ฟินเทคเพื่อพัฒนาธุรกิจเหมือนกัน โดยใช้คำว่า “รวมกันเป็น อเวนเจอร์ แล้วก็มาช่วยสมาคมทำงาน”

ชลเดชกล่าวว่า อันดับแรก สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง หลักๆ คือเรื่องความโปร่งใส และเปิดกว้าง

“เราต้องปรับภาพลักษณ์ให้สมาคมเป็นของทุกคน โดยการเผยแพร่ข้อมูลการทำงานอย่างโปร่งใส และสื่อสารกับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการเปิดกว้างเพื่อขยายฐานสมาชิก เข้าหาและเข้าถึงผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร บล. บลจ. บริษัทประกันฯ ตลาดหลักทรัพย์ หน่วยงานกำกับดูแล ผมได้เชิญบางหน่วยงานไว้ก่อนแล้ว เนื่องจากต้องการให้สมาคมได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานใหญ่ ๆ ซึ่งบางท่านอาจเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพิ่มเติมของสมาคมอีกด้วย ส่วนบริษัทต่างประเทศที่มีสำนักงานอยู่สิงคโปร์ ผมก็ชวนไว้แล้ว เพื่อส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าเราเปิดกว้างจริง ๆ รวมไปถึงบุคคลธรรมดาที่สนใจเรื่องฟินเทค ผมก็เล่าให้ฟังว่าควรจะเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย ความมุ่งหวังคือผมอยากให้สมาชิกมาทำความรู้จักกัน มาแลกเปลี่ยนความคิด มาหาช่องทางต่อยอดธุรกิจ ร่วมกันขจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อผลักดันให้วงการฟินเทคพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ข้อถัดมาคือ สารภาพตามตรงว่าผมอยากจะเลียนแบบสิงคโปร์ โดยให้สมาชิกร่วมกันทำ API Exchange (API: Application Programming Interface) เพื่อทำหน้าที่เป็น Market Place ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือก API ที่จำเป็น นำไปสร้างสรรค์บริการด้านฟินเทคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ต้องทำเองทั้งหมด ใครเก่งเรื่องอะไรก็ทำเรื่องนั้นให้เป็น API ที่มีมาตรฐานเดียวกัน และควรเป็นมาตรฐานที่เชื่อมต่อกับประเทศที่เป็นผู้นำด้านฟินเทคของโลกได้ บริษัทขนาดเล็กหรือ Start-up จะได้ประโยชน์จากการสร้าง MVP (Minimum Viable Product) ในต้นทุนที่ต่ำลง

ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่หรือสถาบันการเงินจะได้ประโยชน์จากระยะเวลาการทำ Digital Transformation ที่จะสั้นลงอย่างมาก หากทำเรื่อง API Exchange นี้สำเร็จ ประเทศไทยอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน Fintech Hub ที่สำคัญในโลก เนื่องจากมีตลาดเงินตลาดทุนที่แข็งแกร่ง มีตลาดในประเทศขนาดใหญ่ และสามารถเป็นประตูสู่ CLMV ได้ โดยผมได้พูดคุยกับผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่อง Infrastructure นี้ไว้ระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ร่วมกันทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น ทีมงานมีความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี

ข้อสุดท้าย พวกเราทุกคนในสมาคมฯ อยากจะช่วยเพิ่มความรู้พื้นฐานทางการเงิน ควบคู่ไปกับพัฒนาการใหม่ ๆ ด้านฟินเทคให้กับผู้ที่สนใจ โดยมุ่งไปที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะผมเองก็เป็นอาจารย์สอนในวิชาฟินเทคให้กับหลายมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว พวกเราเลยอยากมีส่วนร่วมกับอาจารย์ในการสร้าง Fintech Talent เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาวงการฟินเทคของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” ชลเดชระบุ


>>> ความท้าทายในช่วงวิกฤตโควิด

เมื่อถามว่าการเป็นนายกสมาคมในช่วงวิกฤตโควิด ท้าทายอย่างไร จะนำพาสมาคมไปในทิศทางใดบ้าง

ชลเดชกล่าวว่า “เราต้องมองวิกฤตให้เป็นโอกาส โควิดช่วยให้พวกเราได้ลองใช้งาน Zoom Meetings, Google Meet, Microsoft Teams ทั้งที่เทคโนโลยีประเภทนี้มีมายี่สิบกว่าปีแล้ว แต่เราแทบไม่เคยได้ใช้งานหรือแม้แต่จะสนใจบริการแบบนี้เลย บริการด้านฟินเทคก็เช่นกัน เราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เราต้องสร้างบริการที่ตอบโจทย์ New Normal จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ เราต้องร่วมมือกันเกาะกระแสฟินเทคนี้ไปให้ได้ ผมคิดว่าถ้าเราพลาดคลื่นลูกนี้ไป มันก็จะไม่มีคลื่นอะไรให้เกาะแล้ว”

หากถามว่าความท้าทายคืออะไร ชลเดชกล่าวว่า “ต้องทำให้ไว ทำให้ทัน ยกตัวอย่างตัวผมเอง ไม่ว่าจะเป็นงานสมาคมฯ งานกับ Business Partner หรืองานของบริษัท ผมจะจัดให้มีการประชุมระดับผู้บริหารเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ แทนที่จะประชุมกันเดือนละครั้ง แต่ละโปรเจกต์ผมจะมี Steering Committee เพื่อให้แต่ละคนรายงานความคืบหน้าในแต่ละ Sprint ว่าทำงานกันไปถึงไหนแล้ว และแลกเปลี่ยนความคิดกันเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้น ถ้าใครไม่ทำงาน คนนั้นจะรู้สึกผิดต่อเพื่อนทั้งกลุ่มเอง ผมคิดว่าเราควรอาศัยความท้าทาย และความกดดันจากภายนอก มาเป็นแรงผลักดันจากข้างใน เพื่อช่วยให้งานที่ยากเปลี่ยนเป็นงานง่าย จนก้าวข้ามทุกวิกฤตไปด้วยกัน”

ชลเดชทิ้งท้ายด้วยว่าในส่วนของสมาคมฯ อยากจะสื่อสารความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ พร้อมกับรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกและผู้ที่สนใจทั่วไป ผ่านช่องทาง Social Media อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาวงการฟินเทคของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก นับเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจ เปิดกว้าง และท้าทาย จากนายกสมาคมฟินเทคผู้นี้

ติดตามข้อมูลข่าวสารของทางสมาคมฯ ได้ที่ www.facebook.com/ThaiFintechAssociation
กำลังโหลดความคิดเห็น