xs
xsm
sm
md
lg

รัฐ-เอกชนงัด 4 แนวทางป้องโควิด-19 ในโรงงาน หวังขับเคลื่อน ศก.ให้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ผนึกกำลังขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานด้วย 4 หลักการ “Online - Onsite - Upgrade - Vaccine” ขณะที่ ก.แรงงานเผยเตรียมฉีดวัคซีนให้ผู้ประกันตน ม.33 ใน 11 จังหวัด ศก.เดือนหน้า

วันนี้ (11 มิ.ย.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ร่วมหารือมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมีผู้บริหารของสองกระทรวง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย( ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (ศบค.) มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นเจ้าภาพหลักและร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ ในการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการโรงงานทั้งประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อโรงงานและปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันในการนำหลักการ “Online - Onsite - Upgrade -Vaccine” มาดำเนินการควบคุมและดูแลืได้แก่

1. Online - ให้โรงงานประเมินตนเองผ่าน Platform online : Thai Stop Covid plus และ Thai Save Thai ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 โดยกลุ่มเป้าหมายแรกเป็นโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3,304 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 15 มิถุนายน 2564

2. Onsite - จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ BOI ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ (On-site) ให้ได้ 10-20% ของสถานประกอบการเป้าหมาย อาทิ สถานประกอบการขนาดใหญที่มีความสำคัญในพื้นที่ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกำกับติดตามและรายงานข้อมูลตามแผนการตรวจประเมินเสนอผลการรายงานมายังกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นรายสัปดาห์ โดยกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2564

3. Upgrade - จัดมาตรการลดความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพ ด้วยการจัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการจากโควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเองผ่านแฟลตฟอร์ม Thai Stop Covid Plus และการลงพื้นที่ On-site ประเมินโรงงานเป้าหมายจะมีมาตรการเพื่อช่วย Upgrade สถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งมีมาตรการเสริมแกร่งเพื่อช่วยให้โรงงานสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ ส.อ.ท.ผลักดันการดำเนินงานต่อไป

4. Vaccine - เร่งรัดฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน เร่งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่ นิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม รวมถึงประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ รวมทั้งเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมส่งออกที่จะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาในไตรมาส 3 และ 4

“ขณะนี้มีความพร้อมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนฯ ให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมแล้ว รวมจำนวน 27 แห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบแล้ว 6 แห่ง (นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ (ชลบุรี) นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ) และอยู่ระหว่างขอความเห็นชอบ 21 แห่ง ทั้งนี้ จะขอความอนุเคราะห์จาก ศบค.พิจารณาให้ความสำคัญต่อการจัดสรรวัคซีนให้แก่ศูนย์ฉีดวัคซีนฯ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่จะร่วมสุ่มตรวจ Onsite ในโรงงานกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น“ นายสุริยะกล่าว

 


นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานยังได้มีการเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน ม.33 โดยยอมรับว่าได้เร่งดำเนินการใน กทม.ก่อนและมีศักยภาพฉีดได้ถึง 4-5 หมื่นรายต่อวันทำให้เสร็จเร็ว ประกอบกับจะจัดระเบียบรายชื่อบุคคลที่โรงงานส่งมาที่ปรากฏว่ามีความซ้ำซ้อนส่วนหนึ่งไปฉีดแล้วไม่ตัดออกจึงมีปัญหาจึงต้องปรับปรุงศูนย์ฯ กทม. 45 จุด ชั่วคราว และจะเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ส่วนเดือน ก.ค.นี้จะเร่งการฉีดให้ผู้ประกันตน ม.33 ใน 11 จังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจใหญ่ เช่น ปทุมธานี เพชรบุรี นนทบุรี เชียงใหม่ ฯลฯ เป็นระยะต่อไป

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นมาตรการที่ดีมากที่จะทำให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งก่อนหน้านี้การประเมินตนเองอาจไม่ครอบคลุมทุกโรงงาน แต่หลังจากนี้กระทรวงอุตฯ จะเข้าไปดูก็จะทำให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญรัฐจะต้องเร่งกระจายวัคซีนให้เป็นไปตามแผนซึ่งจะฟื้นฟู ศก.โดยเร็ว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงงานที่พบการแพร่ระบาด 149 แห่ง มีผู้ติดเชื้อ 7,777 คน ในพื้นที่ 21 จังหวัดทั่วประเทศจึงได้หามาตรการดูแลครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่อยากฝากคือขอให้รัฐจัดหาวัคซีนมาตามแผน
กำลังโหลดความคิดเห็น