xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” หารือ ก.แรงงาน-ส.อ.ท. 11 มิ.ย.นี้ เร่งยกระดับคุมโควิดป้องเกิดคลัสเตอร์โรงงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จับตาการหารือร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ส.อ.ท. และสภาหอฯ เพื่อหามาตรการยกระดับคุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการหลังคลัสเตอร์โรงงานยังพุ่งไม่หยุด “ส.อ.ท.” หวั่นลุกลามเร่งจัดหาวัคซีนครอบคลุมพนักงานและชุมชนรอบข้าง พร้อมปิด 4 จุดอ่อนตีแตกโรงงานติดเชื้อ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า วันที่ 11 มิถุนายนนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะหารือร่วมกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตัวแทนจาก ส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมมือในการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบการหรือโรงงานที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งขณะนี้ยังคงมีแนวโน้มการเกิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและไม่ต้องการให้ขยายวงไปมากกว่านี้เพราะจะมีผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยในระยะต่อไปได้ โดย ส.อ.ท.ยังเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“การเกิดคลัสเตอร์ในโรงงานยังมีต่อเนื่องซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.อ.ท.มีความกังวลมาโดยตลอดเพราะหากยืดเยื้อและขยายวงกว้างจะยิ่งทำให้มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งกระบวนการผลิตได้แม้ว่าวันนี้ยังไม่ลุกลามถึงขั้นกระทบต่อฐานการผลิตใหญ่ๆ ก็ตาม ดังนั้น การระบาดโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก ส.อ.ท.ได้ประกาศแผนรับมือกับเหตุการณ์ภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan) หรือ BCP ในทุกภาคส่วนที่มีแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนที่จะป้องกันและดูแลการแพร่ระบาดโควิด-19” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม การระบาดโควิด-19 รอบ 3 ต้องยอมรับว่ามีการกระจายเป็นวงกว้างส่งผลกระทบหนักสุดและแม้จะมีความรัดกุมในการป้องกันแต่ก็ยังคงเกิดคลัสเตอร์จึงต้องหามาตรการเพิ่มเติม ซึ่งจากการสำรวจของ ส.อ.ท.ถึงการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์โรงงานก็พบว่ามาจาก 4 จุดสำคัญ ได้แก่ 1. พนักงานของบริษัท แม้ว่าจะมีการเข้มงวดแต่พนักงานบางส่วนต้องเดินทางกลับบ้าน ซื้อสินค้าตามตลาดผ่านชุมชนทำให้การติดเชื้อมีง่าย 2. การติดเชื้อจากพนักงานที่จัดจ้างคนภายนอกหรือเอาต์ซอร์ส (Outsource) เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) แม่บ้านทำความสะอาด 3. ระบบขนส่ง ที่แม้ว่าโรงงานจะมีการฉีดพ่นฆ่าเชื้อรถแต่พนักงานก็สามารถติดเชื้อมาแพร่ได้ 4. โรงอาหารที่มักพบว่าโรงงานขนาดใหญ่จะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาขายอาหารที่อาจเล็ดลอดเข้ามาแพร่เชื้อ

ดังนั้นจากกรณีดังกล่าว ส.อ.ท.จึงมองหามาตรการเพื่อปิดจุดอ่อนดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะกำหนดให้เอาต์ซอร์สต้องมีการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ขณะเดียวกันบางโรงงานได้ร่วมมือกันที่จะจัดซื้อวัคซีนทางเลือกเพื่อที่จะดูแลการฉีดวัคซีนที่ไม่เพียงเฉพาะพนักงานตนเองแต่ยังครอบคลุมชุมชนรอบข้างไปด้วย เป็นต้น โดยยอมรับว่าการฉีดวัคซีนของสถานประกอบการนั้นจะมีเป้าหมายที่ต้องฉีดให้ครบ 100% ต่างจากการฉีดในระดับประเทศที่มุ่งเน้นการฉีด 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่
“ส.อ.ท.ได้จองวัคซีนทางเลือกยี่ห้อซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ไว้จำนวน 1 ล้านโดส แต่ได้จัดสรรล็อตแรก 3 แสนโดสและจะมีการฉีดเข็มแรกวันที่ 25 มิ.ย. โดยทางนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.จะมีการแถลงข่าวรายละเอียดอีกครั้งเร็วๆ นี้” นายเกรียงไกรกล่าว

นอกจากนี้ ส.อ.ท.จะหารือถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ภาคการผลิตโดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องใช้แรงงานระดับเข้มข้นกำลังขาดแคลนนับแสนคนเนื่องจากการระบาดโควิดรอบ 3 หลายอุตสาหกรรมฟื้นตัวจากการส่งออกที่กลับมาเติบโต ขณะที่แรงงานซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบ 1-2 ทั้งต่างด้าวและแรงงานไทยต่างกลับไปยังภูมิลำเนาของตนเองแล้วไม่กลับมาสู่แรงงานดังเดิม ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรเปิดโควตาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น