xs
xsm
sm
md
lg

โปรโมตแพกเกจดึงต่างชาติเข้าไทย โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจฟื้นตัว-ปลดล็อก กม.ถือครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ได้มีการหารือถึงข้อเสนอในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยให้น้ำหนักในเรื่องมาตรการดึงชาวต่างประเทศที่มีศักยภาพสูงเข้ามาในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศในระยะยาว โดยมีเป้าหมายที่ระบุไว้ในข้อเสนอที่มีการหารือประมาณ 1 ล้านราย เกิดการใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านล้านบาท

สำหรับข้อเสนอ โฟกัสใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง ไม่จำกัดอายุ 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ อายุ 50 ปีขึ้นไป 3.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ไม่จำกัดอายุ และ 4.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย ไม่จำกัดอายุ ซึ่งสิทธิประโยชน์มีหลายรายการ ได้แก่ วีซ่าระยะยาว 10 ปี ยกเว้นภาษีมรดกสำหรับทายาท ลดภาษีสรรพสามิตสินค้าฟุ่มเฟือย 50% เว้นภาษีเงินได้รายได้จากต่างประเทศ ส่วนรายได้ในประเทศคิดอัตราคงที่ 17% ซึ่งในประเด็นนี้มีการโต้แย้งกันมากในที่ประชุม เนื่องจากอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป เทียบกับอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศที่เก็บสูงสุด 35%

โดยในประเด็นข้างต้น นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรออกมานะครับ แต่เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งในบางข้อเสนอเพิ่มความสะดวกและจูงใจให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย แต่ถ้าพูดกันตรงๆ เป็นวิธีคิดแบบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพราะ ททท.เป็นผู้เสนอ ถ้ามองในเรื่องของการท่องเที่ยวแล้วเรามีสิ่งอำนวยความสะดวก มีธุรกิจรองรับที่ดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ เช่น โรงแรม รถทัวร์ ไกด์ทัวร์ และสปาพร้อม แต่หากไปโปรโมต เช่น ให้ถือครองวีซ่าได้ 10 ปี มาอยู่ยาวได้สิทธิพิเศษเพียบเลย คำถามคือ ตามกฎหมายที่มีต่างชาติจะซื้ออะไรได้บ้าง ก็ต้องซื้อโครงการคอนโดมิเนียม เพราะไม่สามารถซื้อที่ดินหรือบ้านได้ โปรโมต (ให้ตาย) ก็มีคอนโดฯ รองรับ

“คอนโดฯ บ้านเรากว่า 70 เปอร์เซ็นต์อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และในสมุทรปราการบ้าง ยิ่งในทำเลอีอีซีไม่ค่อยเห็นคอนโดฯ เกิดขึ้น หยุดทำมากันมา 3-4 ปีแล้ว เป้าดึงคนเข้ามาเป็นล้านคน จะให้คนกลุ่มนี้ไปซื้อโครงการที่ไหน และตามกฎหมายยังกำหนดสัดส่วนต่างชาติซื้อห้องชุดได้ไม่เกิน 49 เปอร์เซ็นต์ เรียกคนเข้ามา (ชาวต่างชาติ) ได้ แต่ของ (โครงการอสังหาฯ) ที่จะขายจะกระตุ้นอะไร คงหนีไม่พ้นคอนโดฯ ขณะที่การถือครองที่ดินนั้นถูกระบุในพระราชบัญญัติ การจะแก้พระราชบัญญัติต้องในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ต้องมีการโหวต สุดท้ายก็มีคนต่อต้าน เป็นกฎหมายขายชาติ ดังนั้น ถ้าไม่แก้กฎหมายคงไม่สามารถให้ต่างชาติถือครองที่ดินได้ และไม่สามารถที่จะออกเป็นมติ ครม. หรือกฤษฎีกา เพราะต่ำกว่าพระราชบัญญัติ” นายพรนริศ กล่าวและชี้ว่า

มาตรการนี้ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของการกระตุ้น จะกระตุ้นกี่ปี ซึ่งรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ที่เราโฟกัสชาวต่างชาติใน 4 เป้า เมื่อเข้ามาแล้ว จะอยู่ตรงไหน งานอยู่ในพื้นที่ใด เพื่อให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงานของตนเองภายใต้กรอบของกฎหมายเดิมที่ระบุไว้ไม่เกิน 49% หรือหากทำแล้วชาวต่างชาติไม่มา หรือมาไม่เต็ม ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรต่อ

“ผมว่าสิทธิประโยชน์มันดี กระตุ้น แต่เมื่อจะซื้อของจะซื้อที่ไหนได้บ้าง งานอยู่ตรงไหน อย่าลืมนะ ไม่ใช่เราเวลคัมอย่างเดียว ต่างชาติก็ดูเหมือนกันนะครับว่า งานอยู่ตรงไหน เราต้องมองให้ครบวงจร และถ้าไม่ปลดล็อกการถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินแนวราบก็ไม่มีประโยชน์ แต่หากเราแก้เรื่องของการเช่าระยะยาว เช่น 70 ปี หรือมากกว่านี้จะจูงใจ ชาวต่างชาติอาจจะเซ้งยาว แถมได้วีซ่าลองสเตย์ ได้เช่าระยะยาว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านสภาอยู่ดี เพียงแต่น้ำหนักหรือกระแสต่อต้านจะเบากว่าการขายหรือให้สิทธิต่างชาติครอบครองที่ดิน”

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ระหว่างปี 2561-2563 มีชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสะสม 34,651 หน่วย มูลค่า 145,577 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีมูลค่าสูงสุด 57,000 ล้านบาท

ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์บางรายเริ่มที่จะเห็นโอกาสหาก ‘ข้อเสนอ’ ดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิบัติได้ในระยะข้างหน้า โดยพบว่า บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งยังคงมีเป้าในเรื่องของการสร้างรายได้จากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ เช่น บริษัท ออริจิ้น จำกัด (มหาชน) วางเป้าปีนี้ 1,000 ล้านบาท บริษัท อนันดา ดีเวลล้อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างชาติประมาณ 20% ของรายได้รวม

“ตามสถิติแล้วต่างชาติเคยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงสุดประมาณปี 61 เกือบ 60,000 ล้านบาท ซึ่งสูงมาก และคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเห็นความคึกคักเหมือนปี 61 เนื่องจากปัจจุบัน ราคาคอนโดฯ ไม่จูงใจ อืดมาก ไม่เอื้อต่อการลงทุน แต่สิ่งเราต้องมองกันต่อจากมาตรการที่มีการคุยใน ศบศ. นั้นอาจจะไม่เป็นผลดีต่อโครงการแนวสูงมากนัก เพราะกลุ่มต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง คงมองเรื่องของโครงการแนวราบ เช่น วิลล่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต และอาจจะฉุดตลาดคอนโดฯ ระดับบนได้ แต่ปัจจัยที่จะผลักดันให้ความคิดที่มีการหารือใน ศบศ.นั้นต้องมองเรื่องความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวตั้งข้อสังเกต

(ภาพจาก ddproperty)
กำลังโหลดความคิดเห็น