xs
xsm
sm
md
lg

กางปีกความคิดสู้วิกฤตธุรกิจการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” : น.ต.ดำรงค์ ภาสน์พิพัฒน์กุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

จากอดีตนักบินกองทัพอากาศ ที่หันเหก้าวเข้าสู่สายการบินพาณิชย์ โดยเริ่มจากนักบินผู้ช่วยกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ไทยแอร์เอเชีย โดยเป็นการเข้ารับตำแหน่งที่ประจวบเหมาะกับการเกิดภาวะวิกฤติโควิด ยิ่งนับเป็นความท้าทายใหญ่หลวง


I Business สัมภาษณ์พิเศษ ‘นาวาอากาศตรี ดำรงค์ ภาสน์พิพัฒน์กุล’ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบิน ไทยแอร์เอเชีย ถึงการรับมือเมื่อเผชิญกับความท้าทายในห้วงสถานการณ์วิกฤติโควิดที่ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบิน ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหา ทัศนคติในการทำงาน ของกัปตันดำงรงค์ นับว่าน่าสนใจยิ่ง

>>> รับตำแหน่ง ต้อนรับ ‘โควิด’ อุปสรรคที่ท้าทาย

กัปตันดำรงค์ กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติการบิน มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 แผนกใหญ่ มีพนักงานอยู่ถึง 2,000 กว่าคน ทั้ง 4 แผนกนี้ ประกอบไปด้วย แผนกนักบิน, แผนกลูกเรือ (พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน), แผนกฝึกอบรมนักบิน และแผนกที่ผมเชื่อว่าคนไม่ค่อยคุ้นเคยคือ แผนกควบคุมปฏิบัติการบิน แผนกนี้คือมีหน้าที่จัดบินให้กับนักบินและลูกเรือ รวมถึงช่วยเหลือเรื่องแผนการบินและพิธีการบินต่าง ๆ

“ในภาวะปกติ ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เนื่องจากบริษัทเราก่อตั้งมาย่างเข้าปีที่ 20 ซึ่งฝ่ายปฏิบัติการบินได้รับการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนมาถึงผมซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 และเมื่อผมรับตำแหน่งได้ปีกว่า ๆ ก็เริ่มมีโควิด ผมมองว่ามันเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะโควิดทำให้เราได้คิดและแก้ปัญหามากมายที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ เพราะเมื่อพูดถึงโควิด ตอนแรกเราไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร มันคือโรคระบาดประเภทไหน เมื่อก่อนเราเคยมีซาส์ มีไข้หวัดนก มีปัญหาต่าง ๆ แต่มันไม่ได้ยาวนานขนาดนี้ ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบระยะสั้น แต่โควิดนี่ปีกว่า ๆ แล้ว ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมให้มากที่สุด วางแผน ประเมินสถานการณ์ และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา คาดการว่าอนาคตมันจะเป็นยังไง ถ้ามันดีขึ้นเราจะทำยังไง ถ้ามันแย่ลงเราจะทำยังไง นี่คือความท้าทายเป็นอย่างมาก”

อุปสรรคอย่างหนึ่ง คือการบริหารจัดการทรัพยากร ทุกสายการบินได้รับผลกระทบคือ ลดจำนวนเที่ยวบินอย่างมากและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เราต้องตามทันข้อมูลข่าวสารที่มาจากรัฐบาล ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือผ่านการคัดกรองแล้ว เช่น สถิติ ผู้ติดเชื้อโควิด ข้อกำหนด ข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งทุกอย่างล้วนส่งผลต่อการปฏิบัติงานทั้งสิ้น เราต้องใช้ข้อมูลทุกอย่างมาหารือร่วมกันในการวางแผนให้ดีที่สุด

“เริ่มที่ความเป็นอยู่ เราต้องดูว่าเพื่อนร่วมงานของเรา ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ชั่วโมงบินและรายได้ของเขาลดลงขนาดไหน ตัวผมเองต้องประชุมร่วมกันกับแผนกต่าง ๆ และมาระดมสมอง ดูว่าผลกระทบเกิดขึ้นยังไงบ้าง การควบคุมค่าใช้จ่ายและจัดสรรทรัพยากรบุคคล รวมถึงนโยบายบริษัท และสุดท้ายต้องชี้แจงให้กับพนักงานในแผนกฯ ให้ทราบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ค่อนข้างหนักมาก แต่เราต้องมีเตรียมการและวางแผนที่ดีหรือแม้กระทั่งต้องปรับตัวให้ทันท่วงที”

>>> ผลกระทบต่อลูกเรือ นักบิน และเที่ยวบิน

เมื่อถามถึงการรับมือปัญหาในภาวะวิกฤติอย่างโควิด ว่าลูกเรือและนักบิน เที่ยวบิน มีการแก้ไขอย่างไร กัปตันดำรงค์ตอบว่า อันดับแรก มองภาพรวมให้ได้ พวกเราต้องวางแผนสถานการณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น พร้อมวางแผนและแนวทางแก้ไข ผมต้องติดตามข่าวสารและประเมินไว้ว่ามันเป็นยังไงบ้าง ต้องมีการคาดการณ์ ว่าเหตุการณ์ตรงนี้ จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ถ้าแย่กว่านี้จะทำอย่างไร ซึ่งทุกวันนี้เราปรับเพิ่มและลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับสถานการณ์

“จริง ๆ เราอยากจะบินเยอะ แต่ต้องคำนึงถึง ทั้ง ดีมานด์ ซัพพลาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ช่วงนี้ความต้องการเดินทางและผู้โดยสารลดน้อยลง เราก็ต้องปรับลดเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม เราก็ตั้งใจเปิดเที่ยวบินให้ครอบคลุมความต้องการของผู้โดยสารมากที่สุด มันอาจไม่เหมือนเดิม แต่เราก็ปรับตัวไปด้วยกันได้

“นักบินและลูกเรือเรายังอยู่ครบ เพียงแต่เราจะบริหารจัดการอย่างไร ผมก็ทำงานเป็นทีม มีผู้จัดการในแต่ละแผนกมาช่วยกันคิดและช่วยกันทำ แบ่งหน้าที่กันชัดเจน ในแต่ละเดือนเรามีเรื่องที่ต้องคิดวางแผน แก้ปัญหาไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เราก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ให้มากที่สุดในแต่ละเดือน



“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเดือนนี้ เที่ยวบิดลดลงเหลือ 30% นักบินและลูกเรือเราก็ต้องปรับลง 30% แล้วอีก 70% เราก็จำเป็นให้หยุดพัก เดือนต่อไป กลุ่มที่ได้บินก็มาพัก กลุ่มที่ได้พักก่อนหน้านี้ ก็ไปบิน สลับกันไป เพราะฉะนั้น นักบิน และลูกเรือเรายังบริหารจัดการได้

“อีกข้อที่สายการบินของเราได้เปรียบ คือ เราเป็นสายการบินที่พร้อมปรับตัวและรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แล้วเราก็เปิดใจให้พี่น้องทุกคนในสายบังคับบัญชา มาหาผม ปรึกษาและข้อเสนอแนะได้ หรือแม้กระทั่งการเข้าหาซีอีโอก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้เราสื่อสารเข้าใจกันเป็นอย่างดี”

เมื่อถามว่า นับแต่มีโควิดระลอกแรก ถึงโควิดระลอกสาม เที่ยวบิน ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ และต่างกันอย่างไร

กัปตันดำรงค์ตอบว่า “ตั้งแต่ระลอกแรก ปีที่แล้ว เราไม่รู้อะไรเลย เที่ยวบินบินเราลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีเที่ยวบินในเมษายนปีที่แล้ว โดยต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการประกาศล็อคดาวน์ นั่นคือจุดต่ำสุดเลย เราก็จำเป็นต้องพักหนึ่งเดือน

“อุปสรรคคือ เมื่อเราจำเป็นต้องหยุดบิน แต่นักบินเราต้องรักษามาตรฐาน โดยต้องฝึกบินทบทวน เราก็ต้องขอคำปรึกษาจากสำนักงานการบินพลเรือนฯ เพื่อคุยถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างที่ยังคงรักษาความปลอดภัยการบิน ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีมาโดยตลอด

“หลังจากนั้น เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เราก็สามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง มีเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนพีคสุดเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็นสองช่วง สองสัปดาห์แรก 100% สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ แต่เมื่อต่อมามีประกาศล็อคดาวน์ สัปดาห์ต่อมาเที่ยวบินลดเหลือไม่ถึง 20% เลย

“นั่นคือระลอกสอง แล้วยิ่งพอระลอกสามกราฟก็ตกอีก แต่ผมยังมีความเชื่อมั่นว่า เมื่อวัคซีนเข้ามาและการกระจายฉีดกันมากขึ้น หน่วยงานรัฐมีโครงการสนับสนุนหรือช่วยเหลือธุรกิจการบิน ผมว่าเราก็จะกลับมาได้ แต่เราต้องบริหารจัดการให้ดีและเตรียมความพร้อมเสมอ สถานการณ์นี้กระทบกับทุกคน โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบินกระทบเป็นอย่างมากเพราะเป็นหน้าด่าน รวมถึงส่งผลกระทบกับธุรกิจประเภทอื่นอีด้วย เพราะบ้านเราธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นที่หนึ่ง ธุรกิจการบินเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค

ทางด้าน สายการบินไทยแอร์เอเชียเอง เราเคยผ่านวิกฤติมามากมาย ไม่ว่าเรื่อง น้ำท่วม การเมือง เศรษฐกิจ และก็ครั้งนี้ ผมยอมรับว่าตั้งแต่อยู่แอร์เอเชียมา ก็ไม่เคยหนักเท่านี้มาก่อน สุดท้าย แต่ผมเชื่อมั่นมาก ๆ ว่า ทุกฝ่ายจะผ่านไปได้”

กัปตันดำรงค์เน้นย้ำว่า ทุกวันนี้ เที่ยวบินของแอร์เอเชียยังมีอยู่

“เรายังให้บริการในเส้นทางการบินต่าง ๆ อยู่ แต่ลดน้อยลง และอาจไม่ครบทุกเส้นทางที่เราเคยบินในสถานการณ์ปกติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ตามช่วงเวลา เช่น ยอดผู้ติดเชื้อสะสมและนโยบายในแต่ละพื้นที่ สถานการณ์ช่วงนี้ทำให้เราวางแผนระยะยาวลำบากขึ้น ซึ่งเราก็พยายามให้เกิดผลกระทบต่อผู้โดยสารน้อยที่สุด”

เมื่อถามถึง แนวคิด ทัศนคติ หลักการทำงาน กัปตันดำรงกล่าวทิ้งท้ายว่า

“ถ้าจะทำอะไร ให้ทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ผมจะใช้เป็นสโลแกนประจำตัวผม ดังนั้น เวลาผมจะทำอะไร ผมจะศึกษากับสิ่งนั้นให้ถ่องแท้ และเรียนรู้จากมัน เข้าใจมันให้ได้ แล้วนำมาใช้งาน”
กำลังโหลดความคิดเห็น