xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” หนุนเอเปกห้ามจำกัดส่งออกสินค้าจำเป็น ใช้ CL ช่วยทุกประเทศเข้าถึงวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” เสนอ 5 แนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก ย้ำห้ามจำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็น ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ให้ความสำคัญต่อการขนส่ง โลจิสติกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ พร้อมหนุนใช้ CL ให้ทุกประเทศเข้าถึงวัคซีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (Ministers Responsible for Trade Meeting หรือ MRT) ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2564 ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ขอแสดงความยินดีและขอบคุณนิวซีแลนด์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่สําคัญครั้งนี้ และได้นําเสนอมุมมองของไทยเกี่ยวกับนโยบายทางการค้าที่จะช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และแนวทางของเอเปกในการเสริมสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 5 ประเด็นสําคัญ

โดยประการที่หนึ่ง ไทยยืนยันสนับสนุนการดําเนินงานตามปฏิญญาว่าด้วยการอํานวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าจําเป็นที่ได้รับการรับรองโดยเอเปกเมื่อปีที่แล้ว โดยเน้นว่ามาตรการจํากัดการส่งออกควรสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) และจะต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า

ประการที่สอง ไทยเร่งดําเนินงานตามความตกลงว่าด้วยการอํานวยความสะดวกทางการค้าภายใต้ WTO เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของวัคซีนและสินค้าจําเป็น โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว สําหรับระบบพิธีการศุลกากรเพื่ออํานวยความสะดวกการค้าข้ามพรมแดน

ประการที่สาม รัฐบาลไทยกําลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน เพราะตระหนักถึงความสําคัญของแถลงการณ์เอเปก เรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 และสินค้ายาอย่างเท่าเทียม ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดีของเอเปกและภูมิภาคอื่น

ประการที่สี่ ไทยตระหนักถึงความสําคัญของการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยให้ความสําคัญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ

ประการที่ห้า ไทยสนับสนุนเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา หรือ Compulsory licensing - CL กับวัคซีน เนื่องจากมีความสำคัญต่อการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและรักษาชีวิตทุกคน

นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐมนตรีการค้าเอเปกยังได้ประชุมร่วมกับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ WTO โดยไทยเห็นด้วยกับการที่ WTO หารือที่เจนีวาเกี่ยวกับการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนโควิด-19 เพราะไทยให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงวัคซีนรักษาโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม เพื่อการรับมือการระบาดในปัจจุบัน โดยไทยสนับสนุนบทบาทของ WTO ในการเร่งการผลิตของโลกและห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนรักษาโรคโควิด-19

สำหรับการประชุมรัฐมนตรีWTO ครั้งที่ 12 หรือMC12 เห็นว่า รัฐมนตรีประเทศสมาชิก WTO ควรมีเป้าหมายในการบรรลุข้อมติในประเด็นสำคัญ ได้แก่ การสรุปผลเจรจาเรื่องกฎเกณฑ์การอุดหนุนประมงภายในเดือน ก.ค. 2564, การแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่เพื่อฟื้นฟูระบบการระงับข้อพิพาทของ WTO ให้กลับมาทำงานอย่างสมบูรณ์, การต่ออายุเป็นการชั่วคราว (Moratorium) การยกเว้นการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณี แม้มิได้มีการละเมิดความตกลงทริปส์ และการยกเว้นการจัดเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งขอให้มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมในการจำกัดและลดการอุดหนุนภายในที่บิดเบือนการค้าในภาคเกษตร การขับเคลื่อนแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิรูป WTO

“ที่ผ่านมาเอเปกซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ ได้มีบทบาทในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและการเจรจาภายใต้
WTO มาโดยตลอด ในการนี้ ไทยเห็นว่าเอเปกจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงผลักดันทางการเมืองผ่านแถลงการณ์รัฐมนตรีการค้าเอเปก เพื่อสนับสนุนการเจรจาภายใต้ WTO โดยไทยจะสานต่อการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญในการประชุม MC12 นี้” นายจุรินทร์กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมมี นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วม




กำลังโหลดความคิดเห็น