xs
xsm
sm
md
lg

โพลล์ชี้โควิด-CBDCหนุนดีมานด์คริปโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


การมีเวลาว่างมากขึ้น แถมรัฐบาลบางประเทศออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนรู้สึกว่า การครอบครองคริปโตน่าสนใจมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด
ผลสำรวจพบวิกฤตโรคระบาดดึงดูดนักลงทุนเข้าหาคริปโตมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขาดความรู้เป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับการยอมรับสกุลเงินดิจิตอลนอกเหนือจากความกังวลเรื่องความปลอดภัยและการไม่รู้แหล่งซื้อขายคริปโต นอกจากนั้นยังพบว่า สกุลเงินดิจิตอลแห่งชาติอาจช่วยกระตุ้นดีมานด์สินทรัพย์คริปโตอีกแรง

วิกฤตโรคระบาดส่งผลให้คริปโตดึงดูดความสนใจมากขึ้น ผลสำรวจของอิโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนต์ ยูนิต (EIU) อธิบายว่า เนื่องจากคนจำนวนมากต้องกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดจึงมีเวลาว่างมากขึ้น แถมบางคนยังได้เงินเยียวยาจากภาครัฐ

ข้อมูลของ EIU ระบุว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 46% รู้สึกว่า การครอบครองคริปโตน่าสนใจมากขึ้นในวิกฤตโควิด

รายงานชิ้นนี้ยังอ้างอิงความคิดเห็นของแมทธิว แม็กเดอร์ม็อตต์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายสินทรัพย์ดิจิตอลทั่วโลกของโกลด์แมน แซคส์ ที่บอกว่า ดีมานด์คริปโตหลั่งไหลต่อเนื่องทั้งจากนักลงทุนประเภทสถาบันและรายย่อย

เขายังแนะนำว่า ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในหลายประเทศเพื่อเยียวยาวิกฤตโควิดและอัตราดอกเบี้ยต่ำ จึงเป็นโอกาสอันดีที่บริษัทต่างๆ จะนำเสนอความสามารถในการซื้อ ครอบครอง และใช้เงินดิจิตอล และการมีกระเป๋าเงินดิจิตอลให้แก่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ การสำรวจส่วนแรกครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 3,053 คนในประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ อเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนา อาทิ บราซิล ตุรกี เวียดนาม แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ โดยทำการสำรวจระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดเคยซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยใช้การชำระเงินระบบดิจิตอลบางรูปแบบในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้เปิดรับเงินดิจิตอล แต่ผลสำรวจพบว่า 51% ระบุว่า การขาดความรู้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปิดใจยอมรับมากขึ้น ตามด้วยความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย (34%) และปัญหาในการหาที่ซื้อคริปโต (29%)

ขณะที่คริปโตได้รับการยอมรับจากนักลงทุนประเภทสถาบันมากขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้จากการสนับสนุนของเทสลา, ไมโครสแตรตเทอจี, บีเอ็นวาย เมลลอน, เพย์พาล และแบงก์ใหญ่อย่างโกลด์แมน แซคส์ และมอร์แกน สแตนเลย์ นักลงทุนมองว่า บทบาทหลักของคริปโตคือการเพิ่มค่าของเงินทุนและตัวเลือกในการกระจายสินทรัพย์

สำหรับการสำรวจส่วนที่ 2 ครอบคลุมนักลงทุนประเภทสถาบันและเจ้าหน้าที่ด้านการเงินขององค์กรธุรกิจรวม 200 ราย ซึ่งคุ้นเคยกับกระบวนการตัดสินใจในการลงทุนขององค์กร และ 1 ใน 3 อยู่ในอเมริกา ที่เหลืออยู่ในออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร โดยทำการสำรวจระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน

เฮนรี อาร์สเลเนียน ผู้นำฝ่ายคริปโตของ PwC หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีและบริการทางการเงินใหญ่ที่สุดของโลก แสดงความเห็นในรายงานฉบับนี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญมากมายแนะนำว่า บิตคอยน์มีบทบาทสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุน และสำทับว่า แม้มีความผันผวน แต่บิตคอยน์อาจเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ การอ่อนค่าของสกุลเงิน และเป็นที่ต้องการของผู้คนมากมาย

แม็กเดอร์ม็อตต์จากโกลด์แมน แซคส์เสริมว่า ลูกค้าต้องการลงทุนในบิตคอยน์และคริปโตสกุลอื่นๆ อย่างอีเธอร์มากขึ้น และแม้ตลาดนี้ยังใหม่มาก แต่บริษัทกำลังมองหาวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงคริปโตโดยถูกต้องตามกฎระเบียบของทางการ

EIU ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 59% เห็นตรงกันว่า การออกสกุลเงินดิจิตอลโดยธนาคารกลางประเทศต่างๆ หรือที่เรียกว่า central bank digital currency (CBDC) จะช่วยส่งเสริมการใช้คริปโตและสินทรัพย์ดิจิตอลอื่นๆ ที่ออกโดยเอกชน

ขณะเดียวกัน 78% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า การออก CBDC จำเป็นในการสร้างตลาดสำหรับเครื่องมือการเงินใหม่ๆ เช่น พันธบัตรดิจิตอล และส่งเสริมบทบาทของคริปโต และ 74% เชื่อว่า ประเทศของตนใช้ระบบไร้เงินสดอยู่ในขณะนี้หรือจะใช้ในอนาคต

อาร์สเลเนียนจาก PwC ขานรับว่า เมื่อคุ้นเคยกับ CBDC ผู้บริโภคจะสะดวกใจใช้เงินดิจิตอลสกุลอื่นๆ มากขึ้น

รายงานของ EIU ยังบอกว่า แม้ลงสนามช้า แต่ธนาคารกลางยังมีอิทธิพลอย่างมากในตลาดเงินดิจิตอล

อนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เผยว่า มีแผนออกเอกสารแนวคิดเกี่ยวกับการชำระเงินระบบดิจิตอลในช่วงฤดูร้อนนี้ ขณะที่เฟดมีความคืบหน้าในการดำเนินการที่อาจหมายถึงการสร้างดอลลาร์ดิจิตอล

เดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารสวีเดนเดินหน้าทดสอบอี-โครนา ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว บาฮามาสเป็นประเทศแรกที่ออกเงินเฟียตเวอร์ชันดิจิตอลคือแซนด์ดอลลาร์ดิจิตอล

ด้านสหราชอาณาจักรกำลังสำรวจความเป็นได้ของ CBDC ในชื่อ “บริตคอยน์” ขณะที่จีนออกโครงการนำร่องทดสอบเงินหยวนดิจิตอลตั้งแต่ปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์อีกกลุ่มเชื่อว่า การที่ปักกิ่งผลักดันเงินหยวนดิจิตอลจะกระตุ้นความต้องการคริปโตเช่นเดียวกัน แต่เหตุผลอาจแตกต่างจากรายงานของ EIU

บอริส ชลอสส์เบิร์ก กรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ตลาดปริวรรตเงินตราของบีเค แอสเส็ต แมเนจเมนต์ ตั้งข้อสังเกตในบันทึกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมว่า การเข้าควบคุม CBDC อย่างเบ็ดเสร็จของจีนจะขับเคลื่อนดีมานด์ที่มีต่อคริปโต

ชลอสส์เบิร์กอธิบายว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ปักกิ่งตัดสินใจออกเงินหยวนดิจิตอลคือ “อำนาจเบ็ดเสร็จ” เหนือความมั่งคั่งและรายได้ของพลเมืองในประเทศ

เขาสำทับว่า เงินหยวนดิจิตอลที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้และติดตามย้อนกลับได้ทำให้รัฐบาลจีนมีอำนาจเหลือล้นในการควบคุมเศรษฐกิจ ผู้วางนโยบายไม่ได้รู้แค่ทุกการตัดสินใจของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังสามารถกำหนดให้สกุลเงินหมดอายุในวันเวลาที่กำหนดซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย

ชลอสส์เบิร์กแจงว่า เป้าหมายของนโยบายนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนคริปโตในอนาคต เพราะเมื่อตระหนักถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมสินทรัพย์ส่วนบุคคล ผู้ประกอบการและผู้บริโภคจำนวนมากจะพยายามรับมือด้วยการแปลงความมั่งคั่งอย่างน้อยบางส่วนเป็นสินทรัพย์คริปโต

ขณะเดียวกัน ซีจี ไหล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (CEO) ธุรกิจในจีนของบีเอ็นพี ปาริบาส์ เชื่อว่า ธนาคารประชาชนจีน (PBoC) เปิดตัวเงินหยวนเพราะต้องการทำให้สถาบันการเงินภายในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจีนจะได้ประโยชน์อย่างชัดเจนในการส่งเสริมการใช้คริปโตในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน

เมื่อเร็วๆ นี้ จีนย้ำจุดยืนในการกวาดล้างคริปโตที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งบางคนบอกว่า เป็นวิธีการของปักกิ่งในการกำจัดคู่แข่งสำหรับเงินหยวนดิจิตอล โดยขณะนี้ จีนกำลังทดสอบเงินดิจิตอลแห่งชาติในหลายเมืองด้วยการแจก “อั่งเปาเงินหยวนดิจิตอล” เพื่อให้ผู้บริโภคนำไปจับจ่าย และเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม บิตคอยน์ นิวส์รายงานเกี่ยวกับสมาร์ทการ์ดเงินหยวนดิจิตอลที่มีการสแกนลายนิ้วมือและไบโอเมตริกส์
กำลังโหลดความคิดเห็น