xs
xsm
sm
md
lg

6 แบงก์ผนึกเดอะมอลล์ เดินหน้าสินเชื่อฟื้นฟูกลุ่มค้าปลีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายผง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวในงานแถลงข่าว “ประสานพลังคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เดอะมอลล์กรุ๊ปผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจไทยว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีกก็ถือเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด 19 โดยกลุ่มธุรกิจการค้าและบริการมีผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด และยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก สมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกับธปท. สมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย เร่งพัฒนาสร้างระบบ Digital Supply Chain Platform เพื่อเพิ่มแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกตลอด Supply Chain ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งการเป็นคู่ค้าของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่มายาวนาน ทำให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ มีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจต่อไปได้อีกแนวทางหนึ่ง

โดยแนวทางดังกล่าว เป็นไปตาม 2 มาตรการหลักได้แก่ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก ช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายเดิม และรายใหม่ มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อยหรือบสย. สนับสนุนการค้ำประกัน โดยธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการตามมาตรการนี้ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าระยะ 6 เดือนแรก คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูประมาณ 1 แสนล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต

พร้อมกันนั้น ความร่วมมือของภาคสถาบันการเงินกับเดอะมอลล์กรุ๊ป ภายใต้โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แต่ละธนาคารมีอยู่ การมองความเชื่อมโยงแบบครบภาพระหว่างผู้ค้ารายใหญ่ อย่าง เดอะมอลล์ กับผู้ค้ารายเล็กที่อยู่ในระบบนิเวศ รวมไปถึง supplier ที่เชื่อมโยงกันในเรื่องของสภาพคล่อง เชื่อว่าจะทำให้สินเชื่อฟื้นฟูทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับธนาคารกรุงไทยมี 2 มาตรการได้แก่ “สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเป็นวงเงินกู้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก หรืออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกโดยมีระยะเวลาผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และยังสามารถได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบสย. เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน

และสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า ใช้หลักประกันต่ำ และได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับการใช้หลักทรัพย์อื่นได้ และลูกค้าก็สามารถขอสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกันได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า มาตรการนี้ เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน

"เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ตัวแปรหลักไปยังคงเป็นแผนการหาและกระจายวัคซีน ซึ่งหากทำได้ตามแผนในไตรมาส4ก็น่าที่จะเห็นการหื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการที่บอบช้ำน้อยก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน"

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ(BBL)กล่าวว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับการดูแลและช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องในลูกค้าทุกกลุ่ม และมีความพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบทั้งในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู และวงเงินสินเชื่อของธนาคารเอง โดยการปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูจะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แกช่วงแรก ดำเนินการช่วยเหลือในเรื่องสภาพคล่อง เพื่อให้สามารถประคับประคองกิจการและพนักงานของตนเองได้ ช่วงที่ 2 เมื่อธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ลูกค้ามีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาบริการและผลิตสินค้าให้ได้ครบตามคำสั่งซื้อ ธนาคารก็จะให้การสนับสนุนในเรื่อง Working Capital และช่วงที่ 3 เมื่อธุรกิจดำเนินไปได้ระดับหนึ่ง อาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง Business Model ให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อที่ 15,000 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการได้ใน 7-14 วัน

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)กล่าวว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิดฯในครั้งนี้ มีความรุนแรงและขยายตัวไปในวงกว้าง ธนาคารให้ความสำคัญกับการประคับประคองผู้ประกอบการทุกขนาด โดยหลังจากที่ธนาคารได้เริ่มเปิดให้สินเชื่อซอฟต์โลนในรอบนี้ตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วกว่า 4,700 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 6,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท พร้อมกันนั้นผู้ประกอบการก็ต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อตอบรับกับสถานการณ์และพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปสู่ยุค New Normal ด้วย

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวว่า ธนาคารมีลูกค้าเอสเอ็มอีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจไปแล้ว 319,000 ล้านบาททั้งการพักชำระเงินต้น ลดอัตราดอกเบี้ย ยืดเวลาการผ่อนชำระ และปรับโครงสร้างหนี้ และสำหรับสินเชื่อฟื้นฟูในครั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15,000 ล้านบาท จำนวนลูกค้า 10,000 ราย และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้อีก 10,000 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าสามารถติดต่อได้ทั้งในช่องทางสาขาธนาคารทั่วประเทศและและช่องทางออนไลน์

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯมีลูกค้ารายย่อยอยู่เป็นจำนวนมาก และได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้ามาโดยตลอดทั้ง การพักชำระเงินต้น ขยายเวลาการชำระหนี้ และนอกเหนือจากการปล่อนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแล้ว ในฐานะเป็นธนาคารในกลุ่ม MUFG จะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบในการเดินหน้าธุรกิจต่อเนื่องไปได้ทั้งในประเทศและภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจอีกช่องทางที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการได้

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสินในฐานะธนาคารเพื่อสังคม ได้ดูแลลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กและลูกค้ารายย่อยมาอย่างต่อเนื่อง โดย1 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยให้ลูกค้าฐานรากเข้าถึงสินเชื่อแล้ว 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นลูกค้าจำนวน 2 ล้านราย และขณะนี้มีโปรแกรมพิเศษสำหรับลูกค้า3โปรแกรม ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีท่องเที่ยว รายละไม่เกิน 500,000 บาทดอกเบี้ย 3.99% 5 ปี ไม่ต้องมีหลักประกัน, สินเชื่อที่มีหลักประกันสำหรับผูมีรายได้ไม่เข้าเกณฑ์ และสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการของเดอะมอลล์รวมถึงซัพพลานเชน วงเงิน 1-5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 4.99%โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผ่านแอปพลิเคชั่น My Mo วงเงินรายละ 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% ไปแล้ว 400,000 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น