xs
xsm
sm
md
lg

ช่อง 3 กลับมา ”ปัง” เปิดกลยุทธ์ “สุรินทร์” ฝ่าวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การตลาด - พิสูจน์ความเก๋า “สุรินทร์” หลังเข้านั่งกุมบังเหียนช่อง 3 ภายใต้สถานการณ์โควิดระบาดต่อเนื่อง โชว์ผลงานเกือบ 1 ปีเต็ม นำช่อง 3 ไต่ทะยานกำไรพุ่ง 3 ไตรมาสติดกัน ลุ้นเติบโตต่อเนื่องตลอดปี เหตุเททิ้ง Tero ควง “สรยุทธ” คุม “ครอบครัวข่าว” สู้ศึกดิจิทัลดิสรัปชันด้วยแอปฯ CH3Plus Premium อย่างไรก็แล้วแต่ปีนี้ต้องเติบโต 2 หลักตามแผนที่วางไว้

สถานการณ์ช่อง 3 มีแววกลับมาสดใสอีกครั้ง หลังจากได้ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” กลับมานั่งกุมบังเหียนในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ ตั้งแต่เดือน ก.ค. ในปี 2563 ที่ผ่านมา รวมระยะเวลา 11 เดือน หรือเกือบจะครบ 1 ปีเต็ม ซึ่งพบว่าช่อง 3 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย ล้วนแต่ส่งผลดีต่อภาพรวมรายได้ที่กลับมาหายใจหายคอได้คล่องขึ้น โดยพบว่าถึงจะมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดต่อเนื่อง จนมาถึงรอบ 3 ในปัจจุบัน แต่ช่อง 3 ยังคงกลับมามีกำไรให้เห็นอีกครั้ง ตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 ตามมาด้วยไตรมาส 4/2563 และล่าสุดกับไตรมาส 1/2564 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ตั้งแต่ช่อง 3 เผชิญกับวิกฤตทีวีดิจิทัล และดิจิทัลดิสรัปชัน ซึ่งแนวโน้มกำไรในไตรมาส 2/2564 นี้ก็ดูจะสดใสเช่นกัน

ดังนั้น หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ปี 2564 นี้จึงถือเป็นปีทองจริงๆ ของช่อง 3 สักที เพราะกำลังจะกลับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นอีกครั้ง และในปีนี้ยังมีลุ้นอีกว่าภาพรวมรายได้จะกลับมาเติบโต 2 หลักอีกด้วย


นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย หรือไม่มีรอบ 3 เกิดขึ้น เดิมช่อง 3 วางเป้าหมายรายได้เติบโตไว้ที่ตัวเลข 2 หลัก หรือราว 20% แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีโควิด-19 รอบ 3 เกิดขึ้น แต่ดูจากสถานการณ์แล้วเชื่อว่าจะไม่แย่ลงไปกว่านี้ เพราะมีเรื่องของวัคซีนเข้ามาช่วย บวกกับการปรับตัวของช่อง 3 เริ่มเห็นผล ทำให้เชื่อได้ว่าถึงสิ้นปีนี้ช่อง 3 จะยังคงกลับมามีการเติบโตของรายได้ 2 หลักอย่างที่วางไว้

สำหรับเป้าหมายการเติบโตของรายได้ช่อง 3 ในปีนี้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะทำได้ตามแผนที่วางไว้ เห็นได้จากระยะเวลา 11 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่ง ช่อง 3 มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น 1. รีไซส์องค์กร ปรับลดพนักงานลง และดึงพนักงานที่มีทักษะและความสามารถเข้ามาเสริมทัพ, 2. ธุรกิจโกลบอลคอนเทนต์ไลเซนซิ่งทำยอดขายได้ดี, 3. องค์กรปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลได้ทันท่วงที กับการเปิดตัวแอปพลิเคชัน CH3Plus Premium เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา, 4. ยกเลิกการลงทุนใน “Tero” และ 5. การกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พร้อมเข้ามาดูแล “ครอบครัวข่าว” ทำให้กลุ่มรายการข่าวมีเรตติ้ง และรายได้ที่มากขึ้น


จากที่กล่าวมาล้วนสอดคล้องกับคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำไตรมาส 1 ปี 2564 ที่ทางช่อง 3 ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไว้ก่อนหน้านี้ว่า สำหรับบทสรุปผู้บริหาร

1. การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในระลอกใหม่ ยังคงกดดันต่อการใช้เม็ดเงินโฆษณาโดยรวม และทำให้รายได้รวมของกลุ่ม BEC ลดลงเช่นกัน แต่สาเหตุหลักอีกสาเหตุหนึ่ง คือ ในไตรมาสที่ 4/ 2563 ได้มีการขายเงินลงทุน Tero ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง และทำให้ไม่ต้องรวมรายได้และค่าใช้จ่ายในส่วนของ Tero ในไตรมาสนี้

2. บริษัทได้ขยายธุรกิจของบริษัทจากการดำเนินธุรกิจทีวีเพียงอย่างเดียว เป็นผู้ผลิต content เพื่อจัดจำหน่ายในหลายๆ platform ขยายธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ ผ่านทาง platform ต่างๆ และได้สร้าง OTT platform ของตนเอง "CH3 Plus" รวมถึงการเปิดตัว "CH3Plus Premium" ซึ่งเป็นการต่อยอดของแพลตฟอร์ม CH3 Plus ในระบบบอกรับสมาชิก ในไตรมาสนี้บริษัททำรายได้จากสองธุรกิจรวมกันอยู่ที่ 126.1 ล้านบาท

3. ต้นทุนลดลง 39.0% จากไตรมาสที่ 1/2563 จากการลดต้นทุนดำเนินการและการลดขนาดองค์กร ตามแผนงานที่วางใว้

4. ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมลดลง 60.5% จากไตรมาสที่ 1/2563 จากการลดค่าใช้จ่ายและการลดขนาดองค์กร

5. กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 150.5% จากไตรมาสที่ 1/2563 มาอยู่ที่ 138.8 ล้านบาท ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นอย่างมากจากที่เคยขาดทุนมาเป็นกำไร โดยมีกำไรสามไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2563 จนถึงไตรมาสนี้

6. เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในงบแสดงฐานะการเงินเพิ่มขึ้น 492 ล้านบาท หรือ 19.2% จากสิ้นปี 2563 มาอยู่ที่ 3,057.3 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2564 โดยมีกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน 982.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2563


โดยสรุปในไตรมาส 1 ที่ผ่านมากลุ่ม BEC มีรายได้จาก
1. รายได้จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่ม BEC ในไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ 1,174.5 ล้านบาท ลดลง 16.1% จากไตรมาสที่ 1/2563

2. รายได้จากการให้ใช้สิทธิและบริการอื่นอยู่ที่ 133.7 ล้านบาท ลดลง 39.1% จากไตรมาสที่ 1/2563 โดยเป็นการลดลงจากธุรกิจบริการจำหน่ายตั๋วที่ถอดออกไปหลังจากการขายเงินลงทุนใน Tero เป็นหลัก ในขณะที่ธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้นทำรายได้รวมกันอยู่ที่ 126.1 ล้านบาทในไตรมาสนี้ แต่น้อยกว่าไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากในไตรมาสที่แล้วมีการออกอากาศแบบ Simulcast

3. รายได้จากคอนเสิร์ตและแสดงโชว์เป็นศูนย์ เนื่องจากบริษัทขายเงินลงทุนใน Tero และได้ถอดงบออกจากงบการเงินรวมของบริษัท ส่งผลให้รายได้รวมของกลุ่ม BEC สำหรับไตรมาสที่ 1/2564 อยู่ที่ 1,308.2 ล้านบาท ลดลง 20.1% จากไตรมาสที่ 1/2563

ทั้งนี้ รายได้จากการขายเวลาโฆษณายังคงเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 89.8% ของรายได้รวม โดยยังคงมาจากการขายเวลาโฆษณาของ "ช่อง 33" เป็นหลัก ส่วนผลกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของบริษัทที่ 138.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150.5% จากไตรมาสที่ 1/2563 แต่ลดลง 48.1% จากไตรมาสที่ 4/2563 มีกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน 982.5 ล้านบาท และมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในงบแสดงฐานะการเงินจำนวน 3,057.3 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2564


*** “ครอบครัวข่าว 3” ม้าขาวโกยรายได้*
นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า นอกจากปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมา สำคัญที่สุดคือ คอนเทนต์รายการข่าว หรือ “ครอบครัวข่าว 3” จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้ช่อง 3 กลับมามีรายได้เติบโต 2 หลักในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย เหตุเพราะช่วงเวลานี้ผู้ชมจะให้ความสำคัญต่อข่าวสารอย่างมาก บวกกับกระแสการกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่เข้ามาทำหน้าที่เดิมในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ และเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ ล้วนแต่ส่งผลต่อเรตติ้ง และรายได้โฆษณาที่กำลังกลับเข้ามา และส่งผลถึงรายการข่าวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นรอบวันเช่นกัน ซึ่งหลังจากสรยุทธได้กลับมาทำหน้าที่เดิมได้ราว 1 เดือน ทั้ง 2 รายการมีเรตติ้งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 อีกครั้งในกลุ่มคนเมือง อายุ 15 ปีขึ้นไป เช่นดังเดิมที่เคยทำไว้ก่อนจะมีทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนมีทีวีดิจิทัล กลุ่มรายการข่าวช่อง 3 เคยมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30% โดยในปี 2563 พบว่าช่อง 3 มีรายได้หลักมาจากละคร 65% ข่าว 20% วาไรตี 10% และอื่นๆ อีก 5% ล่าสุดในไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมาพบว่ารายได้จากละครอยู่ที่ 60% ข่าว 23% วาไรตี 12% และอื่นๆ 6%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มรายการข่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแม้จะยังไม่มีสรยุทธกลับมาก็ตาม

ดังนั้น ในไตรมาส 2 ยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้รายการข่าวจึงมีแนวโน้มสดใส เห็นได้จากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่สรยุทธกลับมาเล่าข่าว พบว่าโฆษณาที่เข้าในรายการเรื่องเล่าเช้านี้เพิ่มขึ้นเป็น 75% รวมถึงเรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์ เพิ่มขึ้นเป็น 95% จาก 75% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากรักษาระดับได้แบบนี้ไปอีก 5-6 เดือน ทางช่อง 3 จะมีการพิจารณาปรับราคาโฆษณาเพิ่มขึ้นในลักษณะของการปรับส่วนลดให้น้อยลง แต่ยังคงยืนราคาเรตโฆษณาขายจริงไว้เช่นเดิม อีกทั้งยังมีโอกาสในการเพิ่มเวลาให้กับกลุ่มรายการข่าวด้วย

รายการที่มีแนวโน้มปรับราคาโฆษณาขึ้น ได้แก่ 1. เรื่องเล่าเช้านี้ เรตโฆษณาขายอยู่ที่ 2 แสนบาท/นาที, 2. เรื่องเล่า เสาร์-อาทิตย์, 3. โหนกระแส และ 4. ละครเย็น 1 ทุ่ม ที่มีเรตราคาโฆษณาอยู่ที่ 3.6 แสนบาท/นาที แต่ขายจริงต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้ 30-50%


*** “CH3Plus Premium” เส้นทางสู่อนาคต
อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินธุรกิจของช่อง 3 จากนี้จะอยู่ภายใต้วิชันใหม่ คือ การเป็นผู้นำทางด้านคอนเทนต์โพรวายเดอร์ ในการเป็นโทเทิล คอนเทนต์ คอมปานี นั่นหมายความว่าช่อง 3 จะไม่โฟกัสแค่การเป็นสื่อทีวีอีกต่อไป แต่จะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่พร้อมผลิตให้กับพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้หมากตัวสำคัญ คือ แอปพลิเคชัน CH3Plus Premium หลังจากช่อง 3 เปิดตัวแอปพลิเคชัน CH3Plus (สามพลัส) ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เป็นศูนย์รวมความบันเทิงในปี 2563 ซึ่งประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมียอดสมัครสมาชิกและเข้าใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน

ล่าสุดในไตรมาสที่ 1/2564 ที่ผ่านมายังได้เปิดตัว CH3Plus Premium ซึ่งเป็นการต่อยอดของ CH3 Plus ในระบบบอกรับสมาชิก เริ่มต้นเดือนละ 59 บาท โดยมีฟังก์ชันในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น รับชมคอนเทนต์ต่อเนื่องกว่า 10,000 ชั่วโมง โดยไม่มีโฆษณาคั่น ภาพและเสียงคมชัดระดับ Full HD (1080P) ปรับระดับความเร็วการรับชมได้ถึง 8 ระดับ รับชมรายการสดและย้อนดูรายการที่ออกอากาศแล้วได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่ไม่เคยรับชมที่ไหนมาก่อน

รวมถึง "Fandom" ฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ชมสามารถใกล้ชิดกับดาราที่ชื่นชอบได้มากกว่าที่เคย ซึ่งในวันที่ 19 มีนาคม 2564 ได้มีการจัดงาน "Gulf The Next Stage" คอนเสิร์ตออนไลน์บน CH3 Plus Premium ครั้งแรกได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีการรับชมพร้อมกันกว่า 7 พันรายจาก 75 ประเทศทั่วโลก กว่า 50% เป็นอเมริกาและยุโรป และอีก 50% เป็นคนไทย ดังนั้นจึงตั้งเป้าสมาชิกใน CH3Plus Premium ภายในสิ้นปีนี้ที่ 1 แสนคน และดูแบบปกติที่ 5-6 ล้านคน

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน CH3Plus Premium ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ที่จะมีเฉพาะในแอปฯ นี้เท่านั้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวนำมาซึ่งแผนการทำออริจินัลคอนเทนต์ป้อนให้กับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เป็นพาร์ตเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น AIS play, ทรูไอดี, เน็ตฟลิกซ์ และ iQiyi เป็นต้น โดยเฉพาะจีน ถือเป็นคู่ค้าที่สนใจคอนเทนต์ละครไทยจากทางช่อง 3 อย่างมาก ซึ่งแนวโน้มการผลิตออริจินัลคอนเทนต์มีทั้งผลิตเองทั้งหมด รวมถึงร่วมผลิต ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

การปรับตัวสู้ศึกของช่อง 3 ทั้งจากศึกภายในที่ชู “ครอบครัวข่าว” นำทีมลงศึกทีวีดิจิทัล และส่ง “CH3Plus Premium” เป็นอาวุธแข่งขันในศึกภายนอกที่มาในรูปแบบดิจิทัลดิสรัปชัน ถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของช่อง 3 ว่าจะก้าวผ่านและอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่ ในฐานะสื่อทีวีสู่โทเทิล คอนเทนต์ คอมปานี ภายใต้ผู้บริหารที่ชื่อ “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์”






กำลังโหลดความคิดเห็น