xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับไต่สวนคดี “บีทีเอส” ฟ้อง รฟม.และ กก.มาตรา 36 แก้เกณฑ์-ยกเลิกประมูล “สีส้ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ศาลอาญาทุจริตฯมีคำสั่งรับคำฟ้องบีทีเอส คดี รฟม.และคณะกก.คัดเลือกมาตร 36 รวม 7 คน แก้ไขหลักเกณฑ์และยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม นัดไต่สวน 7 ก.ค. บีทีเอสเผยมีข้อมูลใหม่ เตรียมฟ้องกก.มาตรา 36 เพิ่มหลักฐานมัดร่วมลงชื่อยกเลิก แม้จะชิงลาออกไปก็ตาม

วันที่5 พ.ค. ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการยื่นฟ้องผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 พระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวม 7 คน กรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูล

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2564 บมจ. บีทีเอสได้ยื่นฟ้องผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตร 36 รวม 7 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในกรณีที่การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ อท 30/64 ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

และศาลได้นัดทั้งสองฝ่ายฟังคำสั่งในวันที่ 5 พ.ค. 2564 โดยล่าสุด ศาลฯ มีคำสั่งรับฟ้อง และจะเปิดโอกาสให้จำเลยส่งคำแถลงภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้รับหมายแจ้งนัดซึ่งจะดำเนินการหรือไม่ก็ได้

ในเบื้องต้น ศาลฯ นัดพร้อมในวันที่ 7 ก.ค. 2564 แต่อาจมีการเลื่อนนัดไต่สวน เนื่องจากต้องพิจารณาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ( โควิด – 19) แต่มั่นใจว่าคดีนี้จะได้ข้อยุติหรือความชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทฯได้ตรวจพบหลักฐานเอกสารใหม่เพิ่มเติมอีกด้วย

“ศาลฯระบุว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา คดีทุจริต หลังจากที่ได้ให้รฟม.และผู้ถูกฟ้องได้ทำรายงานชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ มาให้ และการฟ้องของบมจ.บีทีเอส เป็นไปตามกฎหมายถูกต้อง จึงเห็นควรรับคดีไว้ไต่สวนมูลฟ้องต่อไป”

นอกจากนี้ศาลฯ ได้สอบถาม บริษัท ว่าในเรื่องดังกล่าว ได้มีการดำเนินการทางกฎหมาย อื่นอีกหรือไม่ ซึ่ง บริษัทฯได้รายงานศาลมีการดำเนินคดีทางปกครองและทางแพ่งด้วย โดยอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณา ทั้งนี้ ศาลฯได้สอบถามถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า มีข้อเท็จจริงเดียวกับที่นำมาฟ้องต่อศาลอย่างไรหรือไม่ โดยทนายนำเรียนศาลว่า กรณีดีเอสไอเป็นบุคคลภายนอกไปร้องเรียน ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่สอดคล้องกัน แต่มีการหยิบยกประเด็นการฮั้วประมูลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งศาลฯ จะให้เจ้าหน้าที่ศาลมีหนังสือสอบถามพร้อมส่งคำฟ้องไปยัง ปปช. เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

ส่วนรฟม. จะเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่หรือไม่นั้น อยู่ที่การตัดสินใจของ รฟม. แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ถูกต้องเท่านั้น ส่วนจะดำเนินการฟ้องร้องเพื่อระงับการประมูลหรือไม่ ยังไม่ขอตอบในส่วนนี้ เพราะต้องดูเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่เสียก่อน

ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ในฐานะหัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงใหม่ว่ามีคณะกรรมการตามมาตรา 36 อีกส่วนหนึ่ง ที่หายไปซึ่งได้ลงนามยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มในครั้งที่ผ่านมาด้วย ทำให้จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เพราะถือว่ามีส่วนทำให้บริษัทเสียหาย ซึ่งจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้ศาลฯ พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการมาตรา 36 ที่ระบุว่าหายไปนั้น เป็นกรรมการ 2 คนที่ลาออกใช่หรือไม่ นายนรินท์พงศ์กล่าวว่า ขอสงวนชื่อไว้ก่อน แต่ในรายงานมีการลงชื่อไว้ชัดเจน และถือเป็นคนกลุ่มเดียวกันที่มีเจตนายกเลิกประมูล ส่วนสื่อมวลชนจะประเมินอย่างไรก็อยู่ที่พิจารณา ซึ่งเมื่อศาลมีคำสั่งรับไต่สวน เราจะดำเนินการกับกรรมการมาตรา 36 ทุกคน ที่มีส่วนในมติยกเลิกประมูล ศาลรับไต่สวนเป็นการเปิดเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พิสูจน์ข้อมูลกัน บริษัทเป็นฝ่ายเสียประโยชน์มีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องความสุจริตให้ปรากฏในสังคม ให้เห็นว่าหากมีการกระทำแบบนี้เกิดขึ้น ซึ่งทำให้รัฐ และประชาชน เสียประโยชขน์ จากกลุ่มคนที่ใช้อำนาจ

คดีนี้คงต้องใช้เวลาเนื่องจากเอกสารทั้งหมดไม่ได้อยู่ในครองครองของบริษัท วันนี้ศาลให้ความยุติธรรมเรียกเอกสารจากรฟม.เพิ่มเติมทำให้เห็นข้อเท็จจริง โดยเฉพาะคณะกรรมการที่ยกเลิกประมูล หายไปกลุ่มหนึ่ง ส่วนรฟม.คาดว่าจะต้องใช้อัยการเข้ามาช่วยแก้ต่าง เพราะมีผู้ถูกกล่าวหาหลายคน

ส่วนการพิจารณาคดีทางแพ่งด้านความเสียหายของ บริษัท ทางทีมทนายความอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายทั้งหมด และจะส่งให้ศาลแพ่งพิจารณาโดยเร็วที่สุด

สำหรับความคืบหน้าของการยื่นอุทธรณ์ในกระบวนการศาลปกครอง ภายหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งจำหน่ายคดีกรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและการฟ้องใหม่ กรณีการยกเลิกการประมูลที่ผ่านมาไม่ชอบ ขณะนี้ศาลปกครองได้รับเรื่องไว้แล้ว

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม.จะเร่งแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการเป็นทนายให้ อย่างไรก็ตาม การที่ศาลอาญา จริตฯรับไต่สวนนั้น ยังไม่มีผลต่อการเปิดประมูลสายสีส้มในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น