xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนเตรียมลุ้น! ก.พลังงานเล็งงัดมาตรการลดค่าไฟดูแลค่าครองชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงพลังงานเด้งรับลูก “นายกฯ” เร่งหามาตรการบรรเทาค่าครองชีพประชาชนรับมือวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ “สุพัฒนพงษ์” มอบ กกพ.ขยายมาตรการยกเว้นเก็บ Minimum Charge อุ้มผู้ประกอบการโรงแรมประเดิม พร้อมมอบ กฟผ.และ ปตท.หามาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลส่วนอื่นๆ รวมทั้งเร่งลงทุนกระตุ้น ศก.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนเพื่อรองรับผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ ว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้งเรื่องแนวทางการลดค่าไฟฟ้า และอื่นๆ โดยได้มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บมจ.ปตท.ร่วมพิจารณาทั้งการช่วยเหลือประชาชน และเร่งลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ รมว.พลังงานยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่ออายุ การขยายมาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือครอบคลุมประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 จากเดิมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซี่งมาตรการนี้สิ้นสุดการช่วยเหลือเดือน เม.ย. 2564 ซึ่งคาดว่าน่าจะต่ออายุอย่างน้อย 3 เดือน หรือเดือน พ.ค.-ก.ค. 64 กรณีนี้ก็จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอีกระลอกหนึ่งจากการระบาดรอบนี้

“กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาทุกแนวทางว่าจะมีมาตรการลดค่าครองชีพเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบของประชาชนได้อย่างไร โดยจะเร่งประชุมหาข้อสรุปโดยเร็ว โดยเฉพาะต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง รมว.พลังงาน จึงสั่งให้ต่ออายุ ยกเว้น Demand Charge ไปก่อน” นายกุลิศกล่าว

สำหรับความต้องการพลังงานโดยรวมก็มีโอกาสที่จะชะลอลงในช่วงนี้ และอาจส่งผลไปยังการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี ในส่วนของรายใหม่ที่จะมีการนำเข้า โดยยอมรับว่าในช่วงนี้กระทรวงฯ เน้นย้ำเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยและรับมือสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับรัฐบาล จึงยังไม่ได้พิจารณาเรื่องปริมาณนำเข้าแอลเอ็นจีในส่วนของรายใหม่แต่อย่างใด

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท ขณะนี้ได้มีผู้เสนอขอใช้เงินมาร่วมถึง 1.5 หมื่นล้านบาท ในส่วนของ 7 กลุ่มงาน ซึ่ง กลุ่มงานที่ 1-6 เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ 7 กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสนับสนุน 2,400 ล้านบาท เนื่องจากปิดข้อเสนอช้าที่สุด คือวันที่ 31 มีนาคม จึงอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยภาพรวมจะอนุมัติเสร็จสิ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

“ยอมรับว่าโควิด-19 อาจจะกระทบถึงการรับเหมาก่อสร้างในส่วนที่หน่วยงานต่างๆ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนอนุกรักษ์ฯ ปี 64 บ้าง ซึ่งคงจะมาพิจารณาขยายเวลาในภายหลัง โดยในส่วนของการอนุมัติ โครงการได้มีการประชุมออนไลน์และจะอนุมัติเสร็จสิ้นทุกกลุ่มในเดือน พ.ค.นี้ และเร่งลงนามในสัญญา ก็หวังว่าเม็ดเงิน 6.5 พันล้านบาทจะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง” นายกุลิศกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น