xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า ควัก 4 หมื่นล้านเก็บหุ้น GPSC เพิ่ม 44.45%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ธุรกิจไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ความสำคัญตามทิศทางพลังงานในอนาคตที่จะมุ่งสู่ Go Green และ Go Electric จากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เพิ่มมากขึ้น ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไทยต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 25% ภายในปี 2573 ตามที่ประเทศไทยได้แถลงเจตจำนงในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส โดย ปตท.ประกาศเป้าหมายลงทุนพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศรวม 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 โดยให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(GPSC) เป็นแกนหลักในการดำเนินการควบคู่ไปกับ ปตท.

เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้เอง ทำให้ ปตท.เดินหน้าปรับโครงสร้างการถือหุ้น GPSC ซึ่งเป็นบริษัทแกนนำธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภค โดยไล่ซื้อหุ้น GPSC คืนจากบริษัทลูก โดยไม่น่าแปลกใจ เพราะ ปตท.ถือหุ้นใน GPSC เมื่อปี 2560 อยู่ที่ 22.58% ของทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วทั้งหมด สัดส่วนหุ้นที่ถือน้อยกว่าบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ที่ถือหุ้น GPSC อยู่ที่ 22.73% บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) กับบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด (TP) ถือหุ้นรวมกัน 29.70%

ดังนั้น มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ได้อนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจ โดย ปตท.ใช้เงินลงทุน 16,882 ล้านบาทเพื่อเข้าซื้อหุ้น GPSC จากไทยออยล์ สัดส่วน 8.91% ส่งผลให้ ปตท.ถือหุ้นใน GPSC เพิ่มขึ้นเป็น 31.72%

รวมทั้งดำเนินการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด (TP) ให้แก่ไทยออยล์ ซึ่งปตท.ถือหุ้นใน TP อยู่ที่ 26% และไทยออยล์ถือหุ้น 74% โดยโอนทั้งทรัพย์สิน หนี้สิน สิทธิ หน้าที่และภาระผูกพันทั้งหมดของ TP และภายหลังการโอนกิจการทั้งหมดของ TP (มูลค่ากิจการ TP รวม 26,773 ล้านบาท) ให้แก่ไทยออยล์แล้ว TP จะยุติการประกอบธุรกิจไป ทำให้ไทยออยล์รับโอนการถือหุ้น GPSC จาก TP ถืออยู่ 20.79%


อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 ได้มีมติอนุมัติให้ ปตท.และบริษัท สยามแมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (“SMH”) ซึ่ง SMH เป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ซื้อหุ้นสามัญ GPSC จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำนวน 358,936,756 หุ้น หรือคิดเป็น12.73% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC ในราคา 70 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 25,126 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปตท. SMH และ PTTGC อยู่ระหว่างการเจรจาและจัดทำสัญญาซื้อขายหุ้น GPSC โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาดังกล่าวภายในเดือนพฤษภาคม 2564 อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะทำได้ต่อเมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น PTTGC ครั้งที่ 1/2564 ก่อน

ปัจจุบัน ปตท.ถือหุ้น GPSCที่ 31.72% และ PTTGC ถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 22.73% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด โดยภายหลังธุรกรรมการปรับโครงสร้างฯ ดังกล่าว ปตท.และ SMH จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วนรวม 44.45% และ PTTGC จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วน 10% ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด


กล่าวได้ว่า ปตท.ทุ่มเม็ดเงินราว 4 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC จากเดิมถือหุ้นอยู่ 22.58% โดดเพิ่มขึ้นเท่าตัวมาอยู่ที่ 44.5% (รวมการถือหุ้นของ SMH) สอดรับตามกลยุทธ์ของ ปตท.ในการถือหุ้นบริษัท Flagship โดยยอมรับว่าเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 8,000 เมกะวัตต์จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ขณะที่ก่อนหน้านี้ ทาง GPSC ได้ซื้อหุ้นบริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) (GLOW) สัดส่วน 69.11% สูงถึง 9.3 หมื่นล้านบาทเมื่อปี 2562 หากปล่อยให้ GPSC ลงทุนธุรกิจไฟฟ้าตามเป้าหมายที่ ปตท.ตั้งไว้ คงสร้างความลำบากให้ GPSC ไม่น้อย เพราะ GPSC เองก็มีแผนการดำเนินธุรกิจหลายโครงการ

ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด ทาง ปตท.ได้เข้าร่วมทุนในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย GPSC เพื่อรองรับการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม โดยอนุมัติให้บริษัท ปตท.โกลบอล แมนเนจเมนท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.เข้าซื้อหุ้นสามัญของ GRP คิดเป็นสัดส่วน 50% คิดเป็นมูลค่า 693 ล้านบาท

นับว่าช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ทำให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังผลิตไฟฟ้าทดแทน 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และ ปตท.ยังให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ GRP ในรูปแบบเงินกู้ยืมผ่านบริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.ตามสัดส่วนการถือหุ้น ภายหลังจากที่ ปตท.เข้าถือหุ้นใน GRP ในสัดส่วน 50% ผ่าน PTTGM แล้ว โดยมีวงเงินกู้ยืมตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 834 ล้านบาท กล่าวได้ว่าเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของ GPSC ในการพัฒนาลงทุนและดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ


ปัจจุบัน GRP มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 9 โครงการใน 4 จังหวัด (ลพบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร และขอนแก่น) มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์ ทุกโครงการดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2557-2558

PTTGC-TOP แจงแผนใช้เงินจากการขายหุ้น GPSC

ด้าน คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ เห็นชอบในการขายหุ้น GPSC ให้แก่ปตท. คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.82% และ SMH ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท. สัดส่วนประมาณ 1.91% รวมเป็น 12.73% เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 25,126 ล้านบาทนั้น บริษัทฯ ประเมินการทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ตามแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นในธุรกิจกลุ่มปิโตรเคมีเป็นหลัก และบริษัทฯ จะได้รับเงินจากการขายหุ้นราว 25,126 ล้านบาท ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและฐานะการเงินของบริษัทฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

บริษัทฯ มีแผนจะนำเงินที่ได้รับจากการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม การทำธุรกรรมดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทฯ ก่อน ดังนั้น บริษัทได้ตั้งที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ คือ บริษัทอวานการ์ด แคปปิตอล จำกัด เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการขายหุ้นดังกล่าว

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างกิจการกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัท โดยการขายหุ้น GPSC ทำให้บริษัทได้รับกระแสเงินสดภายหลังจากการเข้าทำธุรกรรมการขายหุ้นและธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดเป็นจำนวนประมาณ 5,900 ล้านบาท ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น โดยมีเงินทุนเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตเพิ่มขึ้นด้วย

ที่ผ่านมาโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าของบริษัทค่อนข้างซับซ้อน เมื่อมีการปรับโครงสร้างใหม่แล้ว ทำให้การบริหารจัดการ การขับเคลื่อนทิศทางการดำเนินธุรกิจมีความชัดเจน คล่องตัว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ไทยออยล์ยังรักษาสัดส่วนกำไรที่ได้จากธุรกิจไฟฟ้าในอนาคตได้ตามเป้าหมายเดิมด้วย


GPSC จ่อตั้ง รง.ผลิตแบตฯ 1 GWh

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยี Semi-Solid ของ 24M แห่งใหม่ กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) หรือ 1,000 MWh จากเดิมที่เคยตั้งเป้าขยายเพียง 100 MWh หลังจากบริษัทได้นำร่องผลิตแบตเตอรี่ 30 MWh ช่วงไตรมาส 2 นี้ หวังรองรับความต้องการใช้ของลูกค้ายานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโครงการจี-บ็อกซ์ ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมงในสถานีบริการน้ำมัน

โดยโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด 1 GWh คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานในภาคตะวันออก โดยเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้มีการลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. ประเทศจีนในสัดส่วนประมาณ 11.1% วงเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยีบริษัท24M กำลังการผลิตรวม 1 GWh ต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565 ป้อนให้กลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน
กำลังโหลดความคิดเห็น