xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสำรวจ CEO ส.อ.ท.พบ 47% ต้องการให้รัฐเร่งแผน EV ให้เร็วก่อนปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เผยผลสำรวจ ส.อ.ท.ต่อยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ EV พบ CEO ส่วนใหญ่ 47% ต้องการให้รัฐเร่งแผนให้เร็วขึ้นก่อนเป้าหมายปี 2568 โดยมองว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดอันดับแรกคือราคาและค่าบำรุงรักษา รองลงมาคือสถานีชาร์จที่ต้องครอบคลุมให้ทั่วถึง มองมาตรการรัฐสำคัญที่ควรดำเนินการสูงสุดคือการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 5 ในเดือนเมษายน 2564 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (ZEV หรือ Zero Emission Vehicle) โดยทำการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 200 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตฯ จังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐเริ่มดำเนินการแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เร็วขึ้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก่อนกำหนดในปี 2568 คิดเป็น 47% รองลงมาเห็นด้วยตามกรอบระยะเวลาตามแผนฯ ที่จะเริ่มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปี 2568 คิดเป็น 31.5% และมีเสนอให้เลื่อนการดำเนินงานตามแผนฯ ออกไป 5 ปี และ 10 ปี คิดเป็น 11% และ 10.5% ตามลำดับ


สำหรับปัจจัยที่จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญต่อเรื่องราคารถยนต์ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา คิดเป็น 78.5% รองลงมาเป็นเรื่องการเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วประเทศ คิดเป็น 75% และถัดไปเป็นเรื่องระยะทางในการใช้งานที่เหมาะสมของรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งความสะดวกในการชาร์จ คิดเป็น 56%

ทั้งนี้ หากมองถึงมาตรการของภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ตามปริมาณ CO2 คิดเป็น 76.5% รองลงมาเป็นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ Charging Station ให้จูงใจผู้ใช้งาน 59.5% และการปรับปรุงภาษีรถยนต์ประจำปีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 55.5%

ส่วนการเตรียมความพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต 3 อันดับแรก พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ให้มีสถานีเพียงพอและครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ คิดเป็น 85% รองลงมาเป็นการบริหารจัดการซากรถยนต์และแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ คิดเป็น 65.5% และการเตรียมการจัดหาไฟฟ้าและพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งานในระยะยาว คิดเป็น 54.5%

นอกจากนี้ FTI Poll ยังได้เจาะลึกถึงกรณีที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้และการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในเรื่องใดบ้าง พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริหาร ส.อ.ท.ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้มีการผลิตแบตเตอรี่ที่คุณภาพดีและมีราคาเหมาะสมภายในประเทศ คิดเป็น 65.5% รองลงมาเป็นการเตรียมการปรับปรุงโครงสร้างภาษีและพิกัดศุลกากรเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ คิดเป็น 62.5% และการช่วยเหลือผู้ประกอบการใน Supply Chain ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป (ICE) ในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คิดเป็น 61.5%

จากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมที่ควรจะต้องเร่งปรับตัวและได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ พบว่า 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็น 88.5% รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 49% และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็น 46.5%
กำลังโหลดความคิดเห็น