xs
xsm
sm
md
lg

เดลล์เดิมพัน 17 เซิร์ฟเวอร์ใหม่ มากสุดในประวัติศาสตร์ "รุ่น AI เฉพาะทาง" ดาวเด่นปีนี้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell)
ไม่นานหลังจากที่ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell) ประกาศผ่านสื่ออเมริกันว่า เดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell) พร้อมเปิดกว้างใช้ชิปทุกค่ายทั้งเอเอ็มดี (AMD) อินเทล (Intel) และเอ็นวิเดีย (Nvidia) ในผลิตภัณฑ์แบบเต็มที่ ล่าสุด สินค้าตระกูลเพาเวอร์เอดจ์ (Dell EMC PowerEdge) ก็แจ้งเกิดในประเทศไทยโดยถูกปรับยกเครื่องด้วยเซิร์ฟเวอร์ ‘เน็กซ์เจน’ ใหม่ 17 รุ่น ซึ่งทำให้ปี 64 กลายเป็นปีที่เดลล์เปิดตัวรุ่นเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ปีนี้เป็นปีที่เดลล์ไฟเขียวเพิ่มจำนวนรุ่นเซิร์ฟเวอร์หรือเครื่องแม่ข่ายสำหรับให้บริการระบบเครือข่าย จากเฉลี่ยที่ผ่านมามักเปิดตัวราว 10 รุ่นต่อปีเท่านั้น ผู้บริหารเดลล์ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นเพราะการเปิดตัวของโปรเซสเซอร์จาก 2 ค่ายหลักของโลกคือ Intel และ AMD ซึ่งปกติแล้วจำนวนรุ่นของเซิร์ฟเวอร์มักจะแบ่งออกตามโรดแมปของโปรเซสเซอร์ ดังนั้น การจะประเมินว่าปีหน้าจำนวนรุ่นเซิร์ฟเวอร์ของเดลล์จะยังคงมีเกิน 1 โหลหรือไม่ ก็จะต้องดูการเปิดตัวโปรเซสเซอร์ ว่า ค่ายหลักจะเปิดรุ่นใหม่ออกมาใกล้เคียงกันพอดีแบบปีนี้อีกหรือเปล่า

ความน่าสนใจคือ 17 รุ่นเซิร์ฟเวอร์ใหม่นี้ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่ของเดลล์ ในช่วงเวลาที่เดลล์มองว่าองค์กรธุรกิจทั่วโลกจำเป็นต้องมองหาซื้อเซิร์ฟเวอร์มาวิเคราะห์และจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าข้อมูลจะถูกเก็บที่ใดก็ตาม โดยในล็อตนี้ รุ่นที่เป็น AMD ซึ่งประกอบด้วย 6 รุ่นจะถูกวางจำหน่ายในเวฟแรก ที่เหลืออีก 11 รุ่นเป็น Intel ที่ถูกรวมเป็นเน็กซ์เจนเซิร์ฟเวอร์ซึ่งจะพร้อมวางตลาดในเวฟ 2 และ 3 ต่อไป เบื้องต้น เดลล์แบ่งรับแบ่งสู้ว่าทุกเวฟสำคัญเท่ากันหมด เพราะเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิป AMD และ Intel มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการใช้งานด้านไหน

เดลล์ตั้งความหวังไว้กับความต้องการของผู้ใช้ในตลาดเซิร์ฟเวอร์ปีนี้สูงมาก ผู้บริหารบอกว่าการมาของ 5G ข้อมูลมหาศาลและเอดจ์คอมพิวติ้ง (Edge) จะทำให้องค์กรต้องการใช้เซิร์ฟเวอร์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสสูงที่ตลาดเซิร์ฟเวอร์จะขยายตัวแบบเห็นภาพชัดขึ้นอีกในปีนี้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีความต้องการใช้เซิร์ฟเวอร์เติบโตรวดเร็วมาก

***เดลล์รักทุกคน

ในฐานะผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์อันดับ 1 ของโลก Michael Dell ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเดลล์ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซีอาร์เอ็น (CRN) ว่า ขอให้ลูกค้าทุกคนจงมั่นใจว่า เดลล์กำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีล่าสุดทั้งหมดที่จะช่วยให้เดลล์สามารถจัดหาโซลูชันที่ดีที่สุดให้ลูกค้าได้ ก่อนจะอธิบายว่าแม้ Intel จะเป็น ‘พันธมิตรที่ยอดเยี่ยม’ กับเดลล์ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่เดลล์ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเซิร์ฟเวอร์และพีซี ก็จะใช้โปรเซสเซอร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สุดจากคู่แข่งตลอดกาลของ Intel นั่นก็คือ AMD ในโซลูชันของเดลล์ต่อเนื่องในอนาคต

ส่วนหนึ่งของสินค้าตระกูลเพาเวอร์เอดจ์ (Dell EMC PowerEdge) ที่ถูกปรับยกเครื่องด้วยเซิร์ฟเวอร์ เน็กซ์เจน ใหม่ 17 รุ่น ทำให้ปี 64 กลายเป็นปีที่เดลล์เปิดตัวรุ่นเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ตรงนี้ผู้ก่อตั้งเดลล์พูดถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Intel อย่าง ‘แพท เกลซิงเกอร์’ (Pat Gelsinger) ด้วยว่าเป็น ‘เพื่อนที่ดี’ และไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นไอซ์เลค (Ice Lake) จาก Intel ก็นำเสนอการปรับปรุงที่โดดเด่นในฟีเจอร์ด้านประสิทธิภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยังมีไมโครโปรเซสเซอร์อื่นๆ ที่ทำงานได้โดดเด่นอยู่อีกมาก ทำให้เดลล์เปิดกว้างมุ่งมั่นอ้าแขนรับผู้ผลิตชิปทุกค่ายในวงกว้าง ตั้งแต่ AMD และ Intel ไปจนถึง Nvidia และแม้แต่บริษัทสตาร์ทอัปรายอื่นๆ ที่ผลิตโปรเซสเซอร์ Arm

ตัวอย่างที่เห็นชัดคือในมีนาคมเดือนเดียว AMD ได้เปิดตัวโปรเซสเซอร์สำหรับอุปกรณ์มือถือและเดสก์ท็อป “ไรเซนโปร” (Ryzen Pro 5000) ใหม่ล่าสุด รวมถึงชิปเซิร์ฟเวอร์ EPYC รุ่นที่สามที่เป็นที่นิยมจนแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์ใหม่มากกว่า 100 แพลตฟอร์มขานรับอย่างแข็งขัน ซึ่งไม่เพียงผู้นำตลาดอย่างเดลล์เท่านั้น เอชพี (Hewlett Packard Enterprise) ก็ยินดีจะติดขบวนไปด้วย

ในขณะที่ Intel พยายามฟื้นฟูความเป็นผู้นำด้านประสิทธิภาพชิป คู่กับการตอกย้ำว่า Intel มีโครงสร้างต้นทุนที่เหนือกว่า แต่ก็ไม่มีผลมากนักเพราะเดลล์เดินหน้าทำตลาดเซิร์ฟเวอร์ PowerEdge รุ่นใหม่โดยใช้ประโยชน์จากทั้งโปรเซสเซอร์ Intel และ AMD ขณะเดียวกัน เดลล์ยังเป็นพันธมิตรกับ Nvidia อย่างใกล้ชิดด้วย รวมถึงบริษัทนูเวีย (Nuvia) ซึ่งเป็นบริษัทที่พัฒนาความสามารถเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิป Arm

ในฐานะผู้ให้บริการเซิร์ฟเวอร์อันดับ 1 ของโลก เดลล์ต้องเรียกความมั่นใจว่ากำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีหลายค่าย เพื่อช่วยให้เดลล์สามารถจัดหาโซลูชันที่ดีที่สุดให้ลูกค้าไ
รุ่นเด่นใน 17 เซิร์ฟเวอร์ล่าสุดจากเดลล์คือ Dell EMC PowerEdge XE8545 และ R750xa ที่เดลล์เชื่อว่าจะมอบความสามารถในการเร่งประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับเวิร์กโหลดที่ต้องการใช้ข้อมูลมหาศาล รองรับตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการสิ้นสุดการใช้งาน ระบบการรักษาความปลอดภัยและนวัตกรรมเพื่อความยืดหยุ่นบนไซเบอร์ (cyber-resilient innovation) ที่ได้รับการเสริมประสิทธิภาพจะปกป้องเซิร์ฟเวอร์ไปตลอดอายุการทำงานของตัวเครื่อง บนจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงาน เพิ่มขึ้นถึง 60% เมื่อเทียบกับเซิร์ฟเวอร์รุ่นก่อนหน้านี้

***17 รุ่นไม่หวั่นพิษซัปพลายขาด

เซิร์ฟเวอร์ที่ออกมาใหม่เหล่านี้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ การันตีว่าได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบอัตโนมัติ (autonomous infrastructure) เพื่อมอบประสิทธิภาพทางด้านไอทีที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับการทำงานของ AI และเพื่อจัดการกับความต้องการใช้งานด้านไอทีเพื่อการประมวลผลที่ปลายทาง (edge) ทั้งหมดนี้ผู้บริหารเดลล์ยอมรับว่า แม้เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทจะมีความแตกต่างจากรายอื่นในตลาด รวมถึงมีซัปพลายเชนที่แข็งแกร่ง แต่ภาวะที่หน่วยความจำและพื้นที่เก็บข้อมูลในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้น หรือขาดตลาดก็อาจมีผลกับราคาเซิร์ฟเวอร์ในอนาคตได้

นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ ยืนยันว่า แม้ราคาเซิร์ฟเวอร์ที่อาจจะขึ้นและลงนั้นไม่ได้มีผลกระทบกับเดลล์เจ้าเดียว เพราะทุกรายในตลาดจะอยู่ในภาวะเดียวกันหมด ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งต้องประเมินว่าผู้ผลิตแต่ละรายจะสามารถสั่งและผลิตตามความต้องการ เพื่อรวมบิลให้ลูกค้าได้อย่างไรและเร็วขนาดไหน ซึ่งเฉพาะส่วนของเดลล์นั้นระบุว่ามีทางออกด้านซัปพลายอยู่แล้ว

‘สถานการณ์ธุรกิจเซิร์ฟเวอร์ปีนี้ยังเป็นผลต่อเนื่องจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปีที่แล้วซึ่งโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านไอที จากโปรเจกต์ที่มักใช้เวลาพัฒนาเป็นปี กลับหดเหลือเป็นเวลาหลักเดือน สำหรับภาพใหญ่ องค์กรใหญ่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือทุกเรื่อง ทุกสถานการณ์ที่จะตามมา เนื่องจากโควิด-19 อาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และต้องมีวิกฤตอื่นอีก ดังนั้น ตลาดเซิร์ฟเวอร์จึงมีการเติบโตขึ้นแน่นอน เพราะองค์กรต้องเตรียมลงทุนเพื่อทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบเข้มข้น’

   นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์
อภิชาติ อัศวาดิศยางกูร ผู้อำนวยการฝ่าย Data Center & Computer เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย กล่าวเห็นด้วยกับ ‘นพดล’ ในเรื่องดีมานด์ในตลาดเซิร์ฟเวอร์ โดยอธิบายว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจจำนวนมากต้องพบกับเวิร์กโหลดหรือธุรกรรมใหม่ที่เอดจ์คอมพิวติ้งรุ่นธรรมดารับมือไม่ไหวทั้งที่เคยใช้งานที่สาขาได้ดี ซึ่งขณะนี้หลายธุรกิจพบว่าการใช้เซิร์ฟเวอร์เฉพาะทางที่สาขาอาจจะทำงานได้ดีกว่า

‘อีกส่วนหนึ่งคือ AI ต้องยอมรับว่าดีมานด์ในตลาดปัญญาประดิษฐ์นั้นเติบโตรวดเร็วมาก ในช่วงแรก (เวฟ 1) ตัวชูโรงของไลน์เซิร์ฟเวอร์ของเดลล์คือรุ่น SE 8545 เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ออกแบบมาเพื่อการทำ AI โดยเฉพาะ ปรับปรุงจากรุ่นก่อนหน้านี้ที่สามารถทำงานคล้ายกัน แต่เพิ่มให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในบางจุด ผู้ใช้สามารถเลือกใส่ฮาร์ดดิสก์มากขึ้น มีระบบจ่ายไฟที่ดีขึ้น เพิ่มเมมโมรีได้มากกว่า 1 ความสามารถเหล่านี้ทำให้มีความต้องการใช้เซิร์ฟเวอร์ AMD ในตลาดเพิ่มขึ้น รวมถึงหลายเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาให้รองรับงาน AI ได้ดีขึ้น’

Dell EMC PowerEdge R750xa ส่วนหนึ่งของรุ่นเด่นใน 17 เซิร์ฟเวอร์ล่าสุดจากเดลล์
อภิชาติ อธิบายเพิ่มว่า ในภาพรวมเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิป AMD และ Intel มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าว่าต้องการใช้งานด้านไหน โดยยกตัวอย่างว่าเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ชิปของ AMD ซึ่งมีคอร์จำนวนมาก จะทำให้สามารถปรับใช้กับองค์กรที่ต้องการพัฒนาระบบเดสก์ท็อปเสมือน หรือ Virtual Desktop ทำให้สามารถสร้าง Virtual Machine ได้มาก รองรับการทำงาน work from home ได้ดีโดยช่วยให้ต้นทุนการใช้ไลเซนส์ซอฟต์แวร์นั้นน้อยลงด้วย

***AI คึกคัก

สำหรับประเทศไทย องค์กร 3 ลำดับแรกที่มีการปรับใช้ AI มากที่สุดในความเห็นส่วนตัวของผู้บริหาร คือ กลุ่มฟินเทค หรือผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงิน ซึ่งต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ดีที่สุดด้วยข้อมูล จุดนี้มีทั้งองค์กรใหญ่ที่ต้องตั้งทีมนักพัฒนา AI ขึ้นมาโดยเฉพาะ และมีทั้งองค์กรที่เป็นสตาร์ทอัปแล้วใช้ระบบคลาวด์ โดยไม่เพียงฟินเทค แต่การเติบโตยังอยู่ในกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา บริษัทโทรคมนาคม และการเงินการธนาคาร

โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนที่ล่าช้าในช่วงโควิด-19 อาจส่งผลกับตลาดเซิร์ฟเวอร์ไทยในปีนี้เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ผู้บริหารเดลล์ระบุว่า โครงการรัฐนั้นแต่เดิมวางแผนเป็นรายปีหรือ 3 ปี เอกชนนั้นมีการวางแผนเร็วกว่านั้นอาจจะอย่างมากที่สุดคือ 2 ปี ดังนั้น จึงอาจไม่ได้เห็นความเชื่อมโยงกัน

ภานในเซิร์ฟเวอร์ที่ปรับแต่งได้หมดตามความต้องการ

สามารถนำเซิร์ฟเวอร์มาวางซ้อนกัน
ที่สุดแล้ว เดิมพันครั้งนี้ของเดลล์เกิดขึ้นบน 4 วิสัยทัศน์หลักเพื่อให้แข่งขันได้ดีในตลาดเซิร์ฟเวอร์ปีนี้ ทั้ง 17 รุ่นถูกออกแบบมาเพื่อรองรับข้อมูลมหาศาลในยุค 5G ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนารุ่นสำหรับการทำงาน AI และแมทชีนเลิร์นนิ่งโดยเฉพาะ แถมยังรองรับ Cloud Native App ให้แอปพลิเคชันที่พัฒนาแบบคอนเทนเนอร์สามารถโยกไปมาบนอุปกรณ์ได้ครบทั้งโทรศัพท์มือถือและ PC ซึ่งจะมีความต้องการเซิร์ฟเวอร์มากขึ้น และสุดท้ายคือเรื่องซิเคียวริตี ความปลอดภัยที่เดลล์ให้ความสำคัญมาตลอด

"กลุ่มเป้าหมายของ 17 รุ่นเซิร์ฟเวอร์ที่เดลล์วางไว้ในปีนี้คือทุกตลาด ทั้งเอสเอ็มอีขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งหมดออกแบบเพื่อให้ภายในสามารถปรับเปลี่ยนได้หมด ฮาร์ดดิสก์มีหลากหลายประเภททุกราคา ขณะที่องค์กรที่มีความต้องการเฉพาะด้านก็สามารถเลือกเทคโนโลยีไปใช้งานได้เลย"
กำลังโหลดความคิดเห็น