xs
xsm
sm
md
lg

EDL-Gen จีบภาคเอกชนร่วมพัฒนาโรงไฟฟ้า ดันเป้ากำลังผลิตเพิ่มแตะ 2,435 MW ในปี 72

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ผลิต-ไฟฟ้าลาว” เปิดแผนยุทธศาสตร์หนุน สปป.ลาวเป็นผู้นำผลิตพลังงานสะอาดเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่อาเซียน โดยเปิดกว้างให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมลงทุน ตั้งเป้าปี 2572 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 2,435 เมกะวัตต์ จากสิ้นปี 63 มีกำลังการผลิตรวม 1,949 เมกะวัตต์

นายดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ใน สปป.ลาว เปิดเผยว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของ EDL-Gen ในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มั่นคงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของ สปป.ลาว โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ในประเทศมาผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำที่มีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ และไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Energy) ของโลก ทำให้ สปป.ลาวเป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ สปป.ลาวเตรียมจัดตั้งบริษัทสายส่งแห่งชาติเพื่อพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้าในประเทศ พร้อมสนับสนุนผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในอาเซียน (Asean Power Grid) เพื่อให้เกิดการร่วมกันจัดสรรและใช้ทรัพยากรพลังงานให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าที่สุด ที่ผ่านมาระบบสายส่งของลาวยังอ่อนแอ ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนในประเทศลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงบางช่วง เนื่องจากติดปัญหาด้านสายส่ง 


นายวันแสง วันนะวง รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EDL-Gen กล่าวว่า แนวทางพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำต่อจากนี้ บริษัทฯ มีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อดึงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ จากเดิมที่ EDL-Gen เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการเองทั้งหมด โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2572 EDL-Gen จะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,435 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นโครงการที่ EDL-Gen ลงทุนและพัฒนาโครงการเอง รวม 18 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 974 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการร่วมทุนกับ IPP จำนวน 24 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้นรวม 1,461 เมกะวัตต์ ช่วยผลักดันการดำเนินงานของ EDL-Gen ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

ทั้งนี้ EDL-Gen มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 1,949 เมกะวัตต์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 1,683 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของ 100% จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 699 เมกะวัตต์ และโครงการร่วมภาคเอกชน (IPP) จำนวน 16 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้น 984 เมกะวัตต์

โดยไทยเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของ EDL-Gen ที่มีสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Gen สูงถึง 42% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด

ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ในปี 2563 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าจะมีการล็อกดาวน์ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 63 แต่เป็นช่วงฤดูร้อน ทำให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2563 ลาวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทำให้บริษัทฯ มีรายได้เติบโตขึ้น เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่ขายไฟฟ้าภายในประเทศราว 40%

สำหรับกรณีที่รัฐบาลลาวลดสัดส่วนการถือหุ้นใน EDL-Gen ลงจากเดิม 75% เหลือเพียง 51% โดยให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นแทนนั้น เพื่อให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และบริษัทยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่เนื่องจากรัฐถือหุ้นใหญ่เกิน 50%

นายวันแสงกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้สกุลบาทเพื่อใช้ในการรีไฟแนนซ์หนี้ที่ครบกำหนดชำระด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการจัดหาเงินทุนเพื่อสร้างการเติบโต โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.6 เท่า ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำอยู่ และมีศักยภาพที่จะก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศด้วย

นายสุเทพ เลิศศรีมงคล อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว และนักวิชาการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) กล่าวว่า สปป.ลาวมีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2573 สปป.ลาวจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 21,000 เมกะวัตต์ จากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศที่คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ในระยะยาว เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา และมีป่าไม้จำนวนมากทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีแม่น้ำหลายสายนำมาพัฒนาโครงการได้
รวมถึงนโยบายของภาครัฐยังเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระร่วมลงทุน จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทภาคเอกชนไทยเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยไฟฟ้าที่ สปป.ลาวส่งออกส่วนใหญ่ป้อนให้ไทย และมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้เวียดนามเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 พันเมกะวัตต์เป็น 8 พันเมกะวัตต์ รวมทั้งป้อนให้กัมพูชา และเมียนมาด้วย

ขณะที่ประเทศไทยซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเป็นจำนวนมาก โดยจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) ประเทศไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวได้อีก 3,000 เมกะวัตต์ และจะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ อีก 500 เมกะวัตต์
กำลังโหลดความคิดเห็น