xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนพร้อมแล้ว ถก “บิ๊กตู่” พรุ่งนี้เร่งฉีดวัคซีนป้อง ศก.สูญแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ประธาน ส.อ.ท.เผยภาคเอกชนภายใต้ “กกร.” พร้อมหารือนายกฯ พรุ่งนี้ (28 เม.ย.) หลังตกผลึกแผนจัดหา กระจายวัคซีนโควิด-19 พร้อมเสิร์ฟนายกฯ เคาะแล้ว หวังจะเป็นปัจจัยช่วยให้ ศก.ไทยไม่เสียหายไปมากกว่านี้ ชี้ยิ่งยืดเยื้อยิ่งกระทบ คาดความเสียหายเดือนละ 1 แสนล้านบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันที่ 28 เม.ย.นี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งกระจายการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เร็ว โดยเอกชนพร้อมร่วมมือทั้งการนำเข้าวัคซีนเพิ่มเติม สถานที่การฉีด อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากการระบาดโควิด-19 รอบใหม่มีแนวโน้มการติดเชื้อที่มากกว่าทุกรอบหากยืดเยื้อจะกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยประเมินมูลค่าเสียหายเดือนละประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น หากรัฐสามารถฉีดวัคซีนได้ 20-30 ล้านโดสภายใน มิ.ย.นี้ก็จะลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประเภทภาคบริการ การท่องเที่ยวมากสุด แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมที่อิงการส่งออกเป็นหลักยังคงเติบโตและมีแนวโน้มว่าการส่งออกเม.ย.จะโตต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวทั้งจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน แต่ภาคอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศยังได้รับผลกระทบ ดังนั้น การฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติได้เร็วเท่าใดก็จะลดผลกระทบความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นด้วยกับรัฐที่ได้ล็อกดาวน์บางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง และบางธุรกิจ ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบของรัฐที่ผ่านมาดีอยู่แล้วแต่ไม่ต้องการให้เป็นลักษณะการนำน้ำไปรดใส่ทราย ต้องการให้ทรายเป็นดินรดแล้วต้นไม้ขึ้น


“การประชุม กกร.ก่อนหน้านี้เราเห็นปัญหาคล้ายๆ กัน จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด ได้แก่ ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน, ทีมการสื่อสาร, ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม และทีมเทคโนโลยีและระบบ และ ส.อ.ท.เองได้หารือร่วมสภาหอฯ เมื่อ 23 เม.ย.เบื้องต้น และให้คณะทำงานแต่ละฝ่ายกลับไปทำเพิ่มเติมแล้วมาเสนอนายกฯ อีกครั้ง โดยสถานที่กระจายวัคซีน ส.อ.ท.ได้ติดต่อนิคมอุตสาหกรรมทั้งรัฐและเอกชนไว้แล้วไม่ต้องให้คนงานในนิคมฯ เดินทางไปไหน หลายๆ โรงงานจะมีพยาบาลอยู่แล้ว และยังมีเอกชนอื่นเสนอตัวเข้ามาที่พร้อมจะสนับสนุนแต่ก็ต้องรอให้นายกฯ เคาะกรอบ” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุพันธุ์กล่าวว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. 64 ซึ่งทำการสำรวจระหว่าง 5 มี.ค.-9 เม.ย.ที่ยังไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกขนาดอุตสาหกรรมและทุกภูมิภาค ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังจะกลับมาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ครั้งถัดไปจะมีการแถลงดัชนีฯ ให้เร็วขึ้นโดยไม่รอตัวเลขยานยนต์เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น