xs
xsm
sm
md
lg

“บีทีเอส” ชน “กทม.” ฟ้องทวงหนี้สายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้าน ชี้หมดเวลาอดทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บีทีเอสลั่นเดินหน้ายื่นศาลปกครองฟ้อง กทม.ใช้หนี้ค่าเดินรถและค่าระบบสายสีเขียวกว่า 3 หมื่นล้าน เผยแบกภาระต่อไม่ไหว ยันไม่ใช่เงื่อนไขต่อสัมปทาน ติง “คมนาคม” ข้อมูลไม่ครบจึงคิดค่าโดยสารคลาดเคลื่อน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารข้อมูลเพื่อเตรียมยื่นศาลปกครองฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม. กรณีติดค้างหนี้วงเงินกว่า 31,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชำระตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560-มี.ค. 2564 รวมเป็นเงินจำนวน 10,903 ล้านบาท และค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณจำนวน 20,768 ล้านบาท

โดยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมามีการประชุมสภา กทม. ซึ่งไม่อนุมัติให้ กทม.ชำระหนี้กับบริษัทฯเพราะ กทม.มีภาระทางการเงินมากอยู่แล้ว โดยได้และเสนอแนะทางออกให้ กทม.ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือให้ กทม.เข้าร่วมลงทุนกับบริษัทฯตามแนวทางคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทั้งนี้ หาก กทม.ยังไม่ดำเนินการใดๆ จนถึงปี 2572 ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะทำให้ภาระหนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 72 แบ่งเป็นหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายพร้อมดอกเบี้ย 60,000 ล้านบาท หนี้ค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ 20,000 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 8-9 ปี อีก 10,000 ล้านบาท 

“บริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) มีผู้ถือหุ้นกว่า 101,700 ราย เรามีเจ้าหนี้ ดังนั้น จึงมีหน้าที่ในฐานะเจ้าหนี้ กทม.จึงต้องใช้สิทธิทวงหนี้ตามสัญญา และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นที่มีรายย่อยอยู่เป็นจำนวนมากด้วย ที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการแก้ปัญหา โดยไม่มีความประสงค์จะนำเรื่องที่ กทม.ติดค้างหนี้มาเป็นเงื่อนไขต่อรองแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ กทม.จึงมีการเจรจาให้บริษัทฯ แทนการเรียกชำระหนี้จากรัฐ ซึ่งผลการเจรจาสัญญาผ่านการตรวจจากอันการสูงสุด และผ่านการอภิปรายแล้ว 2 ครั้งขณะนี้อยู่ในขั้นตอน เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน” นายสุรพงษ์กล่าว

@ติงคมนาคมคิดตัวเลขต้นทุนค่าโดยสารไม่ครบ

สำหรับกรณีที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้ปรับค่าโดยสารมาที่ 50 บาท ส่วนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอที่ราคา 25 บาทนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ค่าโดยสารจะกำหนดเท่าใดเป็นไปได้หมดแต่อยู่ที่ว่าจะทำวิธีการใด ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ากระทรวงคมนาคมไม่นำค่าใช้จ่ายปัจจุบันจนถึงปี 2572 ก่อนสัมปทานเดิมจะหมดมาคิด ซึ่งมีประมาณ 90,000 ล้านบาท และสมมติฐานจำนวนผู้โดยสาร 1.1 ล้านคน/วัน แต่ตัวเลขจริงมีผู้โดยสารไม่ถึง 8 แสนคน/วัน (ก่อนเกิดโควิด) ต่างกันถึง 30% ทำให้การคาดการณ์รายได้คลาดเคลื่อน และค่าใช้จ่ายน้อยกว่าความเป็นจริง

ส่วนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่าจะมีกำไร 23,000 ล้านบาทนั้น พบว่าใช้ตัวเลขปี 2572-2585 ไม่ได้ใช้ข้อมูลปัจจุบันไปถึงปี 2572 ทำให้เห็นว่ามีกำไร ซึ่งข้อเท็จจริงอัตราค่าโดยสารปัจจุบันของสายหลักและส่วนต่อขยาย 1 รวมสูงสุดที่ 59 บาท ยังมีผลขาดทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี

สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทลงทุนเอง 100% สัมปทานจะหมดปี 2572 ส่วนที่ 2 (ต่อขยาย 1) ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่ง กทม.เป็นผู้ลงทุน โดยจ้างบีทีเอสเดินรถ และส่วนที่ 3 (ต่อขยาย 2) ช่วงแบริ่ง-เคหะ สมุทรปราการ และหมอชิต-คูคต ซึ่ง กทม.รับโอนมาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งในการศึกษามีค่าโดยสารตลอดทั้ง 3 ส่วนสูงสุด 158 บาท แต่ทาง กทม.และรัฐบาลเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะจ่ายในอัตราดังกล่าว จึงได้มีการเจรจากับบริษัท และปรับเพดานค่าโดยสารเหลือไม่เกิน 65 บาท 
 
ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวลดลงเกือบ 70% ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่มีการระบาดโควิด-19 ระลอกแรกเมื่อ เม.ย. 2563 ซึ่งบริษัทฯ พยายามปรับการให้บริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์บริษัทฯ ยืนยันในการให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพเท่าที่จะทำได้ โดยมีการเพิ่มความถี่ในการเดินรถเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่าง และมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิ และทำความสะอาดตามมาตรการสาธารณสุข

ส่วนกรณีที่จะจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำเงินมาลดภาระหนี้ค้างชำระกับ กทม.นั้น การจัดตั้งกองทุนฯ เป็นไปไม่ได้ แต่กองทุนจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลไป 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2564-2572 ซึ่งคงไม่มีใครเข้ามาลงทุน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี
กำลังโหลดความคิดเห็น